ตั้งครรภ์ช่วงครึ่งหลังกับภาวะแทรกซ้อนที่ต้องระวัง

คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อาจพบภาวะแทรกซ้อนได้ในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีอายุครรภ์มากไปจนถึงใกล้คลอด โดยปัญหาที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ ทารกในครรภ์ หรืออาจกระทบต่อสุขภาพของทั้งคู่ได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่ตั้งครรภ์ช่วงครึ่งหลังจึงควรดูแลสุขภาพให้ดีและเฝ้าระวังการเกิดปัญหาสุขภาพ ดังต่อไปนี้

ตั้งครรภ์(ภาวะแทรกซ้อนระยะหลัง)

ครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เพราะทำให้คุณแม่มีความดันโลหิตสูงตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป และมีโปรตีนในปัสสาวะ มักเกิดขึ้นหลังสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์ หรือจนกระทั่งช่วงหลังทารกคลอดออกมาได้ไม่นาน ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้มีเกล็ดเลือดต่ำและเอ็นไซม์ตับผิดปกติร่วมด้วยหากมีเลือดไปเลี้ยงรกไม่เพียงพอ จนทำให้คุณแม่มีความดันสูงขึ้นมากจนเกิดครรภ์เป็นพิษได้ ซึ่งภาวะนี้อาจเป็นผลมาจากรกพัฒนาไม่สมบูรณ์ตั้งแต่ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์ตอนที่ยังเป็นวัยรุ่นหรือมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก หรือมีทารกในครรภ์มากกว่า 1 คน รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคไตก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษได้มากขึ้น ดังนั้น หากพบว่ามีอาการบวมที่มือและเท้า ปวดศีรษะแม้รับประทานยาแล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น สายตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจน และปวดท้องอย่างรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เนื่องจากอาจกำลังเผชิญภาวะครรภ์เป็นพิษ และอาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่รุนแรงหรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอต่อการควบคุมระดับน้ำตาลให้เป็นปกติในขณะตั้งครรภ์ หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะส่งผลให้คุณแม่กระหายน้ำมาก ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย เมื่อยล้า คลื่นไส้ สายตาพร่ามัว รวมถึงเกิดการติดเชื้อที่ช่องคลอด กระเพาะปัสสาวะ และผิวหนังได้บ่อยครั้ง ซึ่งผู้ที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์สูง ได้แก่ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือเคยคลอดทารกที่มีน้ำหนักตัวแรกเกิดมากกว่า 4 กิโลกรัมมาก่อน เป็นต้น แม้จะเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นชั่วคราว แต่ก็อาจทำให้มีน้ำคร่ำมาก คลอดก่อนกำหนด ทารกตัวใหญ่กว่าปกติจนคลอดยากหรืออาจต้องรับการผ่าคลอด ทารกตัวเหลืองซึ่งจำเป็นต้องอยู่รักษาที่โรงพยาบาล และยังทำให้คุณแม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ในอนาคตได้อีกด้วย

น้ำเดินก่อนกำหนด โดยปกติแล้วน้ำเดินจะเป็นสัญญาณเตือนก่อนการคลอดไม่นาน แต่หากน้ำเดินก่อนกำหนดหรือก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ อาจทำให้รกลอกตัวก่อนกำหนด เกิดปัญหากับสายสะดือ เกิดการติดเชื้อทั้งคุณแม่และทารก และอาจทำให้ต้องคลอดก่อนกำหนด ซึ่งผู้ที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดน้ำเดินก่อนกำหนด ได้แก่ ผู้ที่เคยน้ำเดินก่อนกำหนดในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน เกิดการติดเชื้อในครรภ์ มีเลือดออกทางช่องคลอดในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์ สูบบุหรี่หรือใช้สารเสพติด มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์และได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ หรือมีปากมดลูกสั้น เป็นต้น

ลูกดิ้นน้อย แม้ไม่มีเกณฑ์แน่ชัดที่บอกได้ว่าทารกในครรภ์ดิ้นมากน้อยเท่าไรจึงเรียกว่าปกติ แต่คุณแม่ควรสังเกตและนับจำนวนการดิ้นของลูกด้วยตนเอง โดยทั่วไปแล้วทารกจะดิ้นหรือเตะประมาณ 10 ครั้งหรือมากกว่านั้นใน 2 ชั่วโมง หากเด็กดิ้นน้อยกว่านั้นโดยเฉพาะในช่วงหลังสัปดาห์ที่ 24 ของการตั้งครรภ์ อาจเป็นสัญญาณอันตรายว่าทารกอาจเสียชีวิตในครรภ์ได้ ซึ่งมักเกิดจากความผิดปกติของรกหรือหลอดเลือดจนทำให้ทารกในครรภ์ได้รับสารอาหารและออกซิเจนไม่เพียงพอ แต่ก็อาจเป็นผลมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ปัญหาสุขภาพของตัวคุณแม่เองอย่างครรภ์เป็นพิษ โรคเบาหวาน หรือโรคอ้วน ปัญหาของสายสะดือ เกิดการติดเชื้อ รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่อย่างหนักในระหว่างตั้งครรภ์ด้วย

รกเกาะต่ำ เป็นภาวะที่รกเกาะตัวบริเวณใกล้ปากมดลูก และอาจปิดขวางหรือปกคลุมปากมดลูก ซึ่งเกิดขึ้นได้ในช่วงระหว่างปลายไตรมาสที่ 2 ถึงต้นไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ โดยอาจเป็นผลมาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ตำแหน่งของทารกในครรภ์ที่ผิดปกติ มีแผลที่ผนังมดลูก มีทารกในครรภ์มากกว่า 1 คน ตั้งครรภ์เป็นครั้งที่ 2 ขึ้นไป มดลูกมีขนาดใหญ่หรือมีรูปร่างผิดปกติ คุณแม่ตั้งครรภ์ขณะมีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป หรือมีพฤติกรรมสูบบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งภาวะนี้อาจทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอดและมักไม่มีความเจ็บปวดใด ๆ แต่เมื่อเลือดหยุดไหลแล้วอาจกลับมาไหลอีกในช่วง 2-3 วันหรือในช่วงสัปดาห์ต่อมา โดยบางรายอาจมีอาการปวด เจ็บแปลบ หรือมีการบีบตัวของมดลูกร่วมด้วย ในบางครั้งก็อาจส่งผลให้คลอดก่อนกำหนดและต้องผ่าคลอดแบบฉุกเฉินได้ อีกทั้งรกที่ฉีกขาดอาจทำให้มีเลือดออกมาก ซึ่งอาจส่งผลให้ผิวซีด หายใจหอบ ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรอ่อนหรือเต้นเร็วกว่าปกติ และหากไม่นำส่งโรงพยาบาลให้ทันเวลา อาจทำให้ผู้ป่วยเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

รกลอกตัวก่อนกำหนด มักเกิิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะช่วงเวลาก่อนคลอดประมาณ 2-3 สัปดาห์ โดยปกติรกจะทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารให้ทารก ซึ่งรกจะลอกตัวออกจากมดลูกหลังคลอด แต่หากรกลอกตัวก่อนกำหนดจะทำให้คุณแม่มีอาการปวดท้องมาก แน่นท้อง ปวดหลัง มดลูกบีบตัว และบางรายอาจมีเลือดออกมากทางช่องคลอด ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะช็อก ไตวาย หรืออวัยวะอื่น ๆ ทำงานล้มเหลวจากการเสียเลือดมาก ทั้งยังอาจทำให้ทารกได้รับออกซิเจนและสารอาหารไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารก จนอาจทำให้ทารกต้องคลอดก่อนกำหนดหรืออาจเสียชีวิตในครรภ์ได้

คลอดก่อนกำหนด เกิดขึ้นเมื่อมดลูกบีบตัวจนทำให้ปากมดลูกเปิดในช่วงก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งตามปกติจะครบกำหนดคลอดเมื่อตั้งครรภ์ถึงสัปดาห์ที่ 37-40 แต่คุณแม่บางรายอาจพบสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด เช่น มดลูกบีบตัวทุก ๆ 10 นาที หรือมีความถี่มากกว่านั้น มีอาการปวดหลังช่วงล่างหรือบริเวณเอว ซึ่งอาจแสดงอาการอย่างต่อเนื่องหรือเป็นแล้วหายแม้จะเปลี่ยนอิริยาบถแล้วก็ตาม มีอาการปวดเกร็งบริเวณท้องช่วงล่าง มีของเหลวไหลออกมาจากช่องคลอดหรือน้ำคร่ำแตก รู้สึกได้ถึงความดันที่เพิ่มขึ้นบริเวณเชิงกราน หรือมีเลือดออกจากช่องคลอด เป็นต้น ทั้งนี้ ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมักจะเจริญเติบโตน้อยกว่าทารกที่คลอดตามกำหนด และอาจเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ง่าย เช่น บกพร่องทางการเรียนรู้ บกพร่องทางสติปัญญา เป็นโรคสมองพิการ ปอดมีปัญหา สูญเสียการมองเห็นหรือการได้ยิน เป็นต้น

ตั้งครรภ์เกินกำหนด โดยตั้งครรภ์เป็นเวลาตั้งแต่ 42 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งผู้ที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 41 เป็นต้นไปจะเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์เกินกำหนด ซึ่งอาจทำให้คุณแม่เสี่ยงเกิดการติดเชื้อ คลอดยากหรือบางรายอาจต้องผ่าคลอด มีเลือดออกมากหลังคลอด และอาจส่งผลกระทบต่อทารกได้ เช่น ทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลง ปริมาณน้ำคร่ำลดลงซึ่งอาจทำให้พื้นที่ในมดลูกมีขนาดเล็กลง และอาจเกิดปัญหาหลังคลอดอย่างทารกแรกเกิดมีไขมันใต้ผิวหนังและมวลเนื้อเยื่อน้อยกว่าปกติ มีิผิวหนังแห้ง เหี่ยวย่น หรือเป็นสะเก็ด เล็บมือเล็บเท้าเหลืองและยาวกว่าปกติ เป็นต้น แม้ทารกส่วนใหญ่ที่คลอดหลังกำหนดมักมีสุขภาพแข็งแรงปกติดี แต่บางรายก็อาจเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์หรือเสียชีวิตหลังคลอดได้เช่นกัน