ตัวร้อนแต่ไม่มีไข้ เรียนรู้สาเหตุและวิธีรับมืออย่างเหมาะสม

ตัวร้อนแต่ไม่มีไข้ เป็นภาวะที่ร่างกายรู้สึกร้อน คล้ายกับอาการเมื่อเป็นไข้แต่ไม่มีไข้ร่วมด้วย หรือสำหรับผู้ที่มีอุปกรณ์สำหรับวัดอุณหภูมิร่างกาย จะพบว่าค่าอุณหภูมิที่วัดได้จะไม่เกิน 37 องศาเซลเซียส โดยอาการตัวร้อนไม่มีไข้อาจไม่ได้บ่งบอกถึงปัญหาใด ๆ หากเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่หากอาการไม่ดีขึ้นก็อาจเป็นสัญญาณของโรคบางชนิดได้เช่นกัน

อาการตัวร้อนถือเป็นอาการสำคัญอย่างหนึ่งที่มักพบได้ในผู้ป่วยที่เป็นไข้ อย่างไรก็ตาม ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่บางครั้งอาการตัวร้อนในลักษณะคล้ายเป็นไข้อาจจะเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ซึ่งก็มีทั้งสาเหตุที่ไม่รุนแรง อย่างอาการตัวร้อนหลังรับประทานอาหารรสจัด ไปจนถึงสาเหตุที่ควรได้รับการตรวจจากแพทย์ อย่างภาวะเบาหวาน โรคทางต่อมไทรอยด์ และโรคอื่น ๆ 

ตัวร้อนแต่ไม่มีไข้

สาเหตุที่อาจเป็นไปได้เมื่อตัวร้อนแต่ไม่มีไข้

ในบางครั้งอาการตัวร้อนแต่ไม่มีไข้อาจจะเกิดขึ้นจากสาเหตุชั่วคราว อย่างความเครียด ความวิตกกังวล ความรู้สึกกระวนกระวาย ภาวะเมาค้าง การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมาก ๆ การรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ด การออกกำลังกาย โดยเฉพาะการออกกำลังกายในสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูง หรือการดื่มเครื่องดื่มหรือรับประทานอาหารที่ร้อนจัด

อย่างไรก็ตาม ก็มีบางครั้งเช่นกันที่อาการตัวร้อนแต่ไม่มีไข้อาจจะเกิดขึ้นจากโรคหรือภาวะผิดปกติบางชนิดได้ โดยตัวอย่างที่อาจเป็นไปได้ก็เช่น

1. ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroid)

ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากเกินไป จนส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการผิดปกติตามมา ซึ่งรวมถึงอาการไวต่อความร้อนที่อาจทำให้ผู้ที่ป่วยรู้สึกตัวร้อนแต่ไม่มีไข้ได้

นอกจากนี้ อาการอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยภาวะนี้อาจพบได้ร่วมด้วยก็เช่น น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ หัวใจเต้นเร็ว รู้สึกวิตกกังวล อุจจาระบ่อย อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ มือสั่น ผมร่วง ผมแตกหักง่าย และประจำเดือนไม่มาในผู้หญิง

2. ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroid)

ภาวะขาดไทรอยด์ เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาน้อยผิดปกติ จนส่งผลให้ระบบการเผาผลาญของร่างกายทำงานช้าลงได้

โดยกลุ่มอาการที่ผู้ป่วยภาวะนี้มักพบบ่อย ๆ ก็เช่น หนาวสั่น อ่อนเพลีย มือชาหรือรู้สึกคล้ายเข็มทิ่ม ท้องผูก น้ำหนักตัวเพิ่มโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดตามร่างกาย เซื่องซึม ผิวแห้ง เสียงทุ้มลง และประจำเดือนมามากผิดปกติในผู้หญิง

3. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia)

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงผิดปกติจนส่งผลกระทบต่อกระบวนการทำงานของร่างกาย โดยภาวะนี้อาจพบได้มากในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องใช้อินซูลิน (Insulin) หรือฮอร์โมนที่มีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย แต่ผู้ที่ใช้อาจจะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้หากใช้ไม่ถูกวิธี

นอกจากนี้ในบางครั้ง ภาวะนี้ก็อาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน เช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก การผ่าตัดลดความอ้วน และภาวะต่อมหมวกไตบกพร่อง (Adrenal Insufficiency)

ผู้ป่วยภาวะนี้มักจะพบอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ ได้แก่ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ผิวเย็นลง อ่อนเพลีย ใจสั่น เหงื่อออกมากผิดปกติ หนาวสั่นคล้ายจะเป็นไข้ อยากอาหารมากผิดปกติ และนอนไม่หลับ

4. วัยทอง

วัยทอง เป็นภาวะที่ผู้หญิงเริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน หรือประมาณหลังอายุ 51 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้ไม่ใช่โรคผิดปกติทางร่างกาย แต่จะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเป็นปกติตามวัยที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิง

ส่วนด้านอาการ ผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่ช่วยวัยทองมักจะเกิดอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ ได้แก่ รู้สึกร้อนวูบวาบภายในร่างกาย มีเหงื่อออกตอนกลางคืน ช่องคลอดแห้ง ปวดปัสสาวะบ่อย นอนไม่หลับ ผิวแห้ง ปากแห้ง อารมณ์แปรปรวน และเจ็บเต้านม

5. ทางเดินปัสสาวะอักเสบ

ภาวะทางเดินปัสสาวะอักเสบ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการที่ระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งประกอบไปด้วยท่อปัสสาวะ ไต และกระเพาะปัสสาวะ เกิดการติดเชื้อและอักเสบตามมา โดยในบางครั้ง การอักเสบจากภาวะนี้ก็อาจจะส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเกิดอาการครั่นเนื้อครั่นตัว หนาวสั่น ตัวร้อนคล้ายจะมีไข้แต่ไม่มีไข้ได้เช่นกัน

ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ก็เช่น เจ็บขณะปัสสาวะ ปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะส่งกลิ่นเหม็นผิดปกติ และปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน

6. เบาหวาน

เบาหวาน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการที่ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติจากการที่ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินออกมาไม่เพียงพอ หยุดผลิต หรือผลิตออกมาแต่ร่างกายไม่ตอบสนองอย่างที่ควรจะเป็น 

โดยผู้ป่วยภาวะนี้บางคนอาจจะสังเกตพบอาการตัวร้อนแต่ไม่มีไข้ได้จากการที่ภาวะเบาหวานส่งผลให้ต่อมเหงื่อที่จะคอยผลิตเหงื่อเพื่อควบคุมอุณหภูมิของร่างกายทำงานผิดปกติไป หรือในบางคนก็อาจเสี่ยงเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ ซึ่งก็เป็นอีกสาเหตุของอาการตัวร้อนแต่ไม่มีไข้ได้ จากการใช้อินซูลินที่ผิดวิธีไป

ส่วนอาการอื่นที่อาจพบได้จากภาวะเบาหวานก็เช่น หิวน้ำบ่อย มองเห็นภาพเบลอ มือและเท้าชาหรือรู้สึกคล้ายมีเข็มทิ่ม และแผลต่าง ๆ หายช้าลง

7. โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)

โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง เป็นโรคที่เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติไป โดยการไปทำลายปลอกประสาทที่คอยปกคลุมเส้นประสาทบริเวณสมองและไขสันหลัง จนส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเกิดอาการผิดปกติตามมา

โดยนอกจากอาการตัวร้อนแต่ไม่มีไข้ที่อาจเกิดขึ้นได้แล้ว ผู้ป่วยโรคนี้อาจจะพบอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ได้แก่ มองเห็นภาพเบลอ กล้ามเนื้อเกิดการเกร็งตัว อ่อนเพลีย ทรงตัวลำบาก รู้สึกชาหรือคล้ายเข็มทิ่มตามร่างกาย และควบคุมปัสสาวะและอุจจาระลำบาก

วิธีจัดการกับอาการตัวร้อนแต่ไม่มีไข้

ผู้ที่มีอาการตัวร้อนแต่ไม่มีไข้อาจจะลองนำวิธีดังต่อไปนี้ไปปรับใช้ เพื่อช่วยบรรเทาอาการด้วยตัวเองในเบื้องต้น ได้แก่

  • พยายามหลีกเลี่ยงการออกไปข้างนอกในช่วงที่อากาศร้อนจัด และพยายามทำให้สถานที่พักอากาศเย็นสบาย เช่น เปิดพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศ ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องไปทำกิจกรรมในที่ที่ร้อนมากก็ควรพยายามหลบในร่มเงาหรืออยู่ภายในอาคาร เพื่อป้องกันตัวเองจากความร้อน
  • เลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นร่างกายจนเกินไป มีเนื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และหลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าหลายชั้น
  • หมั่นดื่มน้ำบ่อย ๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ แต่ให้หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือคาเฟอีน เนื่องจากส่วนผสมเหล่านี้ในเครื่องดื่มอาจจะยิ่งส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำมากขึ้นได้
  • หยายามหลีกเลี่ยง หรือลดปริมาณการรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ด หรืออาหารที่ร้อนจัด
  • พยายามควบคุมความเครียด เนื่องจากการที่ร่างกายเกิดความเครียดอาจยิ่งส่งผลให้ร่างกายรู้สึกร้อนมากยิ่งขึ้นได้

ทั้งนี้ วิธีเหล่านี้เป็นเพียงวิธีสำหรับดูแลตัวเองในเบื้องต้นจากอาการตัวร้อนแต่ไม่มีไข้เท่านั้น ผู้ที่มีอาการนี้ยังคงควรหมั่นสังเกตอาการต่าง ๆ ของตนเองอยู่เสมอ และไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม หากเห็นว่าอาการไม่ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เนื่องจากในบางครั้งอาการนี้ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคบางอย่างได้