ตะไคร้ สรรพคุณ ประโยชน์ กับบทพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์

ตะไคร้ เป็นพืชสมุนไพรท้องถิ่นในประเทศแถบเอเชียเขตร้อน มีลักษณะคล้ายหญ้าและมีใบสูงยาวส่งกลิ่นเฉพาะตัว นอกจากนำมาใช้ประกอบอาหาร ปรุงแต่งกลิ่นในอาหาร และทำเครื่องดื่มแล้ว ตะไคร้ยังถูกนำไปใช้ในหลากสาขา เช่น อุตสาหกรรมสบู่ เครื่องสำอาง การบำบัดด้วยกลิ่น หรือการสกัดเป็นยารักษา โดยมีความเชื่อว่าสารเคมีในตะไคร้ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ อาจสามารถช่วยป้องกันการเติบโตของแบคทีเรียกับยีสต์ได้ ช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวดและลดไข้ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในระหว่างมีประจำเดือน และเป็นส่วนผสมในสารที่ช่วยไล่ยุงได้ เป็นต้น

ตะไคร้

แม้จะเป็นพืชสมุนไพรที่ได้รับความนิยมในการบริโภคและประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์เกี่ยวกับประสิทธิผลของตะไคร้แท้จริงแล้วยังคงมีอย่างจำกัด และไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในเชิงการแพทย์ โดยบางงานวิจัยก็ได้ตรวจสอบสมมติฐานถึงผลของตะไคร้ต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ ดังนี้

ระงับกลิ่นปากที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

กลิ่นปากเป็นปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่งซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งจากการรับประทานอาหาร การสูบบุหรี่ การไม่รักษาสุขอนามัยภายในช่องปาก การติดเชื้อภายในช่องปาก ตลอดจนการใช้ยารักษาบางชนิด ผู้ที่มีกลิ่นปากอาจสูญเสียความมั่นใจและเกิดความวิตกกังวลจนอาจต้องไปปรึกษาแพทย์ เพื่อหาวิธีรักษาและระงับกลิ่นปาก

ตะไคร้เป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว จึงมีการค้นคว้าที่นำตะไคร้มาเป็นส่วนหนึ่งในการทดลองใช้สารสกัดจากตะไคร้ผลิตน้ำยาบ้วนปาก โดยมีผู้อาสาเข้าร่วมการทดลองจำนวน 20 ราย ผลการทดลองพบว่า น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของตะไคร้มีประสิทธิผลต่อการยับยั้งแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดกลิ่นปากบางชนิดได้ คือ แบคทีเรียกลุ่มแอกทิโนไมซีเทมคอมิแทนส์ (Aggregatibacter Actinomycetemcomitans) และ พอร์ฟิโรโมแนส จินจิวาลิส (Porphyromonas Gingivalis) แต่มีประสิทธิผลต่ำต่อการต้านเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตค็อกคัส (Streptococcus Mutans)

โดยรวมแล้ว น้ำยาบ้วนปากจากตะไคร้สามารถช่วยลดกลิ่นปากลงได้และพบว่ามีความปลอดภัยจากการใช้งานในกลุ่มผู้ถูกทดลอง แม้ยังคงต้องมีการปรับปรุงกลิ่นฉุนและรสชาติจากตะไคร้เพิ่มเติมต่อไป อย่างไรก็ตาม งานทดลองนี้เป็นงานทดลองขนาดเล็ก จึงควรมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมในด้านนี้ต่อไป เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์จากตะไคร้ในการระงับกลิ่นปากได้ในอนาคต

ยับยั้งเชื้อราในช่องปาก

โดยปกติ ในช่องปากของคนเรามีแบคทีเรียและเชื้อราบางชนิดอาศัยอยู่ หากมีเชื้อจุลชีพเหล่านี้ในจำนวนที่ไม่เป็นอันตราย จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพช่องปากแต่อย่างใด แต่ปัญหาเชื้อราในช่องปาก เกิดจากการมีเชื้อราแคนดิดาอัลบิแคนส์ (Candida Albicans) ในช่องปากเป็นจำนวนมาก และเชื้อเหล่านี้มีการเจริญเติบโตจนเกินกว่าภูมิคุ้มกันของร่างกายจะควบคุมได้ จึงเป็นที่มาของอาการต่าง ๆ เช่น มีคราบหรือปื้นสีขาวตามลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม ต่อมทอนซิล สร้างความเจ็บปวด หรือกลืนอาหารลำบาก เป็นต้น

แม้ตะไคร้อาจมีผลต่อการยับยั้งควบคุมแบคทีเรียในช่งปากบางชนิด แต่สำหรับจุลชีพที่เป็นเชื้อรานั้น มีงานทดลองหนึ่งที่ทำการทดลองในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีที่มีเชื้อราในช่องปากจำนวน 90 ราย โดยแบ่งกลุ่มทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม และให้แต่ละกลุ่มรับการรักษาด้วยยาม่วงหรือเจนเชียนไวโอเล็ต น้ำมะนาว และตะไคร้เป็นระยะเวลา 11 วัน ผลการทดลองพบว่า น้ำมะนาวมีประสิทธิผลทางการรักษาเชื้อราในช่องปากที่ดีกว่ายาม่วง ส่วนยาม่วงและน้ำตะไคร้ต่างก็มีผลช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นได้เช่นกันเมื่อเทียบกับก่อนรับการทดลอง อย่างไรก็ตาม ประสิทธิผลของตะไคร้ในการรักษาเชื้อราในช่องปากยังไม่ปรากฏเป็นที่ชัดเจน และการวิจัยนี้ทำการทดลองในกลุ่มผู้ป่วยเอชไอวีจำนวนหนึ่งเท่านั้น จึงควรมีการค้นคว้าในด้านนี้ต่อไป

ป้องกันยุงและตัวริ้น

ยุง เป็นสัตว์ดูดเลือดและพาหะนำโรคติดต่อจากคนสู่คน หรือจากสัตว์เลือดอุ่นมาสู่คนได้ เช่น ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย ไข้เหลือง ไข้สมองอักเสบ ไวรัสซิกา เป็นต้น ส่วนตัวริ้นนั้น เป็นแมลงดูดเลือดขนาดเล็กเช่นเดียวกับยุง ซึ่งสร้างความรำคาญและนำโรคมาสู่คนได้เช่นเดียวกัน

มีการทดลองประสิทธิภาพของตะไคร้ด้วยการทาโลชั่นที่มีส่วนผสมของน้ำมันตะไคร้ลงบนแขนของผู้อาสาสมัครทดลอง แล้วให้ผู้ทดลองอยู่ในบริเวณที่มีตัวริ้นชนิด Culicoides Pachymerus อยู่อย่างชุกชุม โดยทดลองซ้ำ ๆ 10 ครั้ง เพื่อทดสอบประสิทธิผลทางการป้องกันภายใน 3-6 ชั่วโมง ผลการทดลองพบว่า โลชั่นที่มีส่วนผสมของตะไคร้มีประสิทธิผลทางการป้องกันตัวริ้นชนิดนี้ได้สูงสุดถึงประมาณ 5 ชั่วโมง

ส่วนการทดลองถึงประสิทธิภาพของตะไคร้ในการป้องกันยุงก้นปล่องสายพันธุ์ Anopheles Arabiensis ในอาสาสมัครทดลองเพศชาย 3 คน พบว่ายากันยุงที่มีส่วนผสมของตะไคร้มีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงได้ยาวนานที่ประมาณ 3 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม งานทดลองเหล่านี้เป็นการทดลองขนาดเล็ก แม้ในปัจจุบันจะมีการนำตะไคร้มาเป็นส่วนหนึ่งในผลิตภัณฑ์ป้องกันยุง แต่ก็ควรมีการศึกษาค้นคว้าถึงประสิทธิผลในด้านนี้ต่อไป เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้มาปรับประยุกต์ใช้เสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวัน

กำจัดรังแค

รังแค เป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดกับหนังศีรษะ มีอาการ คือ หนังศีรษะลอกแตกออกเป็นแผ่นผิวหนังแห้ง และก่อให้เกิดอาการคัน แม้ไม่ได้นำไปสู่อาการป่วยที่เป็นอันตราย แต่รังแคก็เป็นปัญหารังควานใจ สร้างความวิตกกังวล และสูญเสียความมั่นใจได้ไม่น้อย

ในปัจจุบัน มีแชมพูยาและวิธีการรักษารังแคอย่างหลากหลาย แต่มีงานทดลองหนึ่งในไทยที่นำเอาน้ำมันสกัดจากตะไคร้มาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์น้ำมันบำรุงเส้นผมแต่งกลิ่น 5, 10 และ 15% โดยมีอาสาสมัครทดลองเป็นคนไทยในวัย 20-60 ปี จำนวน 30 คน ผลการทดลองพบว่า ผลิตภัณฑ์น้ำมันบำรุงเส้นผมแต่งกลิ่นตะไคร้มีประสิทธิผลต่อการลดปริมาณรังแคลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของตะไคร้ 10%

อย่างไรก็ดี งานทดลองนี้เป็นการทดลองขนาดเล็กในกลุ่มประชากรจำนวนหนึ่งเท่านั้น จึงควรมีการศึกษาค้นคว้าถึงคุณประโยชน์ของตะไคร้ต่อการรักษากำจัดรังแคเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้ ผู้บริโภคควรระมัดระวังในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์รักษารังแคทั้งที่เป็นตัวยาหรือที่มีส่วนผสมของสมุนไพรใด ๆ โดยปรึกษาแพทย์และเภสัชกร รวมทั้งศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ให้ดีก่อนการใช้งานเสมอ

รักษาโรคเกลื้อน

เกลื้อน เป็นการติดเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) บริเวณผิวหนัง โดยปกติ บริเวณผิวหนังของคนเราจะมีเชื้อราชนิดนี้อาศัยอยู่อยู่แล้ว แต่การติดเชื้ออาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลทำให้เชื้อราเกิดการลุกลาม เช่น อากาศร้อนและชื้น ผิวมัน มีเหงื่อออกมากเกินไป ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เป็นต้น ทำให้ปรากฏอาการเป็นผิวหนังเป็นจุดดวงที่มีสีอ่อนหรือเข้มกว่าผิวหนังปกติ มักเกิดขึ้นบริเวณแผ่นหลังหรือหน้าอก

เนื่องจากมีสมมติฐานที่ว่าตะไคร้อาจมีประสิทธิภาพในทางการรักษาป้องกันการติดเชื้อจุลชีพได้ จึงมีงานทดลองหนึ่งเกิดขึ้นเพื่อพิสูจน์ประสิทธิผลในเรื่องนี้ โดยให้ผู้ป่วยโรคเกลื้อนรักษาด้วยการทาน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากตะไคร้เปรียบเทียบกับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะคีโตโคนาโซล โดยแบ่งการทดลองเป็น 2 ระยะ ระยะแรกมีผู้ป่วยเข้ารับการทดลอง 20 ราย และมีผู้ป่วยเข้ารับการทดลอง 47 รายในระยะที่ 2 โดยใช้เวลาในการรักษาเป็นเวลาทั้งสิ้น 40 วัน

ผลการทดลองพบว่า น้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากตะไคร้มีอัตราการรักษาผู้ป่วยโรคเกลื้อนอยู่ที่ประมาณ 60% ในขณะที่ตัวยาคีโตโคนาโซลมีประสิทธิผลทางการรักษาสูงกว่า คือ อยู่ที่ 80%

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์เกี่ยวกับประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อจุลชีพและความปลอดภัยในการใช้ตะไคร้ในด้านต่าง ๆ ยังคงมีจำกัด และยังคงต้องการการศึกษาค้นคว้าต่อไป เพื่อประโยชน์สูงสุดทางการแพทย์และสุขภาพของคนทั่วไปในอนาคต

ผลกระทบต่อการทำงานของไต

ไต คือ อวัยวะภายในที่สำคัญอย่างหนึ่ง มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วแดงสองข้าง ทำหน้าที่กรองเลือดและของเสียออกจากร่างกายในรูปของเหลวออกมาเป็นปัสสาวะ และช่วยปรับสมดุลของแร่ธาตุต่าง ๆ ภายในร่างกาย

งานทดลองหนึ่งถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อหาประสิทธิผลของตะไคร้ต่อการทำงานของไตในผู้ทดลองเพศชาย 55 คน และเพศหญิงอีก 50 คน ด้วยการให้ผู้ทดลองดื่มชาที่ทำจากใบตะไคร้เป็นเวลา 30 วัน แล้วตรวจวัดผลด้วยการประเมินอัตราการกรองของไตและอัตราการกำจัดของเสียออกจากไต

ผลการทดลองพบว่า กลุ่มทดลองมีผลการประเมินอัตราการกรองของไต และอัตราการกำจัดของเสียออกจากไตลดลง ซึ่งแสดงถึงผลกระทบที่ทำให้การทำงานของไตแย่ลง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของสารสกัดตะไคร้ที่ใส่ในชาและระยะเวลาที่ผู้ทดลองได้รับสารด้วย โดยผลลัพธ์ดังกล่าวอาจเป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโรคไตต่อไป อย่างไรก็ตาม หลักฐานการทดลองยังคงไม่ได้รับการพิสูจน์อย่างละเอียดแน่ชัด จึงควรมีการศึกษาค้นคว้าประสิทธิผลของตะไคร้ในด้านดังกล่าวเพิ่มเติมต่อไป

ตะไคร้ มีประโยชน์ต่อสุขภาพจริงหรือไม่

แม้จะมีการค้นคว้าทดลองมากมายเกี่ยวกับประสิทธิผลของตะไคร้ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อสุขภาพ แต่ในปัจจุบันก็ยังคงไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์อย่างเพียงพอที่จะสามารถยืนยันประสิทธิภาพทางการรักษาหรือคุณประโยชน์ต่อสุขภาพของตะไคร้ในแต่ละด้านได้อย่างชัดเจน ดังนั้น การศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์เกี่ยวกับตะไคร้จึงควรดำเนินต่อไป ทั้งในกลุ่มตัวอย่างที่มีจำนวนมากขึ้นและมีความหลากหลายทางประชากรมากขึ้น

ดังนั้น ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่มากพอ ผู้บริโภคตะไคร้หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากตะไคร้จึงควรใส่ใจในขั้นตอนและปริมาณในการบริโภค เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ

ความปลอดภัยในการบริโภคตะไคร้

ข้อมูลด้านการบริโภคสำหรับคนทั่วไป

  • การบริโภคตะไคร้น่าจะปลอดภัย หากบริโภคในปริมาณที่ใช้ประกอบอาหารทั่วไป
  • การบริโภคตะไคร้หรือการใช้ตะไคร้ทาบนผิวหนังเพื่อจุดประสงค์ทางการรักษา อาจจะปลอดภัยหากใช้ตะไคร้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ภายใต้การดูแลและคำแนะนำจากแพทย์
  • การสูดดมสารที่มีส่วนประกอบของตะไคร้ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายและเป็นพิษต่อร่างกายได้ในผู้ป่วยบางราย เช่น ผู้มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพปอด
  • การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากตะไคร้อย่างประมาทหรือผิดวิธี อาจนำไปสู่การเกิดภาวะพิษที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น การกลืนยากันยุงที่ผลิตจากตะไคร้

ข้อควรระวังสำหรับผู้ที่มีปัจจัยทางสุขภาพ

  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคตะไคร้ เนื่องจากตะไคร้อาจกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในการเกิดประจำเดือน ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแท้งได้
  • ผู้ที่กำลังให้นมบุตร ในปัจจุบันยังคงไม่มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับความปลอดภัยจากการบริโภคตะไคร้ในระหว่างที่ให้นมบุตร ผู้ที่กำลังให้นมบุตรจึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคตะไคร้ เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพทั้งต่อตนเองและทารกที่อาจได้รับสารต่าง ๆ ผ่านทางน้ำนมด้วย
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการบริโภคตะไคร้ หรืออาหารใด ๆ ก่อนเสมอ ว่าอาจส่งผลต่ออาการป่วยของตนหรือไม่

ปริมาณในการบริโภคตะไคร้

ทุกวันนี้ยังคงขาดหลักฐานสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์ที่จะสามารถระบุปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภคตะไคร้ได้ อย่างไรก็ตาม แม้ตะไคร้จะเป็นพืชสมุนไพรตามธรรมชาติ แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าการบริโภคตะไคร้จะส่งผลดีต่อสุขภาพหรือมีความปลอดภัยเสมอไป ผู้บริโภคจึงควรระมัดระวังในการบริโภค เช่น

  • บริโภคตะไคร้ในปริมาณและวิธีการที่เหมาะสมตามปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับตนเอง เช่น อายุ สภาพร่างกาย และปัญหาสุขภาพของผู้บริโภค
  • ปรึกษาแพทย์ เภสัชกร และศึกษาข้อมูลบนฉลากให้ถี่ถ้วนก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่มีสารสกัดมาจากตะไคร้ก่อนเสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหลังการบริโภค