ชาเขียวกับประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ

ชาเขียว เป็นเครื่องดื่มที่ผลิตจากการนำใบอ่อนของต้นชามาผ่านความร้อนและกรรมวิธีเพื่อผลิตเป็นน้ำชาเขียว ในชาเขียวมีสารเคมีมากมายที่อาจเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระอย่างโพลีฟีนอล (Polyphenols) ที่เชื่อว่าอาจช่วยป้องกันกระบวนการอักเสบบวม ปกป้องกระดูกอ่อน ลดการเสื่อมของข้อต่อ รวมทั้งอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) และอาจช่วยลดอัตราการเติบโตของเซลล์เนื้อเยื่อที่ผิดปกติในมดลูกได้

ชาเขียว

สารสำคัญอีกตัวหนึ่งในชาเขียวคือ คาเฟอีน เป็นสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท ระบบหัวใจและกล้ามเนื้อ การบริโภคเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีสารคาเฟอีน จึงส่งผลต่อการหลั่งสารสื่อประสาทซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่ควบคุมการคิดและการตื่นตัว การบริโภคชาเขียวจึงอาจมีผลต่อร่างกายได้ในหลายด้าน

ส่วนสำคัญของชาที่ถูกนำมาแปรรูปคือ ส่วนที่เป็นใบชา ยอดอ่อนใบชา และลำต้น นอกจากชาเขียวในรูปแบบเครื่องดื่มหรืออาหารแล้ว ก็ยังมีการผลิตชาเขียวในรูปสารสกัดด้วย โดยองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับรองการใช้สารสกัดชาเขียวในรูปครีมขี้ผึ้ง เพื่อใช้รักษาในผู้ป่วยหูดหงอนไก่ด้วย

แม้มีแนวคิดมากมายเกี่ยวกับประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพของชาเขียว แต่ในแง่ของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ หลายคนอาจสงสัยว่าสมมติฐานดังกล่าวมีโอกาสเป็นไปได้จริงหรือไม่

คุณประโยชน์ที่อาจเป็นไปได้

ความดันโลหิตสูง

มีงานค้นคว้าที่ศึกษากลุ่มตัวอย่างชาวจีนเกี่ยวกับการดื่มชาเขียวที่มีประสิทธิผลต่อภาวะความดันโลหิตสูงพบว่าผู้ที่ดื่มชาเขียวเป็นประจำทุกวันในปริมาณ 120-599 มิลลิลิตร อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้ โดยการวิเคราะห์งานวิจัยแสดงผลลัพธ์ที่ว่า ชาเขียวอาจสามารถลดระดับความดันซิสโตลิกได้สูงสุดถึง 3.2 มิลลิเมตรปรอท ในขณะที่ช่วยลดระดับความดันไดแอสโตลิกได้สูงสุดถึง 3.4 มิลลิเมตรปรอท ทั้งในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง และผู้ที่มีสุขภาพดีทั่วไป

อย่างไรก็ตาม มีงานทดลองขนาดเล็กจำนวนมากที่สรุปว่าชาเขียวไม่มีความสัมพันธ์กับการลดระดับความดันโลหิตแต่อย่างใด ดังนั้น จึงควรมีการศึกษาค้นคว้าในด้านนี้ต่อไป เพื่อหาหลักฐานและข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ต่อไปในอนาคต

โรคกระดูกพรุน

มีงานวิจัยหนึ่งที่ทำการทดลองเกี่ยวกับประสิทธิผลของการบริโภคชาเขียว ได้นำเสนอผลลัพธ์ที่ว่า การดื่มชาเขียวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี อาจสัมพันธ์กับการเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก ซึ่งเป็นประโยชน์ในทางป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน

ในขณะที่อีกงานวิจัยหนึ่งซึ่งทำการทดลองในกลุ่มตัวอย่างเพศหญิงวัยหมดประจำเดือน พบว่าการบริโภคชาเขียวที่มีสารต้านอนุมูลอิสระคาเทชินปริมาณ 500 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 24 สัปดาห์ อาจช่วยเพิ่มความแข็งแรงแก่กระดูกได้

แม้จะมีหลักฐานทางการวิจัยมากมายที่สนับสนุนประสิทธิผลของชาเขียวในด้านนี้ การค้นคว้าทดลองถึงประสิทธิภาพและคุณประโยชน์ของชาเขียวก็ควรดำเนินต่อไป เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น

สมมติฐานที่ยังพิสูจน์ไม่ได้

การป้องกันการเกิดมะเร็ง

เมื่อวิเคราะห์รายงานการวิจัยที่มีกลุ่มคนกว่า 1.6 ล้านคน พบว่าไม่มีหลักฐานที่สนับสนุนแนวคิดที่ว่า การบริโภคชาเขียวมีประสิทธิภาพในการต้านหรือป้องกันการเกิดมะเร็งบางชนิด อย่างมะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด หรือมะเร็งในช่องปากได้แต่อย่างใด ข้อพิสูจน์ถึงประสิทธิผลในด้านนี้ยังคงคลุมเครือไม่ชัดเจนและควรมีการค้นคว้าต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ดี งานวิจัยส่วนใหญ่แสดงถึงความปลอดภัยในการบริโภคชาเขียวที่ว่า หากบริโภคชาเขียวในปริมาณที่พอดีจะไม่ทำให้เกิดอันตรายใด ๆ แก่ผู้บริโภค

กระบวนการเผาผลาญเปลี่ยนแปลงสาร (Oxidative Metabolism)

มีงานทดลองหนึ่งที่ศึกษาสภาวะเครียดจากการเปลี่ยนแปลงสารในร่างกายของกลุ่มคนสุขภาพดีในขณะพักผ่อนและออกกำลังกาย พบว่าการบริโภคสารสกัดชาเขียวเป็นผลดีต่อกระบวนการเผาผลาญพลังงานในร่างกายประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสารในเซลล์ผ่านทางกลไก แคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส (Catechol-O-methyltransferase Mechanism) ทั้งในขณะที่ร่างกายพักผ่อนและขณะที่กำลังออกกำลังกาย

กล่าวคือ สารคาเทชินในชาเขียว อาจมีประโยชน์ในการเผาผลาญพลังงานทั้งในตอนที่ร่างกายอยู่ในขณะพักผ่อนและในขณะการออกกำลังกายได้ อย่างไรก็ตาม สมมติฐานนี้ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่เพียงพอ ควรมีการดำเนินการค้นคว้าวิจัยต่อไปเพื่อหาข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนในด้านนี้ในอนาคต

ต่อต้านการเกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น

งานค้นคว้าเกี่ยวกับการใช้สารสกัดจากชาเขียวโดยการทาเฉพาะจุดที่อาจมีประสิทธิภาพต่อต้านการเกิดริ้วรอยบนผิวหนัง ผลลัพธ์ที่ได้ คือ การทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระในชาเขียวอาจมีคุณสมบัติที่ช่วยต้านทานการเกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นได้

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ยังคงขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือเพียงพอจะสนับสนุนข้อสรุปดังกล่าว จึงควรมีการดำเนินการค้นคว้าวิจัยเพื่อหาข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนในด้านนี้ต่อไปในอนาคตเช่นกัน

การควบคุมน้ำหนักตัว

งานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิผลของการรับประทานอาหารเสริมชาเขียวในระยะยาวในกลุ่มผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีภาวะอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกิน พบว่าสารสกัดจากชาเขียวที่สกัดเอาคาเฟอีนออกไปไม่มีผลต่อการลดความอ้วน หรือค่าความหนาแน่นของกระดูก แต่สารสกัดจากชาเขียวอาจส่งผลต่อการลดสัดส่วนไขมันที่สะโพกและต้นขาในผู้หญิงได้

ส่วนอีกหนึ่งการทดลองที่ให้ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีภาวะอ้วนและน้ำหนักเกินบริโภคชาเขียวดีแคฟ พบว่าสารสกัดจากชาเขียวแบบดีแคฟไม่มีความสัมพันธ์กับการลดน้ำหนักตัว ดัชนีมวลกาย หรือความยาวของเส้นรอบเอวแต่อย่างใด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่มีนัยสำคัญที่แตกต่างกันในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมที่รับประทานยาหลอก ในขณะที่ชาเขียวในรูปสารสกัดทั่วไปอาจช่วยลดความเข้มข้นของอินซูลินที่อาจสัมพันธ์กับการลดน้ำตาลในเลือดและลดน้ำหนักตัว

แต่จากการวิเคราะห์งานวิจัยที่เกี่ยวข้องในหลาย ๆ กรณีศึกษา พบว่าชาเขียวอาจส่งผลต่อการควบคุมน้ำหนักตัวได้น้อยมากและไม่มีนัยสำคัญที่มีผลทางการแพทย์แต่อย่างใด และในปัจจุบันก็ยังคงไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จากงานทดลองใด ๆ ที่สนับสนุนประสิทธิผลทางด้านนี้ได้อย่างชัดเจน ดังนั้น จึงควรมีการศึกษาค้นคว้าถึงประสิทธิผลในด้านนี้ต่อไปในอนาคต

การป้องกันการติดไข้หวัดใหญ่

ในการทดลองหาประสิทธิผลของชาเขียวในน้ำยาบ้วนปาก ในด้านการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งทำการทดลองในนักเรียนระดับชั้นมัธยมปลาย ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่มีการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ ผลการทดลองพบว่า เมื่อเปรียบเทียบนักเรียนในกลุ่มตัวอย่างที่ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของชาเขียวกับนักเรียนในกลุ่มควบคุมที่ใช้น้ำเปล่าบ้วนปากนั้น ไม่พบประสิทธิผลที่สำคัญในเชิงการป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด จึงควรมีการทดลองค้นคว้าต่อไป ด้วยการควบคุมตัวแปรที่เกี่ยวข้องอย่างวิธีการบ้วนปาก เป็นต้น เพื่อหาประสิทธิผลที่อาจเป็นประโยชน์ของชาเขียวในด้านนี้

การอักเสบของผิวหนังจากรังสีอัลตร้าไวโอเลต

การทดลองหาประสิทธิผลของสารคาเทชิน (Catechins) ในด้านการป้องกันการอักเสบบริเวณผิวหนังจากการรับรังสีอัลตร้าไวโอเลต ด้วยการให้กลุ่มทดลองซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีในวัย 18-65 ปี รับประทานสารคาเทชินจากชาเขียวร่วมกับวิตามินซี ผลการทดลองพบว่า สารคาเทชินในชาเขียวที่บริโภคร่วมกับวิตามินซี ไม่ได้มีผลอย่างมีนัยสำคัญในการช่วยลดการเกิดผื่นแดง การสะสมของเม็ดเลือดขาวที่ผิวหนังซึ่งแสดงถึงการอักเสบ หรือปฏิกิริยาของสารเอโคซานอยด์ (Eicosanoids) ที่บ่งบอกถึงการอักเสบจากการรับรังสีอัลตร้าไวโอเลต

อาการไอและมีเสียงแหบ

จากการทดลองหาประสิทธิผลของน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของชาเขียวต่อภาวะอาการไอ และภาวะมีเสียงแหบในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 4 ครั้ง ใน 1 วัน ผลลัพธ์คือ ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในผู้ทดลองทั้งกลุ่มตัวอย่างและกลุ่มควบคุมในด้านการลดภาวะอาการเสียงแหบหลังการใส่ท่อช่วยหายใจ  แต่ในด้านการลดอาการไอหลังการใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้ทดลองในกลุ่มตัวอย่างมีการไอน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้บ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของชาเขียว

แม้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในด้านประสิทธิภาพของชาเขียวต่อการรักษาดูแลสุขภาพบางประการ แต่ยังคงมีหลักฐานจากการทดลองบางส่วนที่ไม่แน่ชัดหรือขัดแย้งกัน ดังนั้น การดำเนินการทดลองค้นคว้าหาประสิทธิผลในด้านต่าง ๆ ของชาเขียวต่อไปจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อหาหลักฐานที่ชัดเจนอันเป็นประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพของผู้คนต่อไปในอนาคต

ความปลอดภัยในการบริโภคชาเขียว

ผู้บริโภคทั่วไป

  • สำหรับผู้บริโภคที่เป็นผู้ใหญ่ทั่วไป การบริโภคชาเขียวสำหรับดื่มในปริมาณที่พอดี จะไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายใด ๆ ต่อสุขภาพ โดยปริมาณชาเขียวที่เหมาะสมในการบริโภคต่อวัน คือ ไม่เกิน 2-3 ถ้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการรับสารคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกายไม่ให้เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน เพราะอาจเกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ หากบริโภคเกินปริมาณดังกล่าว
  • โดยทั่วไป การทาครีมขี้ผึ้งชาเขียวในระยะเวลาสั้น ๆ การใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของชาเขียว หรือการบริโภคสารสกัดชาเขียวในปริมาณที่เหมาะสม จะไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายใด ๆ ต่อสุขภาพ หากใช้ติดต่อกันไม่เกิน 2 ปี
  • การบริโภคหรือใช้ผลิตภัณฑ์จากชาเขียวทางปากในปริมาณมากหรือในระยะยาว อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากสารคาเฟอีนได้ ตั้งแต่ระดับความรุนแรงเล็กน้อยไปจนถึงระดับรุนแรงมากในบางราย เช่น ปวดหัว กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ  อาเจียน ท้องไส้ปั่นป่วน ท้องผูก ท้องร่วง หงุดหงิดง่าย ใจเต้นแรง มือสั่น แสบร้อนกลางอก เวียนหัว มีเสียงในหู กล้ามเนื้อเกร็งหรือกระตุก หรือรู้สึกสับสน เป็นต้น
  • การดื่มชาเขียวในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตจากสารคาเฟอีนได้ โดยในชาเขียวทั่วไปมีปริมาณคาเฟอีนประมาณ 2-4% ในขณะที่ระดับสารคาเฟอีนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตอยู่ที่ประมาณ 10-14 กรัม (150-200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) อย่างไรก็ตาม ภาวะเป็นพิษจากการรับสารคาเฟอีนสามารถเกิดขึ้นจากการรับสารในปริมาณดังกล่าว หรือในปริมาณที่น้อยกว่าก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน
  • ชาเขียวอาจลดปริมาณการดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารได้
  • สารสกัดชาเขียวอาจเป็นอันตรายต่อตับได้

ผู้ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

เด็ก: โดยทั่วไป หากเด็กบริโภคชาเขียวในปริมาณที่เหมาะสมจากการรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม หรือหากใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของชาเขียว 3 ครั้งต่อวัน โดยไม่ใช้ติดต่อกันเกิน 3 เดือน จะไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายใด ๆ ต่อสุขภาพ

ผู้ที่ตั้งครรภ์/ผู้ที่ให้นมบุตร: ควรบริโภคชาเขียวในปริมาณน้อย เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียงจากคาเฟอีนในชาเขียว โดยปริมาณที่เหมาะสม คือ ไม่เกิน 2 ถ้วยต่อวัน หากเกินปริมาณดังกล่าว อาจเพิ่มความเสี่ยงและนำไปสู่ผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ เช่น การแท้งบุตร ภาวะพิการแต่กำเนิด หรือในผู้ที่กำลังให้นมบุตร คาเฟอีนอาจถูกส่งผ่านทางน้ำนมและเป็นอันตรายต่อทารกแรกเกิดได้เช่นเดียวกัน

ผู้ป่วย: เนื่องจากปัจจัยทางสุขภาพ ผู้ที่กำลังป่วยหรือมีโรคประจำตัวควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการบริโภคอาหารประเภทใดก็ตาม รวมทั้งการบริโภคชาเขียวหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากชาเขียวด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการบริโภคชาเขียว และการได้รับสารคาเฟอีน เช่น

  • อาการอาจกำเริบหรือทรุดหนักลงได้ในผู้ป่วยโลหิตจาง และผู้ที่มีภาวะวิตกกังวล
  • เพิ่มความเสี่ยงภาวะมีเลือดออกในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ
  • อาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติในผู้ป่วยโรคหัวใจ
  • อาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • อาจทำให้อาการท้องร่วงทรุดหนักลงไปอีก
  • หลังการบริโภคชาเขียว อาจทำให้ความดันลูกตาในผู้ป่วยโรคต้อหินเพิ่มขึ้นได้ในช่วงเวลาหนึ่ง ประมาณ 30-90 นาที
  • อาจเพิ่มระดับความดันโลหิตในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
  • อาจทำให้อาการในกลุ่มอาการลำไส้แปรปรวนทรุดหนักลง
  • เพิ่มปริมาณแคลเซียมที่ถูกขับออกมาทางปัสสาวะ ทำให้เสี่ยงต่อภาวะขาดแคลเซียม และอาจเสี่ยงต่อภาวะกระดูกบาง เปราะ แตกหักได้ง่าย โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน
  • การบริโภคสารสกัดชาเขียวอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ตับ หรือทำให้ผู้ป่วยโรคตับมีอาการแย่ลง

เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ ผู้บริโภคควรบริโภคชาเขียวหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากชาเขียวในปริมาณที่เหมาะสมเสมอ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการบริโภค ควรสอบถามและปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการบริโภค