ความหมาย หูดหงอนไก่
หูดหงอนไก่ (Condyloma Acuminata, Genital Warts) คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อฮิวแมน แปปิโลมาไวรัส (Human Papillomavirus: HPV) สามารถเกิดได้ทั้งชายและหญิง โดยอาการที่เห็นได้ชัดคือติ่งเนื้อที่มีลักษณะขรุขระ และมักขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก ไม่มีอาการเจ็บและไม่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ
อาการของหูดหงอนไก่
อาการของหูดหงอนไก่ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือติ่งเนื้อลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำที่บริเวณอวัยวะเพศหรือที่ทวารหนัก ขนาดของหูดหงอนไก่อาจมีขนาดเล็กจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น หรือมีขนาดใหญ่จนก่อให้เกิดอาการระคายเคืองได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วหูดหงอนไก่จะไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บหรือระคายเคือง เว้นแต่ในบางกรณีหูดหงอนไก่อาจสร้างความเจ็บปวดจนทำให้ต้องทำการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ
สาเหตุของหูดหงอนไก่
หูดหงอนไก่เกิดจากเชื้อฮิวแมน แปปิโลมาไวรัส (Human Papillomavirus: HPV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางเพศสัมพันธ์ หรือกิจกรรมทางเพศอื่น ๆ แต่ไม่สามารถติดต่อกันผ่านการจูบ การกอด หรือการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกันได้ โรคหูดหงอนไก่สามารถติดต่อได้ทั้งชายและหญิง และจะยิ่งเสี่ยงมากขึ้นหากเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ และมีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัย
การวินิจฉัยหูดหงอนไก่
การวินิจฉัยหูดหงอนไก่มักเน้นไปที่การตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี เนื่องจากหากพบว่ามีการติดเชื้อเอชพีวีในร่างกายก็สามารถระบุได้อย่างทันทีว่าหูดที่เกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนักคือหูดหงอนไก่ โดยในการวินิจฉัยเบื้องต้น แพทย์อาจใช้กรดอะซิติกเพื่อทำให้หูดมีสีซีดลง แล้วตรวจด้วยแว่นขยายหรือกล้องเพื่อให้เห็นได้ชัดเจน จากนั้นแพทย์จะมีการสั่งตรวจด้วยวิธีแปปสเมียร์ ซึ่งจะเก็บตัวอย่างเซลล์ที่บริเวณปากมดลูก หรือบริเวณทวารหนักไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อระบุเชื้อ ไม่เพียงเท่านั้น แพทย์ยังอาจเก็บตัวอย่างเพิ่มเติมเพื่อตรวจหาสายพันธุ์ของเชื้อเอชพีวี และความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง
การรักษาหูดหงอนไก่
หูดหงอนไก่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาโรคหูดหงอนไก่จะทำก็ต่อเมื่อหูดสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วย ซึ่งในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ด้วยการรักษาความสะอาดและพยายามให้บริเวณแผลแห้งอยู่เสมอ อีกทั้งยังควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสที่บริเวณหูดด้วยมือหรือเช็ดด้วยผ้าเพราะจะทำให้เกิดการอักเสบหรือระคายเคืองเพิ่มขึ้น และหลีกเลี่ยงการซื้อยามาใช้เองจะดีที่สุด
ในการรักษาทางการแพทย์ หากขนาดของหูดไม่ใหญ่มากนัก แพทย์จะสั่งยาชนิดทาให้ผู้ป่วยใช้ทาบรรเทาอาการและช่วยให้หูดหงอนไก่หลุดออกไป ทว่าการใช้ยาก็มีผลข้างเคียงหลายอย่าง และอาจทำให้รู้สึกเจ็บที่แผลได้ ดังนั้นจึงควรใช้ยาชนิดและปริมาณที่แพทย์สั่งเท่านั้น
นอกจากนี้ การรักษาด้วยการผ่าตัดยังเป็นการรักษาที่ดีและรวดเร็ว ซึ่งในปัจจุบัน การผ่าตัดที่นิยมใช้ได้แก่ การจี้ด้วยความเย็น การจี้ด้วยไฟฟ้า การผ่าตัดเพื่อตัดหูด และการรักษาด้วยเลเซอร์ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง แต่การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดนี้จะไม่สามารถทำให้หายขาดได้ และอาจต้องรักษาซ้ำจนกว่าจะได้ผลน่าพึงพอใจ
ภาวะแทรกซ้อนหูดหงอนไก่
ภาวะแทรกซ้อนในโรคหูดหงอนไก่ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ คือ การกลับมาเป็นซ้ำ โดยอาจเกิดจากการรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือเกิดจากผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคหูดหงอนไก่ยังอาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้อีกด้วย โดยเฉพาะในเพศหญิง เนื่องจากธรรมชาติของการติดเชื้อไวรัสมักจะติดพร้อมกันหลาย ๆ สายพันธุ์ จึงอาจทำให้ได้รับเชื้อไวรัสเอชพีวีที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้
นอกจากนี้ สำหรับสตรีมีครรภ์ที่ป่วยด้วยโรคหูดหงอนไก่ หูดที่มีขนาดใหญ่อาจทำให้ผนังมดลูกขยายตัวได้ไม่เต็มที่ หรืออาจทำให้เกิดเลือดออกขณะคลอด รวมถึงส่งผลให้ทารกที่เกิดมามีหูดหงอนไก่เกิดขึ้นบริเวณคอจนไปขัดขวางทางเดินหายใจจนต้องทำการผ่าตัดโดยด่วนเพื่อเคลียร์ช่องทางหายใจ
การป้องกันหูดหงอนไก่
การป้องกันหูดหงอนไก่ที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเอชพีวีเข้าสู่ร่างกาย ด้วยการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสเอชพีวีได้ นอกจากนี้ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวี ที่มีชื่อว่าการ์ดาซิล (Gardasil) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้ทั้งโรคหูดหงอนไก่ และโรคมะเร็งปากมดลูก