เตรียมความพร้อมก่อนการบำบัดด้วยความเย็น

การบำบัดด้วยความเย็น (Cryotherapy) เป็นวิธีการรักษาด้วยการใช้ความเย็นติดลบที่อาจมากถึง 195.5 องศาเซลเซียสเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคผิวหนังหลากหลายชนิด โรคมะเร็ง รวมถึงอาจใช้เพื่อรักษารอยโรคที่เสี่ยงกลายเป็นโรคมะเร็งในภายหลังได้

การบำบัดด้วยความเย็นสามารถทำได้หลายแบบ ทั้งการบำบัดด้วยความเย็นเฉพาะจุด และการบำบัดด้วยความเย็นทั่วร่างกาย (Whole–Body Cryotherapy) ซึ่งโดยทั่วไป ผู้ที่รับการบำบัดด้วยวิธีดังกล่าวจำเป็นจะต้องทำซ้ำหลายครั้งเพื่อให้การบำบัดมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ก่อนจะรับการบำบัดด้วยความเย็น เรามาดูกันว่ามีข้อมูลอะไรบ้างที่ควรทราบ

เตรียมความพร้อมก่อนการบำบัดด้วยความเย็น

การบำบัดด้วยความเย็นคืออะไร มีขั้นตอนอะไรบ้าง

การบำบัดด้วยความเย็นแบ่งออกได้เป็น 3 วิธีหลัก ซึ่งจะมีวิธีการแตกต่างกันออกไป ได้แก่ 

1. การบำบัดด้วยความเย็นภายในร่างกาย 

แพทย์จะผ่าตัดแผลขนาดเล็กเพื่อสอดท่อเข้าไปในบริเวณที่ต้องการแช่แข็ง จากนั้นแพทย์จะปล่อยของเหลวจากท่อเข้าไปจี้เนื้อเยื่อในบริเวณที่ต้องการ และภูมิคุ้มกันของร่างกายจะกำจัดสารที่ใช้ไปเองในภายหลัง ทั้งนี้ แพทย์อาจใช้การอัลตราซาวด์ในระหว่างการบำบัดเพื่อให้สามารถจี้เย็นได้อย่างแม่นยำ

2. การบำบัดด้วยความเย็นจากภายนอก 

ในขั้นตอนแรกแพทย์อาจใช้ยาชาเพื่อลดอาการปวดในระหว่างบำบัด จากนั้นแพทย์จะพ่นหรือป้ายไนโตรเจนเหลวลงไปบนผิวหนังบริเวณที่ต้องการ ผู้ที่รับการบำบัดวิธีนี้อาจต้องกลับมาทำซ้ำประมาณ 2–3 ครั้งเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

3. การบำบัดด้วยความเย็นทั่วร่างกาย 

ผู้รับการบำบัดจะสวมแค่หน้ากากอนามัย หมวก ที่ครอบหู ถุงมือ และถุงเท้าเข้าไปในตู้ให้ความเย็นที่จะพ่นไนโตรเจนไปทั่วร่างกาย ใช้เวลาประมาณ 2–4 นาทีต่อครั้ง ผู้ที่รับการบำบัดวิธีนี้อาจต้องกลับมาทำซ้ำประมาณ 5–10 ครั้ง และแต่ละครั้งอาจห่างกันประมาณ 1–2 วัน

ผู้ที่รับการบำบัดด้วยความเย็นควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่กำลังใช้อยู่ เนื่องจากผู้ป่วยอาจต้องหยุดใช้ยาบางชนิดเป็นเวลาประมาณ 2–3 วันก่อนรับการบำบัด และในบางกรณีแพทย์อาจให้ผู้ป่วยจำกัดปริมาณการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มเพื่อความปลอดภัยในการรับการบำบัด

การบำบัดด้วยความเย็นใช้รักษาอะไร

อย่างที่ได้กล่าวไปว่าการบำบัดด้วยความเย็นทำได้หลายวิธี แต่ละวิธีก็จะมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป ดังนี้

การบำบัดความเย็นเฉพาะจุด

จุดประสงค์ของการบำบัดด้วยความเย็นเฉพาะจุด อย่างการพ่นหรือป้ายไนโตรเจนเหลวลงไปบนผิวหนังโดยตรง หรือการผ่าตัดผิวหนังเพื่อสอดท่อเข้าไปปล่อยของเหลว คือการใช้ความเย็นเพื่อกำจัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วหรือเนื้อเยื่อในบริเวณที่มีอาการของโรค

วิธีนี้มักถูกใช้เพื่อรักษาความผิดปกติหรือโรคต่าง ๆ เช่น

  • ติ่งเนื้อหรือหูด
  • รอยจุดด่างดำ
  • ภาวะผิดปกติบนผิวหนังในระยะก่อนมะเร็ง (Precancerous Skin Conditions)
  • ภาวะผิดปกติในบริเวณปากมดลูกระยะก่อนมะเร็ง (Precancerous Cervix Conditions)
  • โรคผิวหนังก่อนเป็นมะเร็งชนิดผื่นแอกทินิกเคอราโทซิส (Actinic Keratosis)
  • โรคมะเร็งผิวหนังระยะแรก และโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็งกระดูก มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับ หรือมะเร็งจอตาในเด็ก (Retinoblastoma)
  • โรคเนื้องอกในระบบประสาทหรือภาวะเส้นประสาทกดทับ 

การบำบัดความเย็นทั่วร่างกาย

การบำบัดด้วยความเย็นทั่วร่างกาย เป็นทางเลือกที่อาจใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล โรคหืด ปวดหัวไมเกรน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) โรคข้ออักเสบ ภาวะสมองเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์ 

อย่างไรก็ตาม การบำบัดความเย็นทั่วร่างกายเพื่อรักษาโรคหรือภาวะผิดปกติในข้างต้นยังคงต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิผลในการรักษา ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหรือมีภาวะผิดปกติในข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์ถึงความปลอดภัยก่อน รวมถึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสมร่วมด้วย

ดูแลตนเองอย่างไรหลังรับการบำบัดด้วยความเย็น

หลังรับการบำบัดด้วยความเย็น ควรดูแลบริเวณที่ถูกความเย็นให้สะอาดอยู่เสมอ ทาผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวติดต่อกันประมาณ 2 สัปดาห์ หากมีเลือดออกให้กดด้วยผ้าก๊อซสะอาดเป็นเวลา 15 นาที หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางหรือสบู่ที่มีส่วนผสมของน้ำหอมจนกว่าผิวจะหายดี 

นอกจากนี้ อาจใช้ยาบรรเทาอาการปวด อย่างยาพาราเซตามอล หรือยากลุ่มเอ็นเสด หรือหากมีรอยบวมหรือแดง อาจใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก (Topical Steroids) เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ

อย่างไรก็ตาม การบำบัดด้วยความเย็นอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อน เช่น เกิดแผลเป็น ชา ระคายเคืองผิว สีผิวเปลี่ยนแปลง ชีพจรเต้นผิดปกติ ผิวเล็บขรุขระ หรือชั้นไขมันใต้ผิวหนังอักเสบ ดังนั้น หากสังเกตเห็นความผิดปกติ หรือมีไข้ หนาวสั่น มีหนอง รอยแดงขยายออกเป็นวงกว้าง หรือใช้ยาแก้ปวดแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม