ชะเอมเทศ สมุนไพรบำรุงผิว รักษาโรค

ชะเอมเทศเป็นสมุนไพรที่อุดมไปด้วยเกลือแร่ และสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพมากมาย จึงมีการใช้ประโยชน์จากชะเอมอย่างหลากหลาย เพราะเชื่อว่าอาจมีสรรพคุณต้านเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยลดน้ำหนัก ช่วยเรื่องความจำ บรรเทาอาการเจ็บคอ ป้องกันรังสี UV และปรับสีให้ผิวขาวขึ้นได้

ชะเอมเทศ

ชะเอมเทศแห้งประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรต น้ำตาลกลูโคส ฟรักโทส และซูโครส สารต้านอนุมูลอิสระฟลาโวนอยด์ รวมถึงสารอื่น ๆ ที่มีคุณประโยชน์มากมาย เช่น สารลิควิริทิน (Liquiritin) และสารกลาบริดิน (Glabridin) ที่อาจมีสรรพคุณช่วยปรับสีผิวให้ดูสว่างขึ้นได้ เห็นได้ว่ามีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว หรือยาอมชนิดต่าง ๆ ตามท้องตลาดที่มักมีส่วนประกอบของชะเอมเทศ ซึ่งแท้จริงแล้วมีข้อพิสูจน์และหลักฐานทางการแพทย์กล่าวถึงคุณประโยชน์ต่าง ๆ ของชะเอมเทศไว้อย่างไรบ้าง ศึกษาได้จากข้อมูล ดังต่อไปนี้

ปรับผิวขาว เนื่องจากในชะเอมเทศมีสารลิควิริทิน และสารกลาบริดินที่อาจเป็นส่วนช่วยในการปรับผิวให้ดูกระจ่างขึ้น หลายคนจึงเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของชะเอมเทศเพื่อหวังสรรพคุณในการปรับผิวขาว โดยมีงานวิจัยบางชิ้นที่ศึกษาด้านนี้เผยว่า สารสกัดดังกล่าวมีผลต่อเม็ดสีเมลานินในร่างกายที่อาจเกี่ยวข้องกับการปรับสีผิวได้

มีงานวิจัยหนึ่งพบว่า สารลิโคชาลโคน เอ (Licochalcone A) ที่สกัดได้จากชะเอมเทศอาจช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ที่เพิ่มปริมาณเม็ดสีเมลานินมากเกินไปจนทำให้ผิวคล้ำได้ ส่วนสารลิควิริทินในชะเอมเทศก็อาจช่วยปรับผิวขาวได้ด้วยการกระจายเม็ดสีเมลานิน

อีกงานวิจัยหนึ่งเผยว่า การทดลองใช้สารสกัดจากชะเอมเทศรักษาฝ้าเกิดผลดีและก่อให้เกิดการระคายเคืองน้อยมาก ส่วนการศึกษาที่ใช้สารกลาบริดินที่สกัดจากชะเอมเทศพบว่า สารนี้อาจมีฤทธิ์ป้องกันผิวคล้ำจากรังสี UVB และอาจช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสที่เป็นสาเหตุทำให้ผิวคล้ำจากเม็ดสีที่มากเกินไปได้เช่นเดียวกับงานวิจัยข้างต้น

แม้การศึกษาบางส่วนแสดงให้เห็นว่า สารสกัดจากชะเอมเทศอาจช่วยปรับสีผิวได้ แต่งานวิจัยเหล่านี้เป็นเพียงการศึกษาในห้องทดลองเท่านั้น จึงควรศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของชะเอมเทศในมนุษย์ให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน ก่อนจะนำผลที่ได้มาปรับใช้ในทางการแพทย์ต่อไป

ลดน้ำหนัก สารต้านอนุมูลอิสระเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการลดน้ำหนักเพราะมีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ หลายคนจึงเลือกบริโภคชะเอมเทศที่มีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างสารฟลาโวนอยด์ ซึ่งอาจมีสรรพคุณในการช่วยลดน้ำหนักได้

มีงานวิจัยหนึ่งให้ผู้ทดลองที่อยู่ในภาวะน้ำหนักเกินจำนวน 84 คน บริโภคน้ำมันฟลาโวนอยด์ที่สกัดจากชะเอมเทศ โดยควบคุมปริมาณเป็น 0, 300, 600 และ 900 กรัม เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าไขมันในร่างกายของผู้ทดลองที่บริโภคน้ำมันสกัดทั้ง 3 กลุ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้บริโภคน้ำมันสกัดจากชะเอมเทศ

แม้ผลการค้นคว้าดังกล่าวจะพบว่าชะเอมเทศอาจมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักได้ แต่มีงานวิจัยที่ศึกษาด้านนี้น้อยมาก และล้วนเป็นเพียงการทดลองขนาดเล็กเท่านั้น จึงอาจต้องค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อยืนยันสมมติฐานด้านดังกล่าวให้ชัดเจนและเป็นประโยชน์ต่อการประยุกต์ใช้ชะเอมเทศเพื่อการลดน้ำหนักต่อไป

ต้านเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากมักกล่าวอ้างถึงส่วนประกอบของชะเอมเทศว่าช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียในช่องปากและป้องกันปัญหาฟันผุ ซึ่งมีงานวิจัยบางชิ้นศึกษาในด้านนี้แล้วพบว่าสารสกัดจากชะเอมเทศอาจช่วยขจัดแบคทีเรียในช่องปากได้

งานวิจัยหนึ่งให้ผู้เข้าร่วมทดลองจำนวน 8 คน อายุโดยเฉลี่ย 85 ปี อมอมยิ้มชะเอมเทศวันละ 2 ไม้ เป็นเวลา 21 วัน พบว่าอมยิ้มชะเอมเทศอาจช่วยลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียในช่องปากชนิดสเตร็ปโตค็อกคัส มิวแทน (Streptococcus Mutan) ที่เป็นสาเหตุของปัญหาฟันผุได้

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาขนาดเล็ก อีกทั้งยังเป็นการทดลองในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น จึงยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าชะเอมเทศมีประสิทธิภาพต้านเชื้อแบคทีเรียในช่องปากจริงหรือมีประสิทธิภาพดีเพียงใด ดังนั้น ควรศึกษาค้นคว้าในด้านนี้เพิ่มเติม โดยศึกษาการใช้ชะเอมเทศรักษาปัญหาช่องปากและฟันผุในระยะยาวในกลุ่มทดลองขนาดใหญ่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการรักษาทางทันตกรรมต่อไป

ช่วยเรื่องความจำ ความเครียดอาจส่งผลต่อความสมรรถนะการทำงานของสมอง จนอาจทำให้มีปัญหาความทรงจำตามมา ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าสารคาร์เบโนโซโลน (Carbenoxolone) ที่พบในชะเอมเทศอาจช่วยป้องกันปัญหาดังกล่าวได้

มีงานวิจัยหนึ่งเผยว่า สารคาร์เบโนโซโลนจากชะเอมเทศ อาจมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ในสมองที่เกี่ยวข้องกับการสร้างฮอร์โมนความเครียด จนทำให้ความสามารถในการทำงานของสมองเสื่อมลงได้ในกลุ่มทดลองผู้ชายอายุ 55-70 ปีที่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน นอกจากนี้ อีกงานวิจัยหนึ่งที่ทดลองในผู้ชายสูงวัยที่ป่วยโรคเบาหวานเช่นกันพบว่าการบริโภคสารประกอบจากชะเอมเทศทุกวันอาจช่วยกระตุ้นความจำด้านคำศัพท์และการใช้ภาษาให้ดีขึ้น ซึ่งอาจเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยป้องกันปัญหาด้านความจำ และกระตุ้นทักษะด้านความรู้ความเข้าใจอื่น ๆ เมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเหล่านี้เป็นเพียงการทดลองขนาดเล็กที่ทดลองในผู้ป่วยเฉพาะกลุ่มและเฉพาะช่วงวัยเท่านั้น จึงต้องศึกษาถึงการใช้ชะเอมเทศรักษาโรคที่เกี่ยวกับความจำเพิ่มเติม เช่น โรคความจำเสื่อม และโรคอัลไซเมอร์ โดยขยายกลุ่มทดลองให้มีขนาดใหญ่และมีความหลากหลายของปัจจัยทางสุขภาพมากขึ้น เพื่อยืนยันสมมติฐานด้านนี้ให้ชัดเจนต่อไป

บรรเทาอาการเจ็บคอหลังการผ่าตัด อาการเจ็บคออาจเกิดขึ้นได้จากการใช้ท่อช่วยหายใจสอดเข้าไปในลำคอระหว่างการผ่าตัดหลังจากผู้ป่วยรับยาสลบแล้ว โดยชะเอมเทศเป็น 1 ในสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้รักษาอาการเจ็บคอหลังผ่าตัด เพราะเชื่อว่าชะเอมเทศมีสารประกอบที่อาจมีสรรพคุณบรรเทาอาการเจ็บคอในลักษณะนี้ได้ ซึ่งมีงานวิจัยหนึ่งศึกษาสรรพคุณของชะเอมเทศในด้านนี้ โดยทดลองให้ผู้ป่วยจำนวน 236 คน สุ่มใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากชะเอมเทศปริมาณ 0.5 กรัม หรือน้ำยาบ้วนปากที่มีน้ำตาลปริมาณ 5 กรัม กลั้วคอนาน 1 นาที ก่อนรับยาสลบ 5 นาที พบว่าผู้ที่ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีสารสกัดจากชะเอมเทศมีอาการเจ็บคอหลังการผ่าตัดน้อยกว่าผู้ที่ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของน้ำตาล

อีกงานวิจัยหนึ่งให้ผู้ป่วย 100 คน สุ่มใช้ยาอมชะเอมเทศหรือลูกอมน้ำตาลก่อนรับยาสลบ พบว่ายาอมชะเอมเทศอาจช่วยลดอาการเจ็บคอจากการสอดท่อหายใจระหว่างผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับลูกอมน้ำตาล

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่ทดลองด้านนี้โดยเฉพาะยังมีจำนวนน้อย จึงควรศึกษาประสิทธิผลจากงานวิจัยอื่น ๆ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อนำผลลัพธ์ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป

รักษาแผลในกระเพาะอาหาร แผลในกระเพาะอาหารอาจมีสาเหตุมาจากการบริโภคอาหารรสเผ็ด จนทำให้ปวดท้อง รู้สึกแสบ และเกิดแผลที่กระเพาะอาหารได้ เชื่อว่าชะเอมเทศเป็น 1 ในสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็นที่อาจรักษาอาการดังกล่าวได้ โดยมีงานวิจัยหนึ่งให้หนูทดลองบริโภคสารสกัดจากชะเอมเทศปริมาณ 50-200 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แล้วพบว่าสารสกัดดังกล่าวอาจมีฤทธิ์ใกล้เคียงกับยาลดกรดในกระเพาะไซเมทิดีน สารสกัดจากชะเอมเทศจึงอาจช่วยป้องกันเยื่อบุกระเพาะอาหารเป็นแผลจากกรด และอาจนำมาใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหารได้

แม้การศึกษาในสัตว์ทดลองแสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากชะเอมเทศอาจรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้ แต่ควรศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมโดยทดลองในมนุษย์ต่อไป เพื่อนำประสิทธิผลที่ได้มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์

ใช้ชะเอมเทศอย่างไรให้ปลอดภัย ?

การบริโภคชะเอมเทศในรูปแบบอาหารค่อนข้างปลอดภัย เช่นเดียวกับการบริโภคหรือใช้ชะเอมเทศทาผิวหนังเพื่อหวังสรรพคุณด้านผิวพรรณ แต่ไม่ควรบริโภคติดต่อกันนานเกิน 4 เดือน และควรใช้ทาผิวเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะการบริโภคชะเอมเทศติดต่อกันเป็นเวลานานอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ แม้จะใช้เพียงปริมาณเล็กน้อยก็ตาม

ส่วนการบริโภคและการใช้ชะเอมเทศในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทยได้เผยว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชะเอมเทศในประเทศไทยจะต้องเป็นสารสกัดที่มาจากรากของชะเอมเทศ ด้วยกรรมวิธีบดผง สกัดด้วยน้ำ หรือสกัดด้วยเอทานอลเท่านั้น โดยการบริโภครากชะเอมเทศและรากชะเอมจีนบดผงรวมกันต้องน้อยกว่า 1.5 กรัม/วัน ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ผู้บริโภคควรอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อย่างละเอียด เพื่อหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดดังกล่าว และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้ดีก่อนใช้งานเสมอ

นอกจากนี้ การบริโภคชะเอมเทศทุกวันติดต่อกันหลายสัปดาห์ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ความดันโลหิตสูง ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ อ่อนแรง เหนื่อยล้า ปวดหัว ตัวบวม ประจำเดือนไม่มา เสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย อัมพาต หรือสมองถูกทำลายได้ ดังนั้น ควรบริโภคและใช้ชะเอมเทศอย่างระมัดระวังเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ชะเอมเทศอาจทำเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งhttps://www.pobpad.com/แท้งบุตรได้ และยังไม่มีงานวิจัยใดยืนยันถึงความปลอดภัยของการใช้ชะเอมเทศในหญิงที่กำลังให้นมบุตร เพราะสารสกัดจากชะเอมเทศอาจถูกส่งผ่านทางน้ำนมและมีผลต่อทารกได้ ดังนั้น ทั้งผู้ที่ตั้งครรภ์และผู้ที่กำลังให้นมบุตรจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ชะเอมเทศเพื่อความปลอดภัย
  • ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรงดบริโภคชะเอมเทศอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพราะชะเอมเทศอาจรบกวนการควบคุมความดันโลหิตในระหว่างและหลังการผ่าตัด

ส่วนผู้ที่มีปัญหาสุขภาพดังต่อไปนี้ ห้ามบริโภคหรือใช้ชะเอมเทศเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้

  • โรคหัวใจ ชะเอมเทศอาจทำให้ร่างกายกักเก็บน้ำอย่างผิดปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติและภาวะหัวใจล้มเหลวได้
  • โรคไต การบริโภคชะเอมเทศปริมาณมากอาจทำให้อาการต่าง ๆ ของโรคไตแย่ลง
  • ภาวะที่มีความไวต่อฮอร์โมน เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก และเนื้องอกมดลูก เพราะชะเอมเทศอาจเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย จนทำให้อาการต่าง ๆ ของภาวะเหล่านี้แย่ลง
  • ภาวะที่มีโพแทสเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ ชะเอมเทศอาจทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดลดต่ำลงกว่าเดิม ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
  • ภาวะกล้ามเนื้อตึงตัวมาก ชะเอมเทศอาจทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดลดต่ำลง และส่งผลให้อาการกล้ามเนื้อตึงตัวแย่ลงได้