คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรับมือกับความกังวลต่าง ๆ อย่างไร ?

คุณแม่ตั้งครรภ์นั้นต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกายและจิตใจหลายอย่าง และเป็นเรื่องธรรมดาที่คุณแม่บางคนอาจรู้สึกวิตกกังวลหรือมีอารมณ์แปรปรวนได้ง่ายในระหว่างนี้ ซึ่งความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้ การศึกษาวิธีรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และการคงสภาพจิตใจให้แจ่มใสจึงสำคัญต่อคุณแม่พอ ๆ กับการดูแลสุขภาพร่างกายด้วยเช่นกัน

1619 ตั้งครรภ์ กังวล resized

คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องเผชิญกับความรู้สึกแบบใดบ้าง ?

เป็นธรรมดาที่คุณแม่ตั้งครรภ์หลายคน โดยเฉพาะผู้ที่อุ้มท้องลูกคนแรก มักรู้สึกกังวลใจในเรื่องต่าง ๆ มากมาย เช่น รูปร่าง พฤติกรรมการใช้ชีวิต และสุขภาพของเจ้าตัวน้อยในครรภ์ เป็นต้น แต่คุณแม่บางรายอาจมีอารมณ์แปรปรวนหรือรู้สึกวิตกกังวลมากกว่าปกติ เพราะการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายระหว่างตั้งครรภ์สามารถส่งผลกระทบต่อสารเคมีในสมอง จนอาจก่อให้เกิดโรควิตกกังวลตามมา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งตัวคุณแม่และเด็กในท้องได้

โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการของโรควิตกกังวลดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง

  • ไม่สามารถควบคุมอาการวิตกกังวลของตัวเองได้
  • คิดและวิตกกังวลในเรื่องเดิม ๆ ซ้ำไปมา โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพของตัวเองและลูกน้อย
  • ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใดได้นาน
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น นอนหลับยาก นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท เป็นต้น
  • รู้สึกหงุดหงิดหรือกระวนกระวายเป็นประจำ
  • มีอาการเกร็งตามกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ
  • ในบางครั้งความวิตกกังวลอาจก่อให้เกิดอาการตื่นกลัวหรือแพนิค (Panic) โดยผู้ป่วยมักรู้สึกกลัวบางสิ่งอย่างมากจนไม่สามารถสงบสติอารมณ์ได้ และอาจมีอาการหายใจติดขัดร่วมด้วย

ปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ที่คุณแม่ตั้งครรภ์อาจต้องเผชิญ

นอกจากภาวะวิตกกังวลแล้ว หญิงตั้งครรภ์อาจเสี่ยงต่ออาการผิดปกติทางจิตอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น

  • โรคซึมเศร้า ผู้ป่วยจะรู้สึกเศร้า หดหู่ หรือกระวนกระวายใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นเวลานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน และอาจเกิดขึ้นก่อนการตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ หรือหลังจากคลอดบุตรออกมาแล้วก็ได้
  • โรคไบโพลาร์ ผู้ป่วยมักมีอารมณ์ดีหรือกระตือรือร้นมากจนผิดปกติ หรืออยู่ในภาวะอารมณ์ดีและตื่นตัวผิดปกติสลับกับรู้สึกหดหู่อย่างหนัก โดยอาการแต่ละรูปแบบจะคงอยู่นานพอสมควร ก่อนจะเปลี่ยนไปแสดงอารมณ์ในทางตรงข้าม
  • โรคย้ำคิดย้ำทำ ผู้ป่วยจะมีรูปแบบความคิดหรือความกลัวที่ไม่สมเหตุสมผลจนนำไปสู่การทำพฤติกรรมบางอย่างซ้ำไปซ้ำมา เช่น ล้างมือบ่อยเกินความจำเป็น ตรวจดูเตาแก๊สบ่อย ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ลืมปิด เป็นต้น
  • โรคการกินผิดปกติ เช่น โรคคลั่งผอม โรคล้วงคอ เป็นต้น โดยผู้ป่วยมักมีความคิดหรือความรู้สึกด้านลบต่อรูปร่างและน้ำหนักของตัวเอง หรือมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิดปกติจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความกังวลระหว่างตั้งครรภ์

แม้ภาวะวิตกกังวลและอาการผิดปกติทางจิตอื่น ๆ อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ได้ทุกคน แต่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มต่อไปนี้อาจมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป

  • เคยเป็นหรือเคยมีคนในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือโรคแพนิคมาก่อน
  • เคยเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างมาก
  • มีพฤติกรรมใช้สารเสพติด
  • เครียดเป็นประจำ

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรับมือกับอาการวิตกกังวลอย่างไร ?

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์สามารถรับมือกับอาการวิตกกังวลหรือภาวะเครียดได้ง่าย ๆ เพียงปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • เล่าเรื่องที่ทำให้ตนวิตกกังวลหรือรู้สึกเครียดให้คนที่ไว้ใจฟัง
  • ระบายความกังวลและความเครียดด้วยการเขียนบันทึกประจำวัน
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และงีบหลับเมื่อรู้สึกง่วงหรือเหนื่อย เพราะหญิงมีครรภ์ควรนอนหลับและพักผ่อนมากกว่าปกติ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น เดิน วิ่งเหยาะ ๆ หรือเล่นโยคะ เป็นต้น โดยควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มต้นออกกำลังกาย เพื่อให้แพทย์แนะนำวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์
  • ทำกิจกรรมที่ช่วยให้เกิดสมาธิและรู้สึกผ่อนคลาย เช่น นั่งสมาธิ ฝึกการหายใจ ฝังเข็ม นวดผ่อนคลาย เป็นต้น
  • เข้าคอร์สอบรมการเตรียมคลอดจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเรียนรู้การดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์และการเตรียมตัวก่อนคลอด ซึ่งอาจช่วยผ่อนคลายความเครียดและความวิตกกังวลไปได้บ้าง ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเองได้รู้จักเพื่อนใหม่ด้วย

ส่วนคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการของภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล หรือความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การใช้ยา ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือมีอาการผิดปกติทางจิตอื่น ๆ ที่ตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มรับประทานยาทุกชนิด และไม่ควรหยุดใช้ยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะการหยุดยาทันทีอาจส่งผลให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น หรือก่อให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้
  • การทำจิตบำบัด เป็นการพูดคุยกับแพทย์หรือผู้ให้คำปรึกษาที่เชี่ยวชาญ เพื่อเปิดมุมมองและเรียนรู้แนวทางใหม่ ๆ ในการรับมือกับความรู้สึกที่กำลังเผชิญอยู่อย่างเหมาะสม

อันตรายจากภาวะวิตกกังวลขณะตั้งครรภ์

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการวิตกกังวลอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง หรือสงสัยว่าตนอาจเป็นโรคซึมเศร้า ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้อง เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น และอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อตัวคุณแม่เองและทารกในครรภ์ ดังนี้

ผลกระทบที่อาจเกิดกับแม่

  • การยุติการตั้งครรภ์ เมื่อแพทย์พิจารณาว่าเห็นสมควรแล้ว
  • ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • ภาวะคลอดก่อนกำหนด
  • การฆ่าตัวตาย

ผลกระทบที่อาจเกิดกับทารกในครรภ์

  • ทารกคลอดก่อนกำหนด
  • ทารกมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่ามาตรฐาน
  • มีความสามารถต่ำในการปรับกระบวนการทำงานระบบต่าง ๆ ของร่างกายหลังคลอด
  • มีคะแนนการประเมินสภาพทารกแรกเกิด (APGAR Score) อยู่ในระดับต่ำ