คันคอ (Itchy Throat)

ความหมาย คันคอ (Itchy Throat)

คันคอ คืออาการที่รู้สึกคันและระคายเคืองภายในลำคอ จนอาจทำให้ต้องกระแอมกระไออยู่บ่อยครั้ง เป็นอาการที่พบได้บ่อยของโรคภูมิแพ้ อาการแพ้ หรือเป็นสัญญาณของความเจ็บป่วย เช่น ไข้หวัด คออักเสบ ไซนัสอักเสบ ในบางกรณี อาการคันคออาจเกิดจากการสูดดมสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองคอเข้าไป 

อาการคันคอมักไม่ได้เกิดจากสาเหตุรุนแรง และมักไม่ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ แต่มักสร้างความรำคาญให้แก่ผู้ที่เป็น อย่างไรก็ตาม อาการคันคอสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยตนเอง รวมทั้งสามารถป้องกันได้จากการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการคันคอ

คันคอ

อาการคันคอ

อาการคันคออาจทำให้รู้สึกคัน ระคายเคืองหรือรู้สึกบวมที่คอ และอาจต้องกระแอมไออยู่บ่อยครั้งเพื่อให้หายคัน นอกจากนั้น การแยกแยะอาการระหว่างอาการคันคอกับอาการอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันมีความสำคัญ เพราะอาการคันคอโดยปกติจะไม่ทำให้รู้สึกแสบคอมาก หรือไม่ทำให้รู้สึกอึดอัดหายใจไม่ออก และไม่เป็นอันตราย

แต่อาการดังกล่าวหรืออาการอื่นที่คล้ายคลึงกับอาการคันคอ อาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงกว่าอาการคันคอทั่วไป หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้นหรือเป็นติดต่อกันเป็นระยะเวลามากกว่า 10 วัน รวมไปถึงมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์

  • หายใจมีเสียง
  • หายใจตื้น หรือหายใจลำบาก
  • เป็นลมพิษ
  • ปวดศีรษะรุนแรง หรือเจ็บคอ
  • หน้าบวม
  • กลืนแล้วเจ็บ

สาเหตุของอาการคันคอ

สาเหตุสำคัญที่ทำให้คันคอ ได้แก่

  • อาการแพ้หรือโรคภูมิแพ้ เป็นสาเหตุที่พบบ่อย โดยอาการแพ้จะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ เช่น สะเก็ดผิวหนังของสัตว์ ฝุ่น เชื้อรา ละอองเกสรดอกไม้ หรืออาหารและยารักษาโรคบางชนิด อาการภูมิแพ้จะมีตั้งแต่อาการที่ไม่รุนแรงจนถึงรุนแรงมาก โดยอาการคันคอจัดว่าเป็นกลุ่มอาการที่ไม่รุนแรง แต่จะก่อให้เกิดความรำคาญหรือไม่สบาย
  • โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) หรือที่เรียกว่า ไข้ละอองฟาง (Hay Fever) เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกายตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ สะเก็ดหนังสัตว์ ไรฝุ่น ควันหรือน้ำหอม ทำให้เกิดอาการไอ คัดจมูก และน้ำมูกไหล
  • การสูดมลพิษ เช่น สารเคมี ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด บุหรี่ หรือยาฆ่าแมลง
  • ไข้หวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย มักเริ่มต้นจากมีอาการคันคอ ไอ ก่อนที่จะเกิดอาการเจ็บคอตามมา รวมไปถึงอาการอื่น ๆ เช่น น้ำมูกไหล จาม ปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือปวดศีรษะ
  • ไซนัสอักเสบ อาจมีอาการคันคอจากการมีเสมหะไหลลงมาบริเวณคอโดยเฉพาะเวลานอน และมักเป็นหวัดเรื้อรัง น้ำมูกเขียว และคัดจมูกร่วมด้วย

การวินิจฉัยคันคอ

แพทย์จะวินิจฉัยอาการคันคอโดยเริ่มจากการซักประวัติและอาการของผู้ป่วย รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่มีอาการคันคอหลังจากเดินทางไปข้างนอก ซึ่งผู้ป่วยอาจแพ้ฝุ่นหรือเกสรดอกไม้ที่อยู่นอกบ้าน

หรือหากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจแพ้อาหาร แพทย์ก็อาจให้ผู้ป่วยจดบันทึกอาหารที่รับประทานและอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหารเหล่านั้น

นอกจากนั้น แพทย์จะตรวจคอเพื่อตรวจสอบอาการต่าง ๆ เช่น บวม แดง มีเสมหะ สัญญาณของการอักเสบ ไซนัสหรือน้ำมูก รวมไปถึงการตรวจอื่น ๆ ได้แก่

  • การทดสอบภูมิแพ้ ด้วยการให้ผิวหนังสัมผัสกับสารที่สงสัยว่าจะทำให้เกิดการระคายเคือง หรือบางกรณีแพทย์อาจใช้วิธีตรวจเลือด
  • ตรวจเลือดหรือป้ายลำคอเพื่อเพาะเชื้อ (Throat Swab) ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียที่อาจต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

การรักษาอาการคันคอ

การรักษาอาการคันคอขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดอาการคันคอมักจะมาจากภูมิแพ้หรืออาการแพ้ต่าง ๆ  ซึ่งรักษาได้ดังนี้

ภูมิแพ้
แพทย์จะให้ยาแก้แพ้ที่มีประสิทธิภาพในการรักษามากกว่ายาแก้แพ้ที่จำหน่ายตามร้านขายยา ในกรณีที่ซื้อยาใช้เองแล้วไม่ดีขึ้น และแพทย์อาจแนะนำให้เปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ทำความสะอาดห้องนอนเพื่อกำจัดฝุ่นหรือไรฝุ่น หรือให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้
ซึ่งแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป

โดยยาที่นิยมนำมาใช้รักษาภูมิแพ้ เช่น ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ยาลอราทาดีน (Loratadine) ยาเฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) หรือยาบิลาสทีน (Bilastine) เป็นต้น

แพ้อาหาร
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้จะวินิจฉัยและทดสอบเพื่อยืนยันว่าผู้ป่วยแพ้อาหารชนิดใด จากนั้นจึงให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารชนิดนั้น ๆ และให้ระวังการรับประทานอาหาร หรือตรวจสอบส่วนผสมที่อยู่ในอาหารทุกครั้ง

แพ้ยา
หากพบว่ามีอาการแพ้ยา ซึ่งมักจะเกิดหลังจากที่ใช้ยาประมาณ 1 ชั่วโมง อาจทำให้เกิดอาการ เช่น ผื่นที่ผิวหนัง ลมพิษ คัน มีไข้ หายใจตื้น หรือหายใจมีเสียง ควรพบแพทย์ทันที ซึ่งแพทย์อาจรักษาเบื้องต้นด้วยการให้หยุดใช้ยา ให้ยาแก้แพ้ ให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) หรือให้ฉีดยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) เพื่อรักษาอาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) เป็นต้น

ไข้หวัด
แพทย์อาจให้ยาลดน้ำมูก ร่วมกับการล้างจมูกเพื่อลดภาวะเสมหะไหลลงคอ

ไซนัสอักเสบ
แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ ร่วมกับยาลดคัดจมูก ยาแก้ไอละลายเสมหะร่วมกับการล้างจมูก เพื่อช่วยระบายเสมหะและลดภาวะเสมหะไหลลงคอ

ภาวะแทรกซ้อนของอาการคันคอ

ภาวะแทรกซ้อนของอาการคันคอจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยสาเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจากโรคภูมิแพ้ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น

  • โรคภูมิแพ้ขั้นรุนแรง (Anaphylaxis) เป็นภูมิแพ้ชนิดที่รุนแรงที่สุด อาจทำให้เกิดอาการ เช่น ลมพิษ คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยที่แพ้อาหาร แพ้แมลง และแพ้ยา
  • โรคหืด (Asthma) ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จะมีโอกาสเป็นโรคหืดได้ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันที่มีผลต่อทางเดินหายใจและการหายใจ
  • โพรงจมูกอักเสบและการติดเชื้อที่หูและปอด มักจะเกิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคหืด
  • ไซนัสอักเสบจากเชื้อรา (Allergic Fungal Sinusitis) และปอดอักเสบจากเชื้อรา (Allergic Bronchopulmonary Aspergillosis)

การป้องกันอาการคันคอ

อาการคันคอป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้ หรือการป้องกันตนเองจากการได้รับเชื้อซึ่งอาจทำให้เป็นไข้หวัด เจ็บคอ หรือการติดเชื้ออื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุให้คันคอ โดยสามารถดูแลตนเองเบื้องต้นได้ เช่น

  • ดื่มน้ำในปริมาณมาก
  • กลั้วคอด้วยน้ำเกลือและเบคกิ้งโซดา (Baking Soda) ซึ่งช่วยลดการอักเสบที่คอได้ โดยนำเกลือ 1 ช้อนชา และเบคกิ้งโซดาครึ่งช้อนชา ผสมลงไปในน้ำสะอาดประมาณ 240 มิลลิลิตร
  • ใช้ยาอมหรือสเปรย์ ที่มีฤทธ์ทำให้คอรู้สึกชา เช่น ยาเบนโซเคน (Benzocaine) น้ำมันยูคาลิปตัส เมนทอล เป็นต้น
  • ใช้สเปรย์ที่มีส่วนผสมของคาโมไมล์ ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านเชื้อแบคทีเรีย จึงช่วยลดอาการเจ็บคอหรือการระคายเคืองภายในช่องปากและลำคอในระยะเริ่มต้นได้ สามารถใช้ในระหว่างวันเมื่อมีอาการ โดยสเปรย์นี้หาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถขอคำแนะนำหรือสอบถามได้จากเภสัชกรโดยตรง แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงติดต่อกันนานหลายวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
  • หมั่นล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันอาการคันคอที่มาจากไข้หวัด หรือการติดเชื้อต่าง ๆ
  • ล้างจมูก เพื่อช่วยลดภาวะเสมหะไหลลงคอและช่วยชะล้างสารก่อภูมิแพ้ในทางเดินหายใจ