7 วิธีกำจัดไรฝุ่น ตัวร้ายก่อโรคภูมิแพ้

ไรฝุ่นเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมาก พบมากภายในบ้านและสถานที่ปิด โดยจัดเป็นสารก่อภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดอาการภูมิแพ้ อย่างอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล คันตา อีกทั้งไรฝุ่นยังทำให้คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ โรคหืดหรือหอบหืดมีอาการแย่ลงด้วย

ไรฝุ่นพบได้ในบ้านตลอดทั้งปี เพราะประเทศไทยมีอากาศร้อนและชื้น ซึ่งเหมาะกับการเจริญเติบโตของไรฝุ่น โดยไรฝุ่นมักจะอาศัย แพร่พันธุ์ และทิ้งของเสียไว้ตามเฟอร์นิเจอร์และของใช้ โดยเฉพาะที่นอน หมอน ผ้าห่ม และโซฟา เมื่อมีคนไปใช้งานข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้ก็มีโอกาสที่ไรฝุ่นจะฟุ้งกระจายและทำให้เกิดอาการแพ้ได้

เพื่อกำจัดไรฝุ่นภายในบ้านและลดความรุนแรงของโรคภูมิแพ้ บทความนี้มีวิธีดี ๆ ในการกำจัดไรฝุ่นที่สามารถทำได้เองที่บ้านมาให้ได้ลองทำกัน

7 วิธีกำจัดไรฝุ่น ตัวร้ายก่อโรคภูมิแพ้

วิธีกำจัดไรฝุ่นด้วยตนเอง

การกำจัดไรฝุ่นทำได้หลายวิธี ทั้งวิธีที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายไปจนถึงการเลือกซื้อตัวช่วยในการกำจัดไรฝุ่นต่าง ๆ 

1. ทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ

วิธีนี้เป็นวิธีง่าย ๆ ที่คนแพ้ไรฝุ่นควรทำเป็นประจำ เพื่อลดจำนวนและกำจัดไรฝุ่นภายในบ้าน แต่ก่อนจะทำความสะอาดบ้าน ควรสวมหน้ากากอนามัยให้มิดชิด เพราะการปัดกวาดเช็ดถูอาจทำให้ไรฝุ่นฟุ้งกระจายในอากาศ หากสูดดมเข้าไปก็อาจเกิดอาการแพ้ได้

2. ซักเครื่องนอนเป็นประจำ

นอกจากการทำความสะอาดบ้านและเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ แล้ว ควรทำความสะอาดเครื่องนอนเป็นประจำ เพราะไรฝุ่นชอบอาศัยบนเส้นใยผ้า ทั้งหมอน หมอนข้าง ผ้าห่ม ที่นอน หรือแม้แต่ตุ๊กตาภายในห้อง สำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ไรฝุ่น ควรเปลี่ยนและทำความสะอาดเครื่องนอนทุกสัปดาห์เพื่อป้องกันการเพิ่มจำนวนของไรฝุ่น ภายหลังการซัก ควรนำเครื่องนอนไปตากแดดจัดอย่างประมาณ 3–5 ชั่วโมง เนื่องจากมีการศึกษาบางส่วนชี้ว่า การนำเครื่องนอนหรือเฟอร์นิเจอร์ไปตากแดดอาจลดจำนวนของไรฝุ่นลงไปได้

3. หลีกเลี่ยงการใช้พรม

การวางพรมภายในห้องนับว่าเป็นการตกแต่งห้องวิธีหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความสวยงาม แต่หลายคนก็มักจะละเลยในการทำความสะอาด อีกทั้งยังวางไว้ที่พื้น ซึ่งแน่นอนว่าพรมเป็นของใช้ที่อาจมีไรฝุ่นอาศัยอยู่จำนวนมาก ยิ่งบ้านไหนมีทารกหรือเด็กเล็กที่คลานและวิ่งเล่นที่พื้นก็อาจเสี่ยงต่อไรฝุ่นได้มากขึ้น นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงของตกแต่งบ้านอื่น ๆ ที่ทำจากผ้าด้วยเช่นกัน

4. ดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างเหมาะสม

ไรฝุ่นกินเศษเส้นผมและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วของมนุษย์เป็นอาหาร โดยมากมักติดอยู่ตามเครื่องนอนและเฟอร์นิเจอร์ หากครอบครัวไหนเลี้ยงสัตว์เลี้ยง ไรฝุ่นก็จะกินเส้นขนและรังแคสัตว์เลี้ยงเช่นกัน การดูแลรักษาความสะอาดของสัตว์เลี้ยงอยู่เสมอ โดยให้กั้นพื้นที่ของสัตว์เลี้ยงและพื้นที่สำหรับพักผ่อนแยกออกจากกัน ซึ่งจะช่วยป้องกันการเพิ่มจำนวนของไรฝุ่นภายในบ้านได้อีกทาง

5. เลือกของเล่นที่ซักได้

โรคภูมิแพ้ไรฝุ่นเป็นโรคที่พบได้บ่อยในทารกและเด็กเล็ก ซึ่งของเล่นของเจ้าตัวน้อยเป็นสิ่งของอีกอย่างที่ไรฝุ่นอาจเข้าไปหลบและอาศัยอยู่ หากเด็กหยิบไปเล่นหรือนำเข้าปากก็อาจทำให้ได้รับไรฝุ่นและเกิดอาการแพ้จนทำให้เจ้าตัวน้อยงอแงได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรทำความสะอาดของเล่นเป็นประจำและเลือกของเล่นที่ซักได้ เพื่อกำจัดไรฝุ่นและประหยัดเวลาในการทำความสะอาด

6. ใช้เครื่องนอนกันไรฝุ่น

ปัจจุบันมีเครื่องนอนที่ออกแบบมาสำหรับคนที่แพ้ไรฝุ่นออกมาวางขายโดยเฉพาะ ทั้งที่นอนกันไรฝุ่น ปลอกหมอนกันไรฝุ่น และเครื่องนอนอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติกันไรฝุ่น โดยเครื่องนอนเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้ฝุ่นเกาะได้ยากเพราะทำมาจากเส้นใยพลาสติก จึงอาจช่วยลดจำนวนของไรฝุ่นบนเครื่องนอนได้ อย่างไรก็ตาม การทำความสะอาดเครื่องนอนเป็นประจำยังคงเป็นวิธีที่จำเป็นอยู่

7. ใช้เครื่องฟอกอากาศ

เครื่องฟอกอากาศเป็นตัวเลือกสำหรับคนที่มีงบประมาณ โดยกลไกของเครื่องฟอกอากาศคือการดึงอากาศภายในห้องเข้าไปกรองและปล่อยอากาศที่สะอาดขึ้นออกมา ซึ่งแผ่นกรองของเครื่องฟอกอากาศควรเลือกเป็นแบบ HEPA ที่เป็นแผ่นกรองที่มีความถี่ในการกรองสูง จึงสามารถกรองไรฝุ่นที่ฟุ้งภายในอากาศได้ ทำให้อากาศที่ถูกฟอกออกมาไม่มีไรฝุ่นหรือไรฝุ่นน้อยลง

การกำจัดไรฝุ่นที่ได้ผลจำเป็นต้องอาศัยหลายวิธีด้วยกัน หากมีอาการแพ้ไม่รุนแรงอาจใช้ยาแก้แพ้เพื่อช่วยบรรเทาอาการ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการใช้มือจับใบหน้า แคะจมูก หรือหยิบอาหารเข้าปากหากยังไม่ได้ล้างมือเพื่อป้องกันไรฝุ่นเข้าสู่ร่างกาย สำหรับอาการแพ้ไรฝุ่นเกิดในเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีดูแลที่ถูกต้อง

นอกจากไรฝุ่นแล้ว ภายในบ้านยังมีสารก่อภูมิแพ้ชนิดอื่น ๆ เช่น แมลงสาบ สารเคมี เชื้อรา ขนสัตว์ รังแคสัตว์ที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ ในเบื้องต้นการดูแลบ้านด้วยวิธีการกำจัดไรฝุ่นในข้างต้นก็อาจช่วยลดอาการแพ้จากสารก่อภูมิแพ้ชนิดอื่นที่อยู่ภายในบ้านได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากอาการภูมิแพ้รุนแรงขึ้น หรือหาสาเหตุของอากาศไม่ได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม