คันคอไอ รู้จักสาเหตุและวิธีการรับมือง่าย ๆ ด้วยตัวเอง

คันคอไอ เป็นอาการที่เกิดจากความรู้สึกคันหรือระคายเคืองภายในลำคอ จนทำให้รู้สึกอยากไอ เพื่อทำให้คอโล่งขึ้น โดยอาการคันคอและอาการไอมักเกิดขึ้นพร้อมกัน และอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ไข้หวัด ภูมิแพ้ โรคหอบหืด หรืออาการระคายเคืองคอจากการสูดดมควัน มลพิษ หรือสารเคมีต่าง ๆ

คันคอและไอเป็นอาการที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการพูดหรือการกลืนอาหาร แต่มักไม่ใช่อาการหรือสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง อีกทั้งยังสามารถรับมือได้ด้วยตัวเองโดยการใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น การกินยารักษาโรคที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการคันคอและไอ และการดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการคันคอและไอให้ดีขึ้น

คันคอไอ

ทำความรู้จักสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคันคอไอ

อาการคันคอและอาการไอมักเกิดจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น

1. ภูมิแพ้

คันคอ ไอมักเป็นสัญญาณของอาการภูมิแพ้ ซึ่งอาจเกิดจากการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ เช่น ขนสัตว์ ฝุ่น อาหารหรือยาบางชนิดที่กินเข้าไป โดยสารก่อภูมิแพ้จะกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น คันคอ ไอ จาม คันตา น้ำมูกไหล

2. กรดไหลย้อน

หากรู้สึกคันคอ ไอ ร่วมกับอาการแสบร้อนกลางอก อาจเป็นสัญญาณของกรดไหลย้อน ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาทางหลอดอาหาร จึงอาจทำให้รู้สึกแสบร้อนบริเวณคอ คันคอ ไอ หายใจมีเสียงหวีด และกลืนอาหารลำบาก

3. โรคหอบหืด

โรคหอบหืดเป็นโรคทางเดินหายใจเรื้อรังชนิดหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้คนทุกวัย โดยโรคหอบหืดอาจเกิดขึ้นเมื่อหลอดลมอักเสบและเกิดการบีบตัว จึงทำให้การหายใจลำบากมากขึ้น โดยในช่วงที่เกิดอาการหอบหืดอาจทำให้รู้สึกคันคอ ไอ เจ็บหน้าอก และหายใจไม่อิ่ม  

4. การติดเชื้อ

อาการไข้หวัดทำให้เกิดอาการคันคอและไอ ซึ่งเกิดจากการที่เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย นอกจากอาการไข้หวัดแล้ว โรคอื่น ๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อก็อาจทำให้รู้สึกคันคอและไอได้ เช่น โรคไซนัสอักเสบ โรคหลอดลมอักเสบ รคต่อมทอนซิลอักเสบ และโรคคออักเสบ โดยโรคเหล่านี้มักมีอาการเสมหะในลำคอ จึงทำให้รู้สึกระคายเคืองคอและไอได้

นอกจากนี้ เมื่อมีอาการคันคอและไอเกิดขึ้น บางคนอาจสับสนกับอาการของโรคโควิด-19 ได้ อย่างไรก็ตาม โรคโควิด-19 มักไม่ส่งผลให้เกิดอาการคันคอ แต่อาจทำให้เกิดอาการเจ็บคอหรือแสบคอมากกว่า

5. ระคายเคืองคอ

อาการคันคอ ไออาจเกิดขึ้นเมื่อระคายเคืองคอจากสิ่งต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่ การสูดดมควันบุหรี่ มลพิษในสิ่งแวดล้อม หรือสารเคมีต่าง ๆ เมื่อมีอาการระคายเคืองคอ อาจทำให้รู้สึกคันคอและไอเพื่อบรรเทาอาการคันคอที่เกิดขึ้น 

6. ยาบางชนิด

ยาบางชนิด เช่น ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitors) ที่ใช้สำหรับการรักษาโรคความดันโลหิตต่ำและโรคหัวใจ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ รวมไปถึงอาการคันในคอ และไอ โดยอาการไอมักเป็นอาการไอแห้งและไม่มีเสมหะ

วิธีรับมือคันคอไอง่าย ๆ ด้วยตัวเอง

อาการคันคอ ไอเป็นอาการที่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยตัวเอง เมื่อเริ่มมีอาการ อาจดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • กลั้วคอด้วยน้ำเกลือวันละ 2–3 ครั้ง โดยผสมเกลือ ½ ช้อนชาและน้ำอุ่นประมาณ 240 มิลลิลิตร จากนั้นกลั้วคอประมาณ 10 วินาทีและบ้วนทิ้ง การกลั้วคอด้วยน้ำเกลืออาจช่วยบรรเทาอาการคันคอ และลดความรุนแรงของการติดเชื้ออีกด้วย
  • อมยาอมแก้เจ็บคอเพื่อให้คอชุ่มชื้นและบรรเทาคันคอ หรืออาจยาอมแก้ไอเพื่อช่วยให้อาการไอดีขึ้น
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยอาจดื่มน้ำอุ่น ชา หรือซุปร้อน ๆ เพื่อช่วยละลายเสมหะในลำคอ และป้องกันไม่ให้เสมหะเหนียวข้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการคันคอ ไอตามมา
  • กินน้ำผึ้งผสมน้ำอุ่นหรือชา โดยน้ำผึ้งอาจช่วยลดการระคายเคืองคอและอาการไอได้
  • งดสูบบุหรี่ เพื่อป้องกันการระคายเคืองที่คอ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกคันคอและไอ
  • ใส่หน้ากากอนามัยขณะออกไปข้างนอก เพื่อป้องกันการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ รวมไปถึงเชื้อโรค ควันหรือมลพิษ ที่อาจทำให้เกิดอาการคันคอและไอตามมา

นอกจากการบรรเทาอาการคันคอและไอแล้ว ควรรักษาปัญหาสุขภาพที่ทำให้เกิดอาการคันคอและไอร่วมด้วย เช่น หากคันคอไอเกิดจากโรคหอบหืด ควรกินยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด หากอาการคันคอไอเกิดขึ้นจากภูมิแพ้ ควรกินยาแก้แพ้ร่วมด้วย เพื่อลดความรุนแรงของอาการแพ้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากอาการคันคอไอไม่ดีขึ้น หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้สูง ผื่นลมพิษ หน้าบวม หายใจหรือกลืนลำบาก คอแดง บวม และเจ็บคออย่างรุนแรง สังเกตเห็นคราบสีขาวในคอ ควรไปพบแพทย์ เพราะอาการต่าง ๆ อาจเป็นสัญญาณของอาการที่รุนแรงได้