คลอดลูกในน้ำ ทางเลือกธรรมชาติกระแสใหม่

การคลอดลูกในน้ำเป็นการคลอดแบบธรรมชาติที่นิยมอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ โดยการคลอดด้วยวิธีนี้ช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย ทั้งยังอาจช่วยลดความเจ็บปวดขณะคลอด ซึ่งอาจส่งผลให้คุณแม่คลอดเจ้าตัวเล็กได้เร็วและง่ายขึ้น 

อย่างไรก็ตาม คุณแม่หลายท่านอาจกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองและลูกน้อย ในบทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการคลอดลูกในน้ำ ทั้งขั้นตอน และข้อจำกัดของการคลอดลูกในน้ำ เพื่อให้คุณแม่ได้ศึกษาและนำไปประกอบการตัดสินใจ

คลอดลูกในน้ำ

ขั้นตอนการคลอดลูกในน้ำ

การคลอดลูกในน้ำสามารถแบ่งระยะคลอดออกเป็น 2 ช่วง คือ

ช่วงก่อนการคลอด

คุณแม่จะลงไปแช่ในอ่างน้ำอุ่นที่มีอุณหภูมิประมาณ 35–37 องศาเซลเซียส ซึ่งใกล้เคียงกับอุณหภูมิในถุงน้ำคร่ำ เพื่อให้ทารกที่คลอดใหม่สามารถปรับตัวได้ดี โดยคุณแม่จะแช่อยู่ในอ่างรอจนกว่าปากมดลูกจะขยายเปิดอย่างเต็มที่ และพร้อมสำหรับการคลอดในระยะที่สอง

ช่วงปากมดลูกเปิดเต็มที่

คุณแม่เริ่มเบ่งคลอดตามปกติ ขณะที่คลอด เด็กจะยังคงได้รับออกซิเจนจากเลือดผ่านทางสายสะดือ อุณหภูมิและการพยุงตัวจากแรงดันของน้ำจะทำให้เด็กปรับตัวได้ดีเหมือนอยู่ในครรภ์ ทารกจะหายใจได้เองเมื่อถูกอุ้มให้โผล่พ้นน้ำและสัมผัสบรรยากาศภายนอกพร้อมสัมผัสแรกจากคุณแม่

ทั้งนี้ การคลอดในน้ำต้องมีการเตรียมการอย่างถูกต้องเหมาะสมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมอ่างน้ำที่สะอาดปลอดภัย ผ่านการฆ่าเชื้อโรคและป้องกันการติดเชื้อของเด็ก การเตรียมน้ำอุ่นให้มีอุณภูมิเหมาะสมต่อการปรับตัวของเด็กแรกเกิด และการเตรียมทีมแพทย์พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้พร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด  

คลอดลูกในน้ำมีประโยชน์อย่างไร ?  

การคลอดลูกในน้ำเป็นการคลอดตามธรรมชาติในอ่างน้ำอุ่น ซึ่งอาจมีประโยชน์ดังต่อไปนี้

  • การใช้น้ำอุ่นจะเพิ่มความรู้สึกผ่อนคลายและช่วยลดความเจ็บปวด
  • เมื่อแช่อยู่ในน้ำอุ่น คุณแม่จะรู้สึกสบายตัว เพราะคุณแม่จะสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ รู้สึกเบาตัวและคล่องตัวขึ้น
  • กล้ามเนื้อต่าง ๆ ที่เกร็งตัวจากความเครียดจะขยายตัว ลดภาวะความตึงเครียดและบรรเทาอาการปวดให้ทุเลาลง
  • เป็นการเตรียมความพร้อมให้คุณแม่คลอดโดยอาจไม่ต้องใช้ยาแก้ปวดหรือยาชา 
  • การอยู่ในน้ำอาจช่วยเร่งให้คลอดได้ไวและง่ายขึ้น
  • น้ำอุ่นจะช่วยในเรื่องกระบวนการไหลเวียนของเลือดในมดลูก
  • อาจช่วยลดโอกาสการเกิดแผลฉีกขาดรุนแรงของปากมดลูก

นอกจากนี้ การคลอดในน้ำยังเป็นการสร้างบรรยากาศในการคลอดให้คุณแม่อยู่ในสภาวะผ่อนคลาย ส่งผลดีต่อการคลอดลูก และสามารถสร้างบรรยากาศที่ดีเพิ่มเติมได้ด้วยการเปิดเพลงบรรเลงเบา ๆ จัดตกแต่งห้องให้มีบรรยากาศอบอุ่นคล้ายบ้าน ลดความตื่นเต้น และหันเหความสนใจของคุณแม่ไปจากการปวดคลอดได้เป็นอย่างดี

ข้อจำกัดที่สำคัญของการคลอดลูกในน้ำ

แม้จะมีการศึกษามากมายเกี่ยวกับผลดีของการคลอดลูกในน้ำ แต่การคลอดที่จำลองธรรมชาติและบรรยากาศเช่นนี้ ก็มีข้อจำกัดและจุดสำคัญที่เหล่าคุณแม่ไม่ควรมองข้าม ดังนี้

  • การคลอดในน้ำมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หากน้ำและอ่างน้ำไม่ได้รับการฆ่าเชื้อที่เหมาะสม
  • หากควบคุมอุณหภูมิไม่ดี อุณภูมิของน้ำจะไม่เหมาะสมต่อสภาวะแรกเกิดของเด็ก ทำให้อุณภูมิตัวเด็กสูงหรือต่ำเกินไป อาจเกิดภาวะที่เป็นอันตรายตามมา
  • หากสายสะดือสั้นอาจเกิดการฉีกขาดได้ และอาจทำให้เกิดการเสียเลือดในปริมาณมาก แต่ข้อจำกัดนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก
  • ต้องทำคลอดและอยู่ภายใต้การดูแลของสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการคลอดในน้ำโดยเฉพาะ

ยิ่งไปกว่านั้น คุณแม่ที่เป็นโรคติดต่อ ติดเชื้อ ความดันสูง ครรภ์เป็นพิษ ตั้งครรภ์ลูกแฝด มีประวัติคลอดยาก หรือคลอดก่อนกำหนด ล้วนไม่ควรคลอดลูกด้วยวิธีนี้ รวมไปถึงทารกที่มีน้ำหนักตัวมาก ตัวใหญ่และไม่อยู่ในท่าคลอดปกติก็ไม่ควรใช้วิธีคลอดลูกในน้ำด้วยเช่นกัน เพราะเสี่ยงต่อการสูญเสียและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นทั้งต่อตัวแม่และเด็ก

ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย โรงพยาบาลที่ให้บริการคลอดลูกในน้ำอาจจะพบได้ไม่มากนัก ซึ่งคุณแม่ควรศึกษาหาข้อมูลให้ดีและถี่ถ้วนก่อน และที่สำคัญ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเกี่ยวกับการคลอดลูกในน้ำ เพื่อให้แพทย์ช่วยดูความเหมาะสมและให้คำแนะนำที่ถูกต้อง