ครอบแก้วคืออะไร และมีประโยชน์อย่างไร?

ครอบแก้ว เป็นการบำบัดรักษาทางเลือกของแพทย์แผนจีนชนิดหนึ่ง ซึ่งมีต้นกำเนิดจากประเทศจีนและปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยการนำถ้วยแก้วแบบเฉพาะมาวางไว้บนผิวหนังพร้อมกับใช้ความร้อนให้แก้วดูดผิวหนังหรือกล้ามเนื้อขึ้น ซึ่งมีความเชื่อว่าจะช่วยบำบัดรักษาอาการป่วยได้หลากหลาย เช่น บรรเทาอาการเจ็บปวด ช่วยการไหลเวียนโลหิต การอักเสบ การผ่อนคลายและเพื่อสุขภาพที่ดี รวมไปถึงเป็นการนวดที่ลงลึกไปถึงชั้นเนื้อเยื่อหรือช่วยในการขจัดสารพิษออกจากร่างกาย

ครอบแก้ว

อย่างไรก็ตาม การครอบแก้วยังไม่ถือเป็นวิธีมาตรฐานที่ได้รับการรับรองสำหรับรักษาโรค และควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนครอบแก้ว

ประเภทของการครอบแก้ว

แรกเริ่มในการครอบแก้วได้ใช้เขาสัตว์มาทำเป็นถ้วยสำหรับครอบ และต่อมาใช้ไม้ไผ่และเซรามิกตามลำดับ แต่ในปัจจุบันมักจะใช้แก้วชนิดพิเศษที่มีลักษณะกลมคล้ายลูกบอลและมีด้านเปิดสำหรับครอบ 1 ด้าน

การครอบแก้วมีอยู่ 2 ประเภท คือ ครอบแก้วแบบแห้งและแบบเปียก แบบแห้งจะเป็นวิธีที่ทำเพื่อการดูดเท่านั้น ส่วนแบบเปียกจะเป็นวิธีที่ทำเพื่อการดูดและควบคุมการไหลเวียนโลหิต ซึ่งแพทย์ผู้ชำนาญจะพิจารณาถึงความเหมาะสมของแต่ละวิธีที่จะใช้กับผู้ป่วย จากประวัติและจุดประสงค์ในการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย

ครอบแก้วมีวิธีการอย่างไร ?

ผู้ที่จะให้รักษาด้วยการครอบแก้วมักเป็นแพทย์แผนจีนหรือแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี โดยในขั้นตอนการบำบัดรักษาด้วยการครอบแก้ว จะเริ่มจากการนำถ้วยแก้วมาใช้ความร้อนไล่อากาศภายในจนเกิดเป็นสูญญากาศ มักจะใช้แอลกอฮอล์ สมุนไพรหรือกระดาษจุดไฟใส่เข้าไปในแก้ว เมื่อความร้อนได้ที่แล้วจึงนำออก จากนั้นจึงนำแก้ววางตามจุดที่ต้องการบนร่างกาย แก้วจะดูดเอาผิวหนังและกล้ามเนื้อขึ้นมา ซึ่งอาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่ถูกครอบเปลี่ยนเป็นสีแดง เพราะเป็นการตอบสนองของหลอดเลือดที่ถูกแรงดัน

วิธีครอบแก้วแบบแห้ง จะใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที ส่วนครอบแก้วแบบเปียก จะใช้เวลาประมาณ 2-3 นาที เท่านั้น และก่อนที่จะนำถ้วยออก แพทย์อาจกรีดแผลเล็ก ๆ เพื่อเป็นการระบายเลือดออก

เมื่อเสร็จขั้นตอน แพทย์อาจจะทายาขี้ผึ้งและปิดด้วยผ้าพันแผล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ นอกจากนั้น รอยช้ำต่าง ๆ ที่เกิดจากการครอบแก้วมักจะหายไปได้เองภายในระยะเวลา 10 วัน

การวิจัยและความเชื่อของโยชน์จากการครอบแก้ว

ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ถึงประโยชน์ของการครอบแก้วมากนัก แต่มีบางรายงานระบุว่าการครอบแก้วมีส่วนช่วยในเรื่องการรักษาโรคหรือภาวะได้หลากหลายชนิด และช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดต่าง ๆ ได้

โรคหรือภาวะที่เชื่อว่าการครอบแก้วสามารถช่วยบำบัดรักาษาได้ เช่น

  • สิว
  • งูสวัด
  • โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง
  • โรคอัมพาตที่ใบหน้า
  • โรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม (Cervical Spondylosis)
  • ความผิดปกติเกี่ยวกับเลือด เช่น โรคโลหิตจาง และโรคฮีโมฟิเลียหรือโรคเลือดออกง่ายหยุดยาก
  • โรคปวดกล้ามเนื้อ (Fibromyalgia) และโรคข้ออักเสบ
  • ไมเกรน
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรควิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า
  • หลอดลมบวมเนื่องจากภูมิแพ้และโรคหืด
  • เส้นเลือดขอด

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยได้ระบุว่าการศึกษาวิจัยดังข้างต้น ยังมีความคลาดเคลื่อนของข้อมูลและยังต้องการการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกมาก รวมทั้งหลาย ๆ โรค ยังไม่มีการวิจัยรองรับจึงยังไม่ได้เป็นวิธีมาตรฐานในการรักษาโรคและการครอบแก้วอาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยบางประเภท ดังนั้น ผู้ป่วยควรรักษาโรคหรือภาวะต่าง ๆ กับแพทย์และควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนที่จะตัดสินใจไปรักษาด้วยการครอบแก้วและหากมีโรคประจำตัวหรือกำลังได้รับการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันอยู่ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลเป็นประจำก่อนเสมอ

ผลข้างเคียงหรือความเสี่ยงจากการครอบแก้ว

โดยปกติแล้วการครอบแก้วจะมีความปลอดภัยหากได้รับการรักษากับผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดี แต่อาจมีผลข้างเคียงหรือมีความเสี่ยงในระหว่างหรือหลังจากการครอบแก้ว ได้แก่

  • ในระหว่างครอบแก้วอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนหรือรู้สึกหวิว ๆ รวมไปถึงอาจทำให้มีเหงื่อออกหรือเป็นลม
  • อาจมีอาการเจ็บบริเวณที่กรีดแผล หรือเกิดอาการเวียนศีรษะระยะสั้น ๆ ภายหลังจากเสร็จขั้นตอน
  • รู้สึกไม่สบายผิวหนังบริเวณที่ครอบแก้ว
  • เกิดแผลไหม้
  • มีรอยฟกช้ำหรือระคายเคืองและอาจมีเลือดออกผิดปกติในชั้นใต้ผิวหนัง
  • เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังและบริเวณใต้ผิวหนัง

ผู้ที่ต้องการเข้าบำบัดรักษาด้วยการครอบแก้ว ควรเลือกสถานที่ที่สะอาด มีการรับรองสถานที่ว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และควรใช้บริการเฉพาะแพทย์ที่ได้รับการรับรองแล้วเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยของตนเอง โดยสังเกตดูว่าแพทย์ที่ให้การครอบแก้วควรใส่ผ้ากันเปื้อน ถุงมือแบบใช้แล้วทิ้ง อุปกรณ์ป้องกันตา และใช้อุปกรณ์ที่มีความสะอาด ที่สำคัญผู้รับการรักษาด้วยวิธีครอบแก้วควรได้รับวัคซีนป้องกันโรค เช่น ไวรัสตับอักเสบ เอชไอวี (HIV) เป็นต้น