คนท้องเป็นตะคริว รับมือปัญหาที่พบบ่อยขณะตั้งครรภ์

คนท้องเป็นตะคริวเป็นอาการพบได้บ่อย ซึ่งทำให้คุณแม่รู้สึกปวดเกร็งกล้ามเนื้อ จุดที่มักเป็นตะคริวคือบริเวณน่องและเท้าข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง และมักเกิดในเวลากลางคืน โดยเฉพาะช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเกิดจากการที่คุณแม่ต้องแบกรับน้ำหนักตัวมากขึ้น การไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือการขาดวิตามินที่จำเป็นขณะตั้งครรภ์ 

ตะคริวขณะตั้งครรภ์มักหายได้เองในช่วงเวลาสั้น ๆ และไม่ส่งผลต่อสุขภาพคุณแม่และทารกในครรภ์ การดูแลตัวเอง เช่น หมั่นออกกำลังกาย ยืดกล้ามเนื้อ ดื่มน้ำให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีสารอาหารเพียงพอสำหรับคนท้อง อาจช่วยให้ตะคริวหายเร็วขึ้นและลดโอกาสการเกิดตะคริวซ้ำอีก

คนท้องเป็นตะคริว รับมือปัญหาที่พบบ่อยขณะตั้งครรภ์

คนท้องเป็นตะคริว เกิดจากอะไร

ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าคนท้องเป็นตะคริวจากสาเหตุใด แต่ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้มีส่วนทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนเป็นตะคริว เช่น

  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากทารกในครรภ์เติบโตขึ้น ทำให้มดลูกกดทับหลอดเลือดและเส้นประสาทบริเวณอุ้งเชิงกราน และกล้ามเนื้อส่วนขาต้องรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก โดยมักพบในคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 6 เดือนขึ้นไป
  • การไม่ได้ออกกำลังกายหรือไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายในระหว่างวัน เช่น ยืนหรือนั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน
  • ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ เช่น แคลเซียมและแมกนีเซียมไม่สมดุล
  • การคั่งของของเหลว (Edema) บริเวณขา

สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้คนท้องเป็นตะคริว เช่น การสะสมของกรดแลคติก (Lactic Acid) ในกล้ามเนื้อ ความเหนื่อยล้า และกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome)

ตะคริวมักจะเกิดในช่วงกลางคืน หรือใกล้เช้า เพราะเป็นช่วงที่อากาศค่อนข้างเย็น และมีเลือดคั่งบริเวณน่องมากขึ้นทำให้กล้ามเนื้อหดตัวและเป็นตะคริว 

ปกติแล้วตะคริวจะหายได้เองภายในเวลาไม่นาน แต่หากไม่หายไปเอง อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติอื่น เช่น เส้นเลือดขอด เนื่องจากแรงดันภายในหลอดเลือดที่ขาสูงขึ้น ไซอาติก้า (Sciatica) ซึ่งเป็นอาการปวดจากแรงกดทับของเส้นประสาทไซอาติกบริเวณหลังส่วนล่าง และลิ่มเลือดอุดตันจากแรงกดทับที่หลอดเลือดดำบริเวณขา (Deep Vein Thrombosis) ซึ่งควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา

คนท้องเป็นตะคริว รับมืออย่างไรดี

วิธีบรรเทาอาการปวดจากตะคริวและป้องกันการเกิดตะคริวสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เช่น

ยืดกล้ามเนื้อขา

การยืดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและเท้าขณะที่เกิดตะคริวอาจช่วยลดความเจ็บและช่วยให้ตะคริวหายได้ โดยให้คุณแม่นั่งเหยียดขาออกไปให้มากที่สุด และกระดกปลายเท้าขึ้นค้างไว้ประมาณ 20–30 วินาทีโดยไม่เกร็งนิ้วเท้า เพราะจะยิ่งทำให้กล้ามเนื้อหดตัวและรู้สึกเจ็บมากขึ้น อาการตะคริวจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง

คุณแม่ควรบริหารกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการเป็นตะคริว โดยเฉพาะช่วงก่อนนอน โดยยืนห่างจากกำแพงประมาณ 1 ช่วงแขน วางเท้าขวาไว้หลังเท้าซ้ายเล็กน้อย เอนตัวไปข้างหน้าให้มือแตะกำแพง ยืดหลังให้ตรง ดันสะโพกไปด้านหน้าเล็กน้อย และหายใจเข้าลึก ๆ ทำค้างไว้ประมาณ 30 วินาที แล้วทำซ้ำโดยสลับข้าง

หลังจากยืดกล้ามเนื้อเสร็จ ควรนวดกล้ามเนื้อเบา ๆ ลุกขึ้นเดินไปรอบ ๆ ประมาณ 2–3 นาที และประคบร้อนบริเวณเท้าหรือน่องเพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ โดยระวังไม่ให้อุณหภูมิสูงจนทำให้รู้สึกแสบร้อนผิว 

หมั่นเคลื่อนไหวร่างกาย

การยืนหรือนั่งท่าเดิมเป็นเวลานานเป็นสาเหตุที่อาจทำให้คนท้องเป็นตะคริว จึงไม่ควรนั่งไขว้ขา และควรลุกขึ้นเดินเปลี่ยนอิริยาบถทุก 1–2 ชั่วโมง คุณแม่ควรออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น เดิน โยคะ หรือว่ายน้ำตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งจะช่วยควบคุมน้ำหนักตัว กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และป้องกันการเกิดตะคริว

ดื่มน้ำให้เพียงพอ

คุณแม่ควรดื่มน้ำสะอาดวันละ 6–8 แก้ว ปริมาณแก้วละ 240 มิลลิตร ซึ่งจะช่วยกำจัดของเสียในร่างกาย ช่วยในการสร้างเซลล์และลำเลียงสารอาหารเข้าสู่กระแสเลือด หากดื่มน้ำไม่เพียงพอจะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจทำให้คนท้องเป็นตะคริวได้ 

รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและแมกนีเซียม

แคลเซียมและแมกนีเซียมมีส่วนช่วยป้องกันคนท้องเป็นตะคริว รวมทั้งมีประโยชน์ต่อสุขภาพคุณแม่และลูกน้อย โดยช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของทารก และแมกนีเซียมมีส่วนช่วยในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ 

แคลเซียมพบในนมและปลาเล็กปลาน้อย แมกนีเซียมพบมากในถั่ว ธัญพืช และผักใบเขียว ทั้งนี้ หากคุณแม่ต้องการรับประทานอาหารเสริมเพื่อให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุเหล่านี้อย่างเพียงพอ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

สวมถุงน่องซัพพอร์ตและเลือกรองเท้าให้เหมาะสม

สวมถุงเท้าหรือถุงน่อง (Stockings) เพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ลดอาการบวม ป้องกันการเกิดตะคริว เส้นเลือดขอด และลิ่มเลือดอุดตันที่ขา และสวมรองเท้าที่สวมใส่สบายและมีขนาดพอดีกับเท้า ไม่คับหรือหลวมเกินไป และหลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าที่ไม่มีสายรัดด้านหลัง เนื่องจากรองเท้าอาจหลุดระหว่างเดินและอาจทำให้สะดุดหรือหกล้มได้

คนท้องเป็นตะคริวเป็นอาการที่พบได้บ่อย ซึ่งอาจทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บและตึงกล้ามเนื้อ โดยทั่วไปตะคริวจะหายได้เองภายในเวลาสั้น ๆ แต่หากเป็นตะคริวบ่อย รู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรง ขาบวมแดง หรือจับดูแล้วรู้สึกอุ่นบริเวณที่เป็น อาจเป็นสัญญาณของลิ่มเลือดอุดตันที่ควรไปพบแพทย์ทันที