เป็นตะคริวบ่อย รู้จัก 7 สาเหตุ และวิธีรับมือ

ตะคริว เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็งอย่างฉับพลัน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ที่เป็นตะคริวเกิดอาการปวดอย่างรุนแรง โดยภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่กลุ่มผู้ที่เสี่ยงเป็นตะคริวบ่อยกว่าปกติก็เช่น นักกีฬา ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีภาวะอ้วน และเด็กทารก

ตะคริวเป็นภาวะที่พบได้ค่อนข้างบ่อย โดยภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย แต่ที่พบได้มากมักจะเป็นบริเวณน่องและเท้า ซึ่งในบางครั้งภาวะนี้อาจเกิดขึ้นขณะหลับจนผู้ที่มีอาการต้องตื่นขึ้นมาจากอาการปวดได้ ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่แล้วภาวะนี้มักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและมักหายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องทำการรักษาใด ๆ

เป็นตะคริวบ่อย

สาเหตุที่อาจทำให้เป็นตะคริวบ่อย

ปัญหาเป็นตะคริวบ่อยสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยตัวอย่างสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ก็เช่น

1. ภาวะขาดน้ำ

ภาวะขาดน้ำเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งอาจเกิดได้จากทั้งการดื่มน้ำไม่เพียงพอ หรือการจากการที่ร่างกายสูญเสียน้ำในปริมาณมาก เช่น เสียเหงื่อมาก มีอาการอาเจียนหรือท้องเสีย หรือการใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลให้ร่างกายต้องปัสสาวะมากขึ้น

โดยอาการของผู้ป่วยในกลุ่มนี้ที่มักพบได้ก็เช่น อาการปากแห้ง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย และท้องผูก

2. ระดับแร่ธาตุบางชนิดในร่างกายต่ำ

แร่ธาตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม และโซเดียมล้วนมีความจำเป็นต่อกระบวนการทำงานของกล้ามเนื้อ ดังนั้น เมื่อร่างกายมีระดับแร่ธาตุเหล่านี้ต่ำเกินไป กระบวนการทำงานของกล้ามเนื้อก็อาจมีความผิดปกติ หรือเกิดเป็นตะคริวบ่อย ๆ ได้

โดยสาเหตุที่อาจนำไปสู่การขาดแร่ธาตุเหล่านี้ก็เช่น การรับประทานอาหารที่มีแร่ธาตุเหล่านี้ไม่เพียงพอ การขาดน้ำ อาการอาเจียนหรือท้องเสีย หรือการรับประทานยาที่ส่งผลให้ร่างกายมีการขับปัสสาวะมากขึ้น

3. สภาพอากาศร้อน

การอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนจัดถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดตะคริวได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการเกิดภาวะตะคริวแดด (Heat Cramps) จากการที่ร่างกายมีอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น หรือแม้แต่การสูญเสียน้ำและแร่ธาตุไปกับเหงื่อ 

4. ระบบไหลเวียนเลือดในร่างกายมีปัญหา

การที่อวัยวะต่าง ๆ มีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงไม่เพียงพอ เช่น อาจจะเกิดจากการที่หลอดเลือดมีภาวะตีบแคบ ก็ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นตะคริวบ่อยได้

5. การออกกำลังกายที่หนักจนเกินไป

แม้การออกกำลังกายจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่การออกกำลังกายหรือการใช้กล้ามเนื้อที่หนักจนเกินไป โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่ไม่ได้มีการอบอุ่นร่างกาย (Warm Up) ก่อน หรือไม่ได้มีการยืดกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย ก็อาจส่งผลให้เกิดตะคริวได้เช่นกัน

6. ประจำเดือน

ในช่วงที่ร่างกายมีประจำเดือนถือเป็นหนึ่งในช่วงที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดตะคริวได้มาก เนื่องจากในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนบางชนิดที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณมดลูกเกิดการหดตัวออกมาเพื่อช่วยขับเลือด แต่ในบางครั้ง ฮอร์โมนชนิดนี้ก็อาจส่งผลให้ร่างกายเกิดตะคริวได้เช่นกัน

7. โรคหรือภาวะผิดปกติบางชนิด

ในบางคน การเป็นตะคริวบ่อยก็อาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติทางร่างกายได้เช่นกัน โดยตัวอย่างโรคหรือภาวะผิดปกติที่อาจเกี่ยวข้องก็เช่น

  • โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) โรคนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการที่หลอดเลือดแดงของผู้ป่วยเกิดการแข็งตัวจากการที่มีคราบไขมันไปเกาะตัวสะสม
  • ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) ภาวะนี้เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
  • ไตวาย (Kidney Failure) ไตวายเป็นภาวะที่ประสิทธิภาพในการกรองของเสียในเลือดของไตลดลง
  • เส้นประสาทในกระดูกสันหลังได้รับแรงกดทับ
  • โรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism)

ทั้งนี้ โรคหรือภาวะผิดปกติที่ได้ยกตัวอย่างไปเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งในบางครั้ง ปัญหาเป็นตะคริวบ่อยก็อาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น อย่างที่อาจพบได้ก็เช่น ความเครียด ภาวะน้ำหนักตัวเกิน การอยู่ในท่าทางบางอย่างที่นานเกินไป หรือในบางกรณีก็อาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุเช่นกัน

รับมือกับปัญหาเป็นตะคริวบ่อยอย่างไรดี

โดยส่วนใหญ่แล้ว ปัญหาเป็นตะคริวบ่อยมักไม่ส่งผลให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาและมักหายได้เอง แต่ในเบื้องต้นผู้ที่มีปัญหานี้ก็อาจลองนำวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้ได้

  • ประคบร้อนหรือเย็นบริเวณที่ปวด
  • หมั่นยืดกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นตะคริวบ่อย โดยเฉพาะก่อนและหลังที่ต้องทำกิจกรรมที่ต้องใช้กล้ามเนื้อและช่วงก่อนนอน
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ หรือประมาณ 6–8 แก้ว/วัน แต่พยายามหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายบ่อย ๆ แต่ให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในสถานที่ที่ร้อนจัด และที่สำคัญ ควรอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกาย และคูลดาวน์ (Cool Down) หลังออกกำลังกายเสมอ
  • รับประทานอาหารให้หลากหลาย โดยเฉพาะอาหารประเภทผักและผลไม้ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารและแร่ธาตุจำเป็นที่ครบถ้วน
  • หลีกเลี่ยงการใส่ส้นสูง 

ทั้งนี้ แม้โดยส่วนใหญ่ ตะคริวจะเป็นปัญหาที่ไม่รุนแรง แต่หากเป็นตะคริวบ่อยจนเริ่มส่งผลกระทบต่อการนอน เป็นบ่อยผิดปกติ ปวดรุนแรง ตะคริวเกิดหลังจากร่างกายถูกสารพิษใด ๆ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ขาชา ขาบวม เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่ผิวหนัง เกิดตะคริวทั่วร่างกาย หรือเป็นตะคริวนานผิดปกติ ในกรณีนี้ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ