กำหนดคลอด เรื่องสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพครรภ์ที่ต้องรู้

กำหนดคลอด นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับสตรีมีครรภ์ โดยทั่วไปแล้ว กำหนดคลอดทารกสามารถคำนวณได้ โดยแพทย์ต้องคำนวณวันคลอดให้แม่นยำที่สุด เพื่อจะได้ให้ผู้ตั้งครรภ์เข้ารับการตรวจที่จำเป็นได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งยังช่วยให้ตรวจดูพัฒนาการทารกในครรภ์ว่ามีการเจริญเติบโตที่ปกติหรือไม่ เพื่อช่วยให้ผู้ตั้งครรภ์เตรียมตัวในช่วงใกล้คลอดได้อย่างเหมาะสม

กำหนดคลอด

รู้กำหนดคลอดได้อย่างไร ?

โดยทั่วไปแล้ว การตั้งครรภ์จะมีระยะเวลาประมาณ 38-42 สัปดาห์ ผู้ที่ต้องการรู้กำหนดคลอดของตนเองสามารถคาดการณ์วันคลอดทารกได้ ดังนี้

  • คำนวณกำหนดคลอด วิธีคำนวณกำหนดคลอดนั้นให้เริ่มนับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายก่อนตั้งครรภ์ (Last Menstrual Period: LMP) โดยนับเพิ่มไปอีก 280 วัน ซึ่งเป็นจำนวนวันที่เท่ากับ 40 สัปดาห์ ก็จะได้กำหนดคลอดของตนเอง เช่น หากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายคือวันที่ 1 กันยายน ให้เริ่มนับจากวันดังกล่าวไปอีก 280 วัน ก็จะได้กำหนดคลอดซึ่งตรงกับวันที่ 7 มิถุนายนของปีถัดไป อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ใช้ได้กับผู้ที่มีช่วงรอบเดือนมาตรงครบ 28 วันทุกครั้ง ผู้ตั้งครรภ์บางรายจึงอาจคลอดช้ากว่ากำหนดในกรณีที่มีช่วงรอบเดือนนานกว่า 28 วัน หรือคลอดเร็วกว่ากำหนดในกรณีที่มีช่วงรอบเดือนสั้นกว่า 28 วัน ทั้งนี้ ผู้ตั้งครรภ์อาจจำวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายไม่ได้หรือไม่แน่ใจว่าเริ่มตั้งครรภ์เมื่อไหร่ จึงส่งผลให้คำนวณวันคลอดคลาดเคลื่อน โดยเฉพาะผู้ที่ตั้งครรภ์ทันทีหลังหยุดรับประทานยาคุมกำเนิด 
  • อัลตราซาวด์ช่องท้อง (Sonogram) วิธีนี้ช่วยให้คำนวณกำหนดคลอดได้ตรงกว่า โดยผู้ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจตั้งแต่ครรภ์อ่อน ๆ หรือเริ่มตั้งครรภ์ เพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำมากขึ้น แพทย์จะทำอัลตราซาวด์ช่องท้องให้แก่ผู้ตั้งครรภ์ เพื่อวัดความยาวลำตัวของทารกและขนาดของถุงน้ำที่หุ้มทารก หากผลตรวจที่ได้ไม่สัมพันธ์กับวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายตามที่คาดการณ์ไว้ แพทย์อาจปรับกำหนดคลอดของผู้ตั้งครรภ์ให้ใกล้เคียงและแม่นยำที่สุด

อย่างไรก็ตาม ผู้ตั้งครรภ์อาจไม่ได้คลอดบุตรตรงตามกำหนดคลอดที่แพทย์ระบุเสมอไป เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อการคลอด การคาดการณ์กำหนดคลอดที่ใกล้เคียงอีกวิธีหนึ่งคือการประเมินประวัติการคลอดที่ผ่านมา ผู้ที่เคยมีบุตรมีแนวโน้มจะมีกำหนดคลอดที่เหมือนกับการคลอดบุตรคนที่ผ่านมา ส่วนผู้ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรกอาจพิจารณาจากกำหนดคลอดของแม่ตนเองเป็นหลัก เช่น หากแม่ของผู้ตั้งครรภ์เคยคลอดบุตรหลังผ่านกำหนดคลอดไปแล้ว 1 สัปดาห์ ผู้ตั้งครรภ์ก็มีแนวโน้มที่จะคลอดบุตรหลังผ่านกำหนดคลอดตามคาดการณ์ไปแล้ว 1 สัปดาห์

กำหนดคลอดแม่นยำแค่ไหน ?

ผู้ตั้งครรภ์จะคลอดบุตรตรงตามกำหนดคลอดที่คาดการณ์แตกต่างกันไป โดยทั่วไปแล้ว ผู้ตั้งครรภ์ร้อยละ 80 จะคลอดบุตรเมื่ออายุครรภ์ระหว่าง 37-42 สัปดาห์ ส่วนผู้ตั้งครรภ์ร้อยละ 11 จะคลอดบุตรก่อนกำหนด โดยยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้ผู้ตั้งครรภ์บางรายคลอดบุตรก่อนกำหนดอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นไปได้นั้นอาจเกี่ยวเนื่องกับภาวะสุขภาพหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์แฝด รูปร่างมดลูกที่ผิดปกติ ภาวะคลอดก่อนกำหนด หรือการติดเชื้อบางอย่าง เช่น ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ทั้งนี้ รูปร่างของผู้ตั้งครรภ์ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้คลอดเร็วกว่ากำหนด โดยผู้ที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 50 กิโลกรัม เสี่ยงคลอดบุตรก่อนกำหนดได้สูง

หากคลอดช้ากว่ากำหนดคลอดจะเกิดอะไรขึ้น ?

การตั้งครรภ์ปกตินั้นมักใช้เวลาอุ้มท้องทารกประมาณ 38-42 สัปดาห์ เมื่อครบกำหนดดังกล่าว จึงจะคลอดทารกออกมา ผู้ตั้งครรภ์ที่ใช้เวลาอุ้มท้องนานกว่า 42 สัปดาห์นั้น ถือว่าตั้งครรภ์เกินกำหนด (Post-Term Pregnancy) โดยผู้ที่ตั้งครรภ์เกินกำหนดคลอดมา 1 สัปดาห์ จะได้รับการตรวจดังนี้

  • Nonstress Test แพทย์จะตรวจประเมินสุขภาพทารก เพื่อดูว่าการเคลื่อนไหวของทารกส่งผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจทารกอย่างไร
  • อัลตราซาวด์ แพทย์จะทำอัลตราซาวด์ เพื่อดูระดับน้ำคร่ำรอบตัวทารก ท่าทาง และระดับการเคลื่อนไหวของทารก หากผู้ตั้งครรภ์รู้สึกว่าทารกในครรภ์ดิ้นหรือเคลื่อนไหวน้อยลงควรแจ้งแพทย์ทันที
  • ตรวจปากมดลูก ผู้ตั้งครรภ์ที่อุ้มท้องนานเกินกำหนดจะได้รับการตรวจปากมดลูก เพื่อดูว่าปากมดลูกอ่อนลงและเปิดออกสำหรับคลอดทารกหรือไม่

นอกจากนี้ ผู้ที่ตั้งครรภ์เกินกำหนดอาจเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ  เช่น คุณภาพของรกเสื่อมลง ระดับน้ำคร่ำลดลง หรือทารกถ่ายอุจจาระออกมา เรียกว่าขี้เทา (Meconium) โดยทารกจะฝึกหายใจและสูดเอาอุจจาระนั้นเข้าไปในปอด ส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการคลอดช้ากว่ากำหนด นอกจากนี้ ทารกในครรภ์จะโตขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ผู้ตั้งครรภ์เสี่ยงผ่าคลอด แพทย์จึงต้องทำการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด (Induction of Labor) เมื่อตั้งครรภ์ครบ 42 สัปดาห์ ซึ่งทำได้ ดังนี้

  • ใช้ยาหรืออุปกรณ์พิเศษสำหรับช่วยให้ปากมดลูกนุ่มขึ้นและเปิดออก
  • เจาะถุงน้ำคร่ำให้แตก โดยผู้ตั้งครรภ์จะรู้สึกว่ามีของเหลวหรือน้ำไหลออกมาเมื่อถุงน้ำคร่ำแตก แต่จะไม่รู้สึกเจ็บปวดใด ๆ
  • เซาะแยกถุงน้ำคร่ำ โดยแพทย์จะสวมถุงมือและแยกถุงน้ำคร่ำออกจากเยื่อบุมดลูก ผู้ตั้งครรภ์อาจรู้สึกไม่สบายท้องหรือปวดบีบ โดยการเซาะแยกถุงน้ำคร่ำจะช่วยให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่ช่วยให้เจ็บครรภ์สำหรับคลอดออกมา
  • ฉีดยาออกซิโทซิน เข้าทางเส้นเลือด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบีบตัวของมดลูกอย่างสม่ำเสมอมากขึ้น โดยยาจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 1-2 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม การชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดไม่ใช่วิธีรักษาที่เหมาะกับผู้ตั้งครรภ์เกินกำหนดทุกราย โดยผู้ตั้งครรภ์ที่เคยเข้ารับการผ่าคลอด หรือผ่าตัดมดลูก อาจส่งผลให้เกิดภาวะรกเกาะต่ำ รวมทั้งทำให้ทารกหันก้นหรือหันด้านข้างออกมาตอนคลอด ทั้งนี้ ผู้ตั้งครรภ์เสี่ยงได้รับผลกระทบต่าง ๆ ดังนี้

  • การชักนำล้มเหลว ผู้ที่ตั้งครรภ์ครั้งแรกและเข้ารับการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดร้อยละ 75 จะคลอดบุตรออกมาได้ตามปกติ ส่วนผู้ตั้งครรภ์อีกร้อยละ 25 ต้องเข้ารับการผ่าคลอด เนื่องจากปากมดลูกไม่เปิด
  • อัตราหัวใจลดลง ทารกในครรภ์อาจมีอัตราการเต้นของหัวใจลดลง เนื่องจากยาที่ใช้ชักนำให้เจ็บครรภ์นั้น ก่อให้เกิดการหดรัดตัวของมดลูกมากเกินไป ส่งผลให้ทารกได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
  • ติดเชื้อ วิธีการชักนำให้เจ็บครรภ์บางอย่างทำให้ผู้ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์เสี่ยงติดเชื้อได้ เช่น วิธีเซาะแยกถุงน้ำคร่ำ
  • มดลูกแตก ภาวะนี้เกิดจากแผลผ่าคลอดหรือผ่าตัดตรงมดลูกฉีกออก จัดเป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่พบได้ไม่บ่อยนัก จำเป็นต้องผ่าคลอดด่วน โดยอาจต้องผ่าตัดนำมดลูกออกไป เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต
  • เลือดออกหลังคลอด การชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดทำให้เสี่ยงเกิดภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอด โดยกล้ามเนื้อมดลูกบีบตัวได้ไม่ดี ส่งผลให้เลือดออกหลังคลอดอย่างรุนแรง