การติดเชื้อบริเวณขอบเล็บ (Paronychia)

ความหมาย การติดเชื้อบริเวณขอบเล็บ (Paronychia)

Paronychia คือ การติดเชื้อบริเวณขอบเล็บหรือบริเวณผิวหนังรอบเล็บ ส่งผลให้เกิดรอยแดง แผลพุพอง มีหนองอยู่ด้านในเล็บและใต้ผิวหนัง รูปทรงของเล็บเปลี่ยนไปหรือเล็บหลุดออกจากฐานเดิม โดยการติดเชื้อดังกล่าวสามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย

การติดเชื้อบริเวณขอบเล็บแบ่งได้ออกเป็น 2 ชนิดคือ การติดเชื้อชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยทั้งสองชนิดมีลักษณะอาการและระยะเวลาการเกิดที่แตกต่างกัน ซึ่งภาวะ Paronychia สามารถรักษาได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ

Paronychia,Index,Finger,Of,His,Left,Hand.

อาการของ Paronychia 

Paronychia แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง

การติดเชื้อบริเวณขอบเล็บชนิดเฉียบพลัน (Acute Paronychia)

อาการของ Paronychia ชนิดนี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงและเกิดการติดเชื้อในระยะเวลาไม่เกิน 6 สัปดาห์ โดยมักเกิดที่ผิวหนังบริเวณโคนเล็บของเล็บใดเล็บหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บ บวมแดง มีหนองสีเหลืองใต้ผิวหนังชั้นนอกสุดและอาจกลายเป็นฝีได้ เกิดร่องระหว่างเล็บและผิวหนัง นอกจากนี้ ผู้ป่วย Paronychia อาจมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ (Lymphangitis) และต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย เนื่องจากติดเชื้อ Streptococcus Pyogenes

การติดเชื้อบริเวณขอบเล็บชนิดเรื้อรัง (Chronic Paronychia)

การติดเชื้อบริเวณขอบเล็บชนิดเรื้อรังเป็นการติดเชื้อที่อยู่นานกว่า 6 สัปดาห์ อาการจะค่อย ๆ เกิดขึ้นโดยอาจเริ่มจากโคนเล็บของนิ้วใดนิ้วหนึ่ง ก่อนจะแพร่กระจายไปยังเล็บอื่น ซึ่งเล็บที่ติดเชื้อจะเกิดอาการบวมบริเวณโคนเล็บ และเกิดร่องระหว่างเล็บและผิวหนัง หากเชื้อกระจายไปยังผิวหนังบริเวณอื่นอาจทำให้เกิดการอักเสบ ระคายเคือง มีรอยแดง มีอาการกดเจ็บ และมีหนองสีเหลือง ขาว หรือเขียวในบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้ เล็บของผู้ป่วยจะหนา แข็ง บิดเบี้ยวและมักจะยกนูนขึ้น ผู้ป่วยอาจมีอาการของ

ทั้งนี้ หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2–3 วัน เกิดฝีบริเวณด้านข้างหรือโคนเล็บ เป็นรอยสีแดงรอบเล็บ เล็บเปลี่ยนสี ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ และมีไข้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

สาเหตุของ Paronychia 

Paronychia อาจมีสาเหตุของการติดเชื้อที่แตกต่างกัน โดยชนิดเฉียบพลันอาจเกิดจากแบคทีเรียเข้าสู่เล็บผ่านแผลเปิดจากการได้รับบาดเจ็บหรือการระคายเคือง เช่น

  • การกัดเล็บ แกะเล็บ
  • การดูดนิ้วที่พบในทารกและเด็กเล็ก
  • การทำเล็บบ่อยเกินไป และการใส่เล็บปลอม
  • การรับประทานยาเรตินอยด์
  • การใช้ยาชนิดต่าง ๆ อย่าง อีพิเดอร์มัล (Epidermal) โกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) หรือยาดาบราฟินิบ (Dabrafenib)

ส่วน Paronychia ชนิดเรื้อรัง แพทย์ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มักพบในผู้ป่วยที่มีโรคผิวหนังอักเสบ อย่างโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) และผู้ป่วยที่ติดเชื้อเรื้อรัง โดยเชื้อโรคที่มักพบว่าเป็นต้นเหตุ คือ เชื้อแคนดิดา (Candida Yeast) แบคทีเรียกลุ่มแกรมลบ (Gram Negative Bacilli) และเชื้อซูโดโมแนส (Pseudomonas)

นอกจากนี้ การใช้ยาบางชนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อบริเวณขอบเล็บชนิดเรื้อรัง และผู้ที่มีปัญหาระบบไหลเวียนเลือดไม่ดีอาจเสี่ยงต่อการเกิด Paronychia ชนิดเรื้อรังได้สูงกว่าคนทั่วไป เช่นเดียวกับกลุ่มคนที่ทำอาชีพที่มือและเท้าต้องสัมผัสแช่หรือสัมผัสกับน้ำนานเกินไปอาจมีความเสี่ยงของภาวะดังกล่าวเช่นเดียวกัน ได้แก่ พนักงานทำความสะอาด ชาวประมง ผู้เลี้ยงโคนม และบาร์เทนเดอร์

การวินิจฉัย Paronychia 

แพทย์จะวินิจฉัยภาวะ Paronychia ได้จากการตรวจร่างกายและความผิดปกติบริเวณขอบเล็บ บางกรณีอาจตรวจเพิ่มเติมในห้องปฏิบัติการเพื่อหาสาเหตุของการติดเชื้อด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • การย้อมสีแกรม (Gram Staining) เพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย
  • การตรวจหาเชื้อราโดยวิธีโปแตสเซียมไฮดรอกไซด์ (Potassium Hydroxide)
  • การเพาะเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Culture)
  • การเก็บเชื้อไวรัส (Viral Swabs)
  • แซ๊งสเมียร์ (Tzanck smears) โดยการตรวจดูรอยโรค
  • การเพาะเชื้อที่ได้จากการตัดเล็บ (Nail Clippings For Culture)

การรักษา Paronychia 

แพทย์จะรักษา Paronychia ตามความรุนแรงของอาการและชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุ ร่วมกับการแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตนเองควบคู่ไปด้วย ดังนี้

การติดเชื้อบริเวณขอบเล็บชนิดเฉียบพลัน 

ผู้ป่วยที่มีอาการของชนิดเฉียบพลันอาจสามารถรักษาได้หลายวิธี เช่น

  • แช่นิ้วในน้ำอุ่นหลาย ๆ ครั้งเป็นประจำทุกวัน
  • ใช้ยาทาฆ่าเชื้อเฉพาะที่ (Topical Antiseptic) ในผู้ที่ติดเชื้อไม่รุนแรง
  • รับประทานยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียมานาน โดยแพทย์จะสั่งจ่ายยาชนิดต่าง ๆ เช่น ยากลุ่มเตตราไซคลีน (Tetracyclines) หรือยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) หากผู้ป่วยติดเชื้อเอชเอสวี (Herpes Simplex Virus: HSV) อย่างรุนแรง
  • ผ่าตัดและระบายหนองในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นฝี โดยแพทย์จะฉีดหรือทายาชาบริเวณดังกล่าวแล้วจึงเริ่มการผ่าตัด เมื่อระบายหนองเสร็จแล้วแพทย์จะทำความสะอาดและปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ บางกรณีแพทย์อาจจำเป็นต้องถอดเล็บออก

การติดเชื้อบริเวณขอบเล็บชนิดเรื้อรัง (Chronic Paronychia)

การรักษาอาการติดเชื้อขอบเล็บชนิดเรื้อรังจะเน้นไปที่การลดการอักเสบของผิวหนังและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคแต่ละชนิด แพทย์อาจแนะนำผู้ป่วยให้ใช้ยาทาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตเชื้อโรค อย่างยาฆ่าเชื้อ (Antiseptics) หรือยาต้านเชื้อรา (Antifungal) ติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน

ในผู้ที่แพทย์วินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อ C. albicans อาจต้องใช้ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทานเพื่อบรรเทาอาการอักเสบ โดยแพทย์อาจสั่งจ่ายยาทาเฉพาะจุดในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ให้ผู้ป่วยใช้เป็นเวลาประมาณ 2–4 สัปดาห์และทาซ้ำในบริเวณที่มีผื่นแดง หากอาการผิวหนังอักเสบไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น ๆ แพทย์อาจะแนะนำให้ใช้ยาทาโครลิมัส (Tacrolimus) ชนิดทา และหากเชื้อดื้อยาอาจใช้วิธีฉีดสเตียรอยด์ (Intralesional Steroid Injection) เพื่อต้านการอักเสบ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการของการติดเชื้อชนิดเรื้อรังควรดูแลตนเองควบคู่กับการรักษาตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ดูแลมือให้อุ่นและแห้งอยู่เสมอ
  • สวมถุงมือเมื่อสัมผัสกับน้ำหรือของเหลวเป็นเวลานาน
  • รักษาความสะอาดบริเวณเล็บทุกซอกมุมด้วยการล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ หลังจากล้างมือควรซับมือให้แห้งทุกครั้ง
  • ทาผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นหรือครีมทามือเป็นประจำ

นอกจากนี้ แพทย์อาจปรับหรือเพิ่มขั้นตอนการรักษาในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพอื่นหรือเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง เช่น หากผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานและโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด แพทย์จะตรวจหาภาวะเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) บริเวณนิ้วเท้าร่วมด้วย หากผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อลุกลาม แพทย์อาจผ่าตัดเปิดผิวหนังรอบ ๆ โคนเล็บเพื่อนำเนื้อเยื่อที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อออก บางกรณี แพทย์อาจใช้การผ่าตัด Swiss Roll Technique เพื่อช่วยให้ผิวหนังและเนื้อเยื่อบริเวณโคนเล็บฟื้นฟูได้เร็วขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของ Paronychia 

Paronychia ชนิดเฉียบพลันอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงและกระจายไปยังเส้นเอ็น หากพบว่าการติดเชื้อมีความรุนแรงมากขึ้นควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา ในขณะที่ Paronychia ชนิดเรื้อรังอาจทำให้เล็บอ่อนแอ เปราะหักง่าย และผิดรูป เช่น เล็บขรุขระ หนาขึ้น เล็บเปลี่ยนเป็นสีเขียว ดำ หรือเหลือง และเมื่อเล็บยาวขึ้น ลักษณะของเล็บจะกลับมาเป็นปกติ โดยอาจใช้เวลามากกว่า 1 ปี

การป้องกัน Paronychia

ภาวะ Paronychia ป้องกันได้ด้วยการดูแลรักษามือและเท้าให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ไม่ควรกัดเล็บหรือแกะผิวหนังบริเวณรอบ ๆ เล็บ ไม่ตัดผิวหนังบริเวณโคนเล็บ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้ำที่ปนเปื้อนสิ่งสกปรกและสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองหรืออาการแพ้บริเวณผิวหนัง