กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

ความหมาย กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบที่กล้ามเนื้อหัวใจ (Myocardium) ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก และอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ส่วนมากมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส แต่บางกรณีอาจเป็นผลกระทบจากการใช้ยาบางชนิด ปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน หรือการอักเสบอื่น ๆ ในร่างกาย 

โดยปกติ ชั้นกล้ามเนื้อของผนังหัวใจจะสูบฉีดเลือดเข้าและออกจากหัวใจด้วยการหดตัวและคลายตัว เพื่อไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจะทำให้ความสามารถในการสูบฉีดเลือดของหัวใจลดลง ในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดการอุดตันของลิ่มเลือดในหัวใจที่อาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจล้มเหลว และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

การอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจอาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัยโดยไม่แสดงอาการใด ๆ หรืออาจมีอาการไม่รุนแรง อย่างอาการเจ็บหน้าอกหรือหายใจได้สั้นลง แต่หากอาการรุนแรงขึ้นพบอาจความผิดปกติอื่น ๆ แตกต่างกันไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าว โดยอาการที่อาจพบได้มีดังนี้

  • เจ็บหน้าอก
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • หายใจได้สั้นลง ทั้งขณะหยุดพักและขณะทำกิจกรรม
  • มีอาการบวมบริเวณขา เท้า และข้อเท้า
  • อ่อนแรง
  • มีอาการอื่น ๆ ที่แสดงถึงการติดเชื้อไวรัส เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกายและข้อ มีไข้ เจ็บคอ หรือท้องเสีย เป็นต้น

นอกจากนี้ อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอื่น ๆ ที่อาจพบได้ในเด็ก คือ มีไข้ เซื่องซึม หายใจลำบาก หายใจหอบถี่ หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ หากเป็นเด็กเล็กอาจพบอาการดูดนมได้ช้าหรือน้อยลง ร้องกวน กระวนกระวาย ตัวซีด มีเหงื่อออกมากผิดปกติ หรืออาจตัวเขียวในบางราย สำหรับเด็กโตอาจมีอาการซึม เบื่ออาหาร อาจปวดท้อง อาเจียน และตัวเย็น ผู้ปกครองจึงต้องหมั่นสังเกตเด็กอย่างละเอียด เพราะเด็กเป็นวัยที่สื่อสารได้ลำบาก

ในบางกรณีอาการอักเสบบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจอาจดีขึ้นได้เองโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา และอาจไม่ได้เป็นส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างเฉียบพลัน อย่างไรก็ตาม ความผิดปกติดังกล่าวจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเสียหายและค่อย ๆ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้เมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติใด ๆ ที่แสดงถึงโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยเฉพาะอาการเจ็บหน้าอกและหายใจลำบาก ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เคยมีอาการติดเชื้อควรหมั่นสังเกตอาการและแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการของโรคนี้เกิดขึ้น หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์ทันที

สาเหตุของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

การอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจนั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด หากเป็นกรณีที่ทราบสาเหตุมักเกิดจากการติดเชื้อบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ โดยพบได้บ่อยจากการติดเชื้อไวรัส แต่บางรายอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราหรือปรสิต รวมถึงยังเกิดได้จากการใช้ยา การได้รับสารเคมี หรือโรคบางชนิด

การติดเชื้อไวรัส

การติดเชื้อไวรัสเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจที่พบได้บ่อยมากที่สุด โดยไวรัสที่พบ ได้แก่ ไวรัสอะดีโน (Adenovirus) ที่ทำให้เกิดโรคหวัด ไวรัสคอกซากี กลุ่มบี (Coxsackievirus Group B) ไวรัส HHV-6 (Human Herpes Virus 6) และไวรัส Parvovirus B19 ที่ทำให้เกิดโรคฟิฟธ์ (Fifth Disease)

นอกจากนี้ ไวรัสอื่น ๆ อย่างไวรัสเอคโค (Echovirus) ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระเพาะอาหาร ไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr Virus) ที่ทำให้เกิดโรคโมโนนิวคลีโอซิส ไวรัสรูเบลลา (Rubella Virus) ที่เป็นสาเหตุของโรคหัดเยอรมันและเชื้อ HIV ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเอดส์ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้เช่นกัน

การติดเชื้อแบคทีเรีย 

การติดเชื้อแบคทีเรียสตาฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) ที่เป็นสาเหตุของโรคพุพอง และแบคทีเรียโครินแบคทีเรียมดิฟทีเรีย (Corynebacterium Diptheriae) ที่ทำให้เกิดโรคคอตีบ หรือการติดเชื้ออย่างเฉียบพลันที่ทำลายต่อมทอนซิลและเยื่อบุลำคอก็อาจทำให้เกิดการอักเสบที่กล้ามเนื้อหัวใจได้

การติดเชื้อปรสิต

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอาจพบได้จากการติดเชื้อปรสิตหลายชนิด เช่น เชื้อทริพพาโนโซมา คูไซ (Trypanosoma Cruzi) เชื้อท็อกโซพลาสมา (Toxoplasma) หรือเชื้อปรสิตอื่น ๆ ที่มีแมลงเปนพาหะนำโรค และทำให้เกิดโรคชากาส (Chagas Disease) แต่เป็นสาเหตุที่พบได้น้อย เนื่องจากเป็นเชื้อที่พบในแถบอเมริกากลางและใต้ หรืออาจพบในกลุ่มนักเดินทางและนักท่องเที่ยว

การติดเชื้อรา

เชื้อยีสต์หรือเชื้อราก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดการอักเสบได้เช่นกัน โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น เชื้อแคนดิดา (Candida) เชื้อแอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) เชื้อฮิสโตพลาสมา (Histoplasma) ที่พบในมูลสัตว์ปีก

การได้รับยาหรือสารเสพติดบางชนิด

ในบางกรณีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอาจเกิดในผู้ที่ใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง ยาปฏิชีวนะอย่างยาเพนิซิลิน (Penicillin) และยาซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide) ยาต้านอาการชัก หรือยาเสพติดอย่างโคเคน

การได้รับสารพิษหรือสารเคมีบางชนิด

การสัมผัสสารเคมีหรือสารพิษบางชนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงของการอักเสบบริเวณดังกล่าวได้ เช่น

  • การได้รับแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์หรือสารตะกั่ว
  • การได้รับรังสีหรือการทำเคมีบำบัด
  • การได้รับสารพิษจากแมลงหรือสัตว์กัดต่อย เช่น งู แมงมุม ผึ้ง หรือต่อ เป็นต้น
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

โรคประจำตัวของผู้ป่วย

โรคหรือภาวะความผิดปกติของผู้ป่วยอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจได้ โดยอาจเกิดจากภาวะความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นภายในร่างกาย อย่างโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคโรคทากายาสุ (Takayasu’s Arteritis) หรือโรคที่มีการอักเสบของหลอดเลือดขนาดเล็กที่เรียกว่า Wegener's Granulomatosis เป็นต้น

การวินิจฉัยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอาจวินิจฉัยได้ยาก แต่หากได้รับการตรวจวินิจฉัยเร็วอาจช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อหัวใจในระยะยาวได้ ในเบื้องต้นแพทย์อาจสอบถามอาการ โรคประจำตัว ประวัติทางการแพทย์ และตรวจร่างกายเบื้องต้น ในบางกรณีแพทย์อาจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง หรือหลายวิธีร่วมกันขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น ดังนี้

  • การตรวจเลือด เพื่อตรวจหาสาเหตุของการอักเสบหรือติดเชื้อ เช่น ตรวจนับจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว ตรวจวัดระดับเอนไซม์ที่บ่งบอกถึงความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ และตรวจจับแอนติบอดี้ที่มีหน้าที่ต่อต้านต่อเชื้อไวรัสหรือสิ่งแปลกปลอมอื่นในร่างกาย ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการอักเสบ
  • การเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อตรวจดูขนาดและรูปร่างของหัวใจ รวมทั้งยังใช้ตรวจวัดการสะสมของของเหลวภายในหรือรอบ ๆ หัวใจที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจล้มเหลว
  • การตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG/EKG) เพื่อตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ และตรวจความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ
  • การทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อให้เห็นภาพของรูปร่างและโครงสร้างของหัวใจ และยังใช้ในการตรวจการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ
  • การทำเอคโคหัวใจ (Echocardiogram) เป็นการใช้คลื่นเสียงเพื่อจำลองภาพการทำงานของหัวใจ และความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น ภาวะหัวใจโต การสูบฉีดเลือดที่ผิดปกติ ปัญหาเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ การอุดตันภายในหัวใจหรือมีของเหลวในเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นต้น
  • การสวนหัวใจ (Cardiac Catheterization) และตรวจตัวอย่างกล้ามเนื้อหัวใจ (Endomyocardial Biopsy) เป็นการสอดสายสวนขนาดเล็กทางหลอดเลือดดำบริเวณขาหรือลำคอ ซึ่งสายสวนดังกล่าวจะผ่านเข้าไปยังหัวใจ ในบางกรณีแพทย์อาจใช้เครื่องมือพิเศษในการตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อจากกล้ามเนื้อหัวใจเพื่อส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการและนำมาใช้วินิจฉัยอาการอักเสบหรือติดเชื้อ

การรักษากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

การอักเสบบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจอาจดีขึ้นได้เอง หรืออาจดีขึ้นและหายดีได้หลังได้รับการรักษา การรักษาโรคนี้จะเน้นที่การรักษาตามสาเหตุและอาการที่เกิดขึ้น ในกรณีที่อาการไม่รุนแรงนัก ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงมากอย่างน้อย 3-6 เดือน การพักร่างกาย ร่วมกับการใช้ยาจะช่วยให้ร่างกายสามารถฟื้นตัวจากการอักเสบได้โดยอาจไม่ต้องใช้การรักษาด้วยวิธีอื่น 

ยาที่แพทย์อาจใช้ในการรักษากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมีดังนี้

  • ยารักษาโรคหัวใจ ได้แก่ ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitor) ยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blockers) หรือยา ARBs
  • ยาขับปัสสาวะ เพื่อช่วยกำจัดของเหลวส่วนเกินในร่างกาย
  • การฉีดยาทางหลอดเลือดดำ (IV) โดยแพทย์อาจฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการร้ายแรง แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้เครื่องช่วยการไหลเวียนของเลือด การใช้เครื่องพยุงหัวใจและระบบไหลเวียนด้วยบอลลูน หรือการใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO)

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยนอนพักในโรงพยาบาล โดยจะพิจารณาให้ยาหรือการผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจอุดตันจากลิ่มเลือด หรือแพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีปลูกถ่ายหัวใจหากหัวใจได้รับความเสียหายมาก

ในผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเรื้อรังหรือหัวใจได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงอาจต้องรับประทานยาต่อเนื่องไปตลอดชีวิต แต่บางรายอาจรับประทานยาต่อเนื่องประมาณ 2-3 เดือน ควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรม เช่น การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมต่ำและจำกัดปริมาณน้ำ รวมถึงพบแพทย์ตามการนัดหมาย เพื่อติดตามและรักษาอาการดังกล่าว

ภาวะแทรกซ้อนของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

การอักเสบอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อกล้ามเนื้อหัวใจถาวร และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น

  • หัวใจล้มเหลว อาจเกิดขึ้นได้หากผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและไม่ได้รับการรักษา ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้ตามปกติ ในกรณีที่มีอาการร้ายแรงอาจต้องใช้เครื่องช่วยการไหลเวียนของเลือดหรือการปลูกถ่ายหัวใจ
  • หัวใจขาดเลือดหรือโรคหลอดเลือดสมอง หากกล้ามเนื้อหัวใจได้รับความเสียหายจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อาจทำให้เกิดการอุดตันของลิ่มเลือด เมื่อลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงของหัวใจ อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด แต่หากลิ่มเลือดที่หัวใจลอยตามกระแสเลือดและไปอุดตันที่หลอดเลือดสมองก็อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้
  • หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะจากความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ
  • กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอหรือมีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างกล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiomyopathy)
  • เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) เป็นการอักเสบของถุงเยื่อบุรอบหัวใจ
  • หัวใจหยุดเต้น จะเกิดขึ้นเมื่อมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะขั้นรุนแรงจนทำให้หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่รีบทำการรักษา

การป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

แม้จะยังไม่มีวิธีการป้องกันที่แน่ชัด แต่อาจลดความเสี่ยงของการเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจได้ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อไวรัสหรือผู้ที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัด รวมถึงหากตนเองมีอาการป่วยจากเชื้อไวรัสก็ควรหลีกเลี่ยงการติดต่อใกล้ชิดกับผู้อื่นเพื่อลดการแพร่เชื้อเช่นกัน
  • รักษาความสะอาดด้วยการล้างมือบ่อย ๆ และยังช่วยป้องกันการแพร่เชื้อได้
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ HIV หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดทุกชนิด เป็นต้น
  • สวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว รวมถึงใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแมลงเพื่อลดโอกาสในการถูกแมลงหรือสัตว์มีพิษกัดต่อย
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และหัดเยอรมันตามกำหนด เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ