รู้จักกับเครื่อง ECMO เครื่องมือสำคัญกับการพยุงชีวิตผู้ป่วย

ECMO หรือเอคโม่ ย่อมาจาก Extracorporeal Membrane Oxygenation เป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญที่จะใช้เมื่อผู้ป่วยมีอาการรุนแรงในขั้นวิกฤติและต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งเครื่อง ECMO จะช่วยให้ระบบทางเดินหายใจและหัวใจยังคงทำงานโดยการเพิ่มออกซิเจนและกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดก่อนจะคืนเลือดที่ผ่านกระบวนการเรียบร้อยแล้วเข้าสู่ร่างกายตามเดิม

ชนิดของเครื่อง ECMO พื้นฐานสามารถแบ่งรูปแบบได้ตามอวัยวะที่เครื่องช่วยพยุงการทำงาน ได้แก่ เครื่อง VA-ECMO (Venoarterial ECMO) ที่จะช่วยพยุงการทำงานของหัวใจ และเครื่อง VV-ECMO (Venovenous ECMO) ที่ช่วยพยุงการทำงานของปอด

Working,Ecmo,Machine,In,Intensive,Care,Department

ECMO สำคัญอย่างไร

แพทย์อาจใช้ ECMO เป็นเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ เพื่อรักษาผู้ป่วยในกลุ่มโรคหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจและระบบหัวใจและหายใจล้มเหลว โดยตัวอย่างของโรคที่อาจใช้เครื่อง ECMO ในกระบวนการรักษา เช่น

  • โรคปอดอักเสบรุนแรงในทารก
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  • การติดเชื้อที่รุนแรง
  • โรคติดเชื้อไวรัสฮันตา (Hantavirus)
  • โรคหืด
  • ภาวะหัวใจหยุดเต้น
  • ภาวะสูดสำลักขี้เทา (Meconium Aspiration Syndrome: MAS)
  • ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis)
  • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis)
  • ภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน
  • ภาวะตัวเย็นเกินขั้นรุนแรง
  • ภาวะแทรกซ้อนหลังการปลูกถ่ายหัวใจ
  • อาการบาดเจ็บร้ายแรง
  • โรคโควิด-19
  • การผ่าตัดหัวใจ

ECMO มีขั้นตอนการทำงานอย่างไร

ในขั้นตอนแรกของการรักษาด้วยเครื่อง ECMO แพทย์จะสอดท่อขนาดเล็กที่มีความยืดหยุ่น 2 เส้นเข้าไปในหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ทางคอ หน้าอก ต้นขาหรือขา ก่อนที่จะเอกซเรย์เพื่อจัดให้ท่อดังกล่าวอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และระบายเลือดออกจากร่างกายผ่านท่อเส้นที่ 1 เพื่อนำมาเพิ่มปริมาณออกซิเจนจากภายในตัวเครื่อง ECMO จากนั้นเครื่องจะคืนเลือดเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยตามเดิมผ่านท่อเส้นที่ 2

ทั้งนี้ แพทย์จะใช้ยาระงับประสาทในระหว่างที่ใช้เครื่อง ECMO เพื่อให้ผู้ป่วยผ่อนคลายและหลับ ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บอย่างรุนแรงในระหว่างขั้นตอนของการรักษา และผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องใช้ยาเฮพาริน (Heparin) เพื่อป้องกันการแข็งตัวของเลือดในระหว่างการไหลเวียนของเลือดเข้าและออกจากเครื่อง ECMO

ความเสี่ยงจากการรักษาด้วย ECMO

การรักษาด้วยเครื่อง ECMO อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ภาวะตกเลือด ลิ่มเลือดอุดตัน การติดเชื้อในกระแสเลือดจากการสอดท่อเข้าสู่หลอดเลือด ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำหรือระดับออกซิเจนในเลือดมีปริมาณที่ไม่สม่ำเสมอ ไตทำงานผิดปกติ เกิดความผิดปกติทางระบบประสาทจากเครื่อง ECMO ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในสมองโดยเฉพาะในเด็กทารก หัวใจหรือปอดของผู้ป่วยอาจไม่สามารถฟื้นฟูได้ดังเดิม

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการรักษาด้วย ECMO แพทย์จะดูแลอาการและสังเกตการทำงานของปอดและหัวใจอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ระบุภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการรักษาได้อย่างทันท่วงที และหากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแล้ว แพทย์จะทยอยลดปริมาณการฟอกเลือดผ่านเครื่อง ECMO ลงเป็นเวลาประมาณ 2–5 วันก่อนจะถอดท่อและเครื่องออกจากตัวผู้ป่วยออกทั้งหมด และให้ผู้ป่วยพักฟื้นร่างกายต่อไป