กระแดด

ความหมาย กระแดด

Actinic Keratosis หรือแอกทินิก เคอราโทซิส เป็นอาการทางผิวหนังที่พบได้ทั่วไป มักถูกเรียกว่ากระแดดหรือกระผู้สูงวัย โดยผู้ป่วยอาจมีรอยตามผิวหนังบริเวณที่ได้รับแสงแดดเป็นเวลานาน อย่างหนังศีรษะ ใบหน้า ปาก คอ แขน หรือมือ ซึ่งรอยดังกล่าวอาจมีลักษณะเป็นสะเก็ด หยาบกร้าน แห้ง และอาจปรากฏเป็นสีต่าง ๆ เช่น สีน้ำตาล สีชมพู สีเทา หรือสีแทน เป็นต้น โดยความผิดปกตินี้มักเกิดจากเซลล์ผิวหนังเคราติโนไซท์เจริญเติบโตผิดปกติ และหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เป็นโรคมะเร็งผิวหนังชนิดสะความัสเซลล์ได้ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย

อาการของ Actinic Keratosis

ผู้ป่วย Actinic Keratosis ส่วนใหญ่อาจมีรอยบนผิวหนังตามหนังศีรษะ ใบหน้า ปาก หู คอ แขนด้านล่าง และมือ ซึ่งรอยเหล่านี้อาจมีลักษณะหนา เป็นสะเก็ด หรือมีพื้นผิวที่นูนขึ้น และมักมีขนาดเล็กเท่ายางลบที่ก้นดินสอ รวมทั้งอาจมีสีแตกต่างกันออกไป อย่างสีชมพู สีน้ำตาล สีแดง หรือบางครั้งก็อาจมีสีเหมือนกับผิวหนังปกติ ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจมองไม่เห็นรอยดังกล่าวแต่อาจสัมผัสได้ โดยอาจรู้สึกว่ารอยนั้นหยาบกร้านหรือแห้งเมื่อสัมผัสโดน รวมถึงอาจรู้สึกคันหรือแสบร้อนในบริเวณดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีริมฝีปากแตกและแห้งหลังจากตากแดด โดยเฉพาะริมฝีปากล่าง   

2006 Actinic Keratosis rs

สาเหตุของ Actinic Keratosis

สาเหตุหลักของ Actinic Keratosis มาจากการสัมผัสรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดหรือแสงเทียมจากเตียงอาบแดดในปริมาณมากหรือเป็นประจำ ทำให้สารเคมีเคราติโนไซท์ที่อยู่ในเซลล์ผิวเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยสารเคมีชนิดนี้ทำหน้าที่ผลิตโปรตีนเคราตินที่ช่วยสร้างเนื้อเยื่อในเส้นผม เล็บ และผิวหนังชั้นนอก ซึ่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้ขนาด รูปร่าง หรือการทำงานของเคราติโนไซท์เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ กลุ่มคนต่อไปนี้อาจมีความเสี่ยงในการเกิดกระแดดมากกว่าคนทั่วไป

  • มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มวัยกลางคนที่ผิวหนังถูกทำลายจากแสงแดดเป็นเวลานานหลายปี
  • ผู้ที่มีผิวขาว และมีตาสีฟ้า สีเขียว หรือสีอ่อน
  • ผู้ที่มีผมสีแดงหรือสีบลอนด์
  • ผู้ที่ตากแดดเป็นประจำ หรืออาศัยอยู่ในที่ที่มีแดดร้อนจัด
  • ผู้ที่มีแนวโน้มถูกแดดเผาผิวหนังได้ง่าย หรือเคยผิวหนังไหม้มาก่อน
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอเนื่องจากความเจ็บป่วย ยาที่ใช้ในการปลูกถ่ายอวัยวะ การบำบัดภูมิคุ้มกัน การติดเชื้อเอชพีวีหรือติดเชื้อเอดส์ การเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือเคยเป็นโรคมะเร็งผิวหนังหรือกระแดดมาก่อน  

การวินิจฉัย Actinic Keratosis

เมื่อเข้าพบแพทย์ แพทย์อาจตรวจดูตามผิวหนังเพื่อดูว่าผู้ป่วยเป็น Actinic Keratosis หรือไม่ โดยเฉพาะหากตรวจพบสัญญาณที่น่าสงสัยอย่างมีตุ่มนูนหรือมีจุดตามผิวหนังที่เป็นไม่หาย และมีลักษณะ รูปร่าง ขนาด หรือสีที่ผิดปกติ รวมทั้งสัญญาณอาการอื่น ๆ เช่น มีสิวที่เป็นไม่หาย หรือมีปัญหาผิวหนังมีเลือดออกง่าย เป็นต้น ซึ่งแพทย์อาจตัดชิ้นเนื้อบริเวณนั้น ๆ ไปส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อดูว่าเป็นโรคมะเร็งผิวหนังชนิดสะความัสเซลล์ด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ การตัดชิ้นเนื้อเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ทราบได้หากผู้ป่วยเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งผิวหนังชนิดดังกล่าว โดยผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติทางผิวหนัง ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์เป็นประจำด้วย

การรักษา Actinic Keratosis

วิธีการรักษาภาวะนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง จำนวน ขนาด หรือความรุนแรงของรอยผิดปกติ บางกรณีอาจต้องใช้การรักษามากกว่า 1 วิธี และการรักษาจะได้ผลดียิ่งขึ้นหากตรวจพบความผิดปกติแต่เนิ่น ๆ และทำการรักษาตั้งแต่ขั้นแรก ๆ

โดยวิธีรักษา Actinic Keratosis อาจทำได้ ดังนี้

  • การใช้ยาเฉพาะที่ แพทย์อาจให้ใช้ยาทาชนิดครีมหรือเจล เช่น ยาฟลูออโรยูราซิล ยาอิมิควิโมด ยาเอนจีนอลเมบูเทด าไดโคลฟีแนค เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้อาจทำให้ผิวหนังแดง แสบร้อน หรือเป็นเกล็ดเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ได้
  • การฉายแสงโฟโตไดนามิก (Photodynamic Therapy: PDT) โดยทาสารละลายให้ทั่วบริเวณรอยนั้น ๆ และบริเวณที่ได้รับผลกระทบ จากนั้นจะใช้แสงเลเซอร์ความเข้มข้นสูงเพื่อเจาะจงและทำลายเซลล์ผิวหนังบริเวณที่ต้องการรักษา      
  • การเลเซอร์ผิวหนัง เป็นกระบวนการรักษาทางผิวหนังที่ช่วยปรับสภาพผิวให้ดีขึ้นด้วยการใช้แสงเลเซอร์ โดยยิงแสงเลเซอร์ตรงไปยังบริเวณที่เกิดความผิดปกติ และลอกชั้นผิวหนังออกทีละชั้น
  • การจี้ด้วยไฟฟ้า เป็นการทำให้รอยบนผิวหนังที่เกิดความผิดปกติยุบลง โดยใช้ความร้อนจากกระแสไฟฟ้าจี้ไปที่รอยนั้น ๆ
  • การจี้เนื้อเยื่อด้วยสารเคมีหรือความร้อน เป็นการใช้กระแสไฟฟ้าหรือสารเคมีลนบริเวณรอยดังกล่าว เพื่อทำลายเซลล์ผิวหนังที่ได้รับผลกระทบ
  • การผ่าตัดด้วยความเย็นจัดหรือการจี้เย็น เป็นการใช้ไนโตรเจนเหลวแช่แข็งทำลายเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ ซึ่งจะทำให้รอยนั้น ๆ ตกสะเก็ดและหลุดออกภายใน 2-3 วัน หลังเข้ารับการรักษา
  • การกรอผิวให้ถึงชั้นหนังแท้ เป็นการทำให้ผิวหนังแข็งตัวและใช้เครื่องมือทางการแพทย์ชนิดพิเศษมาขัดกรอผิวหนังบริเวณที่เกิดรอยออกไป
  • การตัดก้อนเนื้อที่ผิวหนัง แพทย์อาจตัดเนื้อเยื่อรอบ ๆ ผิวหนัง หรือบริเวณใต้ผิวหนังออกไปหากสงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง โดยอาจจะเย็บหรือไม่เย็บแผลก็ได้ ขึ้นอยู่กับขนาดของแผล

นอกจากนี้ หลังการรักษา แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจผิวหนังอย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี เพื่อเฝ้าระวังสัญญาณของการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง

ภาวะแทรกซ้อนของ Actinic Keratosis

หากไม่ทำการรักษา Actinic Keratosis ผู้ป่วยอาจเป็นโรคมะเร็งผิวหนังชนิดสะความัสเซลล์ได้ ซึ่งอาจรักษาโรคมะเร็งชนิดนี้ได้หากตรวจเจอโรคในขั้นแรก ๆ ดังนั้น หากผู้ป่วยมีรอยหรือตุ่มบนผิวหนังที่แข็ง แดง อักเสบ เป็นแผล มีขนาดใหญ่ขึ้น ไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น มีสี รูปร่าง หรือพื้นผิวที่ผิดแปลกไป หรือมีเลือดออก ควรเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์ทันที

การป้องกัน Actinic Keratosis

วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกัน Actinic Keratosis คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดกระแดดและโรคมะเร็งผิวหนัง โดยอาจป้องกันการเกิดกระแดด รวมทั้งการเจริญเติบโตหรือการเกิดซ้ำของรอยหรือแผ่นผิวหนังที่เป็นกระแดดได้ด้วยวิธีการ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงแสงแดดและการอยู่กลางแจ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่มีแดดร้อนจัดช่วงประมาณ 10 โมงเช้า และบ่าย 2 โมง รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานานจนผิวหนังไหม้ และไม่ควรอาบแดดหรือใช้เตียงทำผิวสีแทน แต่อาจใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานรับรองความปลอดภัยเพื่อเปลี่ยนสีผิวให้เป็นสีแทนได้
  • ปกป้องผิวหนังด้วยเครื่องแต่งกายที่เหมาะสม หากต้องอยู่ท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนจัด ควรใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาวที่มีเนื้อผ้าเป็นผ้าทอหนา หรือใส่เสื้อผ้าที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อช่วยป้องกันแสงแดด รวมทั้งสวมหมวกปีกกว้างเพื่อไม่ให้ผิวหนังถูกแสงแดด ซึ่งจะช่วยป้องกันแสงแดดได้ดีกว่าหมวกแก๊บหรือหมวกกันแดดสำหรับใส่เล่นกอล์ฟ
  • ทาครีมกันแดด โดยใช้ครีมที่มีค่าป้องกันแสงแดดแบบ SPF 30 หรือสูงกว่านั้น อย่างน้อย 30 นาที ก่อนออกไปกลางแจ้ง โดยอาจใช้ครีมกันแดดชนิดที่ช่วยปกป้องผิวได้อย่างครอบคลุม เพราะจะช่วยป้องกันทั้งรังสี UVA และ UVB ซึ่งการทาครีมกันแดดเป็นประจำจะช่วยลดการเกิด Actinic Keratosis ได้ ทั้งนี้ ควรทาครีมให้ทั่วผิวหนังบริเวณที่ได้รับแสงแดด โดยทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง และทาให้บ่อยกว่าปกติเมื่อต้องว่ายน้ำหรือมีเหงื่อออก รวมถึงควรทาลิปบาล์มที่มีส่วนผสมของครีมกันแดดด้วย
  • สังเกตความผิดปกติตามผิวหนังและไปพบแพทย์ ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นตามผิวหนังและร่างกาย โดยใช้กระจกสำรวจผิวหนังบริเวณหนังศีรษะ ใบหน้า หู คอ ด้านบนและด้านล่างของแขนหรือมือ และหมั่นสังเกตหากไฝ กระ ตุ่ม หรือปานเกิดความเปลี่ยนแปลงหรือมีผิวหนังเกิดขึ้นมาใหม่ และไปพบแพทย์ทันทีหากมีความกังวลใจเกี่ยวกับอาการผิดปกติในบริเวณใดบริเวณหนึ่งบนผิวหนัง