ไหล่ติด

ความหมาย ไหล่ติด

ไหล่ติด (Frozen Shoulder/Adhesive Capsulitis) เป็นภาวะของข้อต่อบริเวณไหล่ติดขัด มีอาการเจ็บหรือปวดขณะเคลื่อนไหว ขยับเขยื้อนหัวไหล่ได้ลำบาก โดยพบได้ประมาณ 2-3% ในช่วงอายุ 40-60 ปี และเกิดกับผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชาย

ไหล่ติด

อาการไหล่ติด

ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บหรือปวดในลักษณะตื้อ ๆ ปวดตุบ ๆ บริเวณด้านนอกของหัวไหล่และต้นแขนในบางราย โดยจะปวดมากในช่วงแรกและเมื่อมีการขยับแขน มีอาการข้อติด ทำให้เคลื่อนไหวหัวไหล่ได้ลำบากทั้งการขยับด้วยตนเองหรือมีคนช่วย โดยสามารถแบ่งอาการออกเป็น 3 ระยะ

  • ระยะที่ 1 (Freezing) ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหรือปวดขึ้นอย่างช้า ๆ โดยเป็นมากในเวลากลางคืนและเวลาล้มตัวนอน จากนั้นจะเริ่มปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่อยากขยับบริเวณหัวไหล่ ระยะนี้จะคงอยู่ประมาณ 2-9 เดือน
  • ระยะที่ 2 (Frozen) อาการปวดค่อย ๆ ลดลง แต่การเคลื่อนไหวของหัวไหล่ทำได้ลำบากมากขึ้นในทุกทิศทาง มีอาการข้อยึดตามมา และกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่เสื่อมลง เพราะไม่ได้ถูกใช้งาน ซึ่งระยะนี้อาจคงอยู่ประมาณ 4-12 เดือน และส่งผลให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบากขึ้น
  • ระยะที่ 3 (Thawing) เป็นระยะฟื้นตัว อาการปวดและข้อยึดค่อย ๆ หายไป และกลับสู่ภาวะเป็นปกติ บางรายอาจเกือบหายสนิทดี โดยระยะนี้อาจมีอาการอยู่ประมาณ 1-3 ปี

อาการในแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันออกไปตามความรุนแรงและระยะเวลาที่เกิดอาการ ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการไหล่ติดได้จากการใช้งานแขนในลักษณะท่าทางต่าง ๆ แล้วรู้สึกเจ็บไหล่หรือไม่สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติ เช่น ล้วงกระเป๋าหลังของกางเกงที่สวมอยู่ ไม่สามารถยกแขนเพื่อหยิบของในที่สูง เอามือไขว้หลังเพื่อถูหลัง สวมใส่เสื้อผ้าหรือชุดชั้นใน ไม่สามารถกางแขนออกด้านข้างแล้วหงายฝ่ามือขึ้น หรือแม้แต่สระผมด้วยตนเอง โดยปกติอาการสามารถหายไปได้เองภายใน 2-3 ปี หรือนานกว่านั้น แต่มักสร้างความลำบากต่อการใช้ชีวิตประจำวันและผู้ป่วยรู้สึกทรมานจากอาการปวด จึงไม่สามารถปล่อยให้อาการหายไปได้เอง

หากผู้ป่วยมีอาการปวดที่หัวไหล่เรื้อรังและขยับได้ลำบาก ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ เพราะการตรวจวินิจฉัยพบได้ในช่วงแรกและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมจะช่วยป้องกันอาการปวดและข้อติดจนเคลื่อนไหวได้ลำบาก

สาเหตุของอาการไหล่ติด

หัวไหล่เป็นข้อต่อประเภทลูกกลมและเบ้า (Ball และ Socket Joint) ที่ประกอบด้วยกระดูก 3 ส่วน ได้แก่ กระดูกต้นแขน (Humerus) กระดูกสะบัก (Scapula) และกระดูกไหปลาร้า (Clavicle) โดยมีเยื่อหุ้มข้อไหล่เป็นตัวยึดข้อต่อเข้าด้วยกันและมีน้ำไขข้อเป็นตัวช่วยหล่อลื่น เพื่อให้เคลื่อนไหวได้ง่ายมากขึ้น แต่เมื่อเยื่อหุ้มข้อไหล่เกิดอาการบวมและหนาขึ้น จึงทำให้เกิดอาการไหล่ติดตามมา ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่มักทำให้เกิดอาการไหล่ติดได้ง่าย ดังนี้

  • อายุและเพศ อาการไหล่ติดมักพบได้บ่อยในผู้มีอายุระหว่าง 40-60 ปี โดยจะเกิดกับเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
  • เคยผ่าตัดหรือได้รับบาดเจ็บบริเวณหัวไหล่ อาการไหล่ติดบางครั้งอาจเกิดขึ้นหลังจากการบาดเจ็บหรือหักของแขน หัวไหล่ รวมถึงเคยเข้ารับการผ่าตัดบริเวณหัวไหล่ จึงทำให้บริเวณนั้นไม่ถูกใช้งานในขณะพักฟื้น
  • โรคเบาหวาน ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีแนวโน้มเกิดอาการไหล่ติดมากขึ้นเป็น 2 เท่ากว่าคนปกติ อาการอาจรุนแรงและรักษาได้ยาก หรืออาจพัฒนาอาการขึ้นกับไหล่ทั้ง 2 ข้าง
  • ปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง โรคปอด โรคทางต่อมไทรอยด์อย่างภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) หรือภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism) มะเร็งเต้านม การหดรั้งของแผ่นเอ็นฝ่ามือ (Dupuytren's Contracture)
  • ปัญหาเกี่ยวกับไหล่ เช่น หินปูนเกาะกระดูกไหล่ (Calcific Tendonitis) เส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด (Rotator Cuff Tear)
  • อยู่ในภาวะที่เคลื่อนไหวไม่ได้ (Immobility) ผู้ที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวบริเวณไหล่เป็นเวลานานจะยิ่งมีความเสี่ยงกว่าคนปกติมากขึ้น ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นบ่อยในขณะพักฟื้นร่างกาย หลังการผ่าตัด หรือแขนหัก

การวินิจฉัยอาการไหล่ติด

แพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย และการตรวจร่างกายทั่วไป จากนั้นจะตรวจดูบริเวณคอและไหล่ เพื่อดูการเคลื่อนไหวและความแข็งแรงของข้อต่อบริเวณนั้น โดยแพทย์จะลองขยับแขนของผู้ป่วยในทิศทางต่าง ๆ ขณะยืนหรือนอนราบ และลองให้ผู้ป่วยทำด้วยตนเองอีกครั้ง ผู้ที่มีอาการไหล่ติดจะเคลื่อนไหวทั้ง 2 แบบได้อย่างจำกัด รวมไปถึงมีการกดบริเวณหัวไหล่ เพื่อประเมินอาการปวดของผู้ป่วยว่ารุนแรงในระดับใด มีการบวม ช้ำ หรือสูญเสียกล้ามเนื้อบริเวณนั้นหรือไม่ ในกรณีที่ไม่สามารถสรุปผลได้แน่ชัด แพทย์อาจมีการตรวจด้านอื่นเพิ่มเติม เช่น

  • การตรวจเลือด (Blood Test) จะช่วยค้นหาสาเหตุที่อาจมาจากปัญหาสุขภาพบางประการ เช่น โรคเบาหวาน เพราะผู้ป่วยในโรคนี้จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ
  • การเอกซเรย์ (X-ray) เป็นการถ่ายภาพรังสีของกระดูกและเนื้อเยื่อรอบ ๆ ข้อต่อของหัวไหล่ เพื่อดูโครงสร้างทั่วไป ทำให้แพทย์มองเห็นความผิดปกติภายใน และในบางรายอาจพบว่าอาการไหล่ติดเกิดมาจากข้ออักเสบ (Arthritis)  
  • การเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า การตรวจเอ็มอาร์ไอ เป็นการเอกซเรย์บริเวณหัวไหล่ เพื่อดูความผิดปกติของกระดูก เนื้อเยื่อ และน้ำไขกระดูก โดยเฉพาะกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยอาจเกิดเส้นเอ็นฉีกขาด (Rotator Cuff Tear) ซึ่งผู้ป่วยต้องนอนนิ่ง ๆ อยู่ในเครื่องตรวจเป็นเวลานานสักพัก และไม่สามารถใช้ตรวจผู้ที่สวมใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีส่วนประกอบเป็นเหล็ก

การรักษาอาการไหล่ติด

อาการไหล่ติดสามารถรักษาได้หลายวิธี แต่บางรายอาจหายได้เองโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา ซึ่งอาจกินเวลานาน 18-24 เดือน หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของอาการ โดยจุดประสงค์ของการรักษาต้องการให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวและใช้งานหัวไหล่ได้ใกล้เคียงกับสภาพปกติมากที่สุด

การใช้ยา

เป็นการรักษาในช่วงแรกหรือในระยะที่ 1 ของผู้ที่มีอาการไหล่ติด เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและลดอาการบวมให้น้อยลง โดยแบ่งกลุ่มตัวยาออกเป็น

  • ยาแก้ปวด (Pain Medicine) เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยาเอ็นเสด (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drug: NSAIDs) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาโคเดอีนผสมพาราเซตามอล ยาบางตัวอาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดการเลือดออกในกระเพาะอาหารและปัญหาเกี่ยวกับไต จึงควรอ่านข้อบ่งใช้ตามฉลากข้างผลิตภัณฑ์หรือใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
  • การฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ในกรณีที่ยาแก้ปวดไม่ช่วยให้อาการปวดดีขึ้น แพทย์อาจฉีดยาในกลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid) เข้าที่บริเวณหัวไหล่ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและลดการบวมอักเสบ โดยจะใช้ควบคู่กับยาชาเฉพาะที่  

การทำกายภาพบำบัด (Physical Therapy)

เป็นวิธีที่ใช้รักษาผู้ที่มีอาการในระยะที่ 2-3 หรือผู้ที่มีอาการปวดอยู่มากในช่วงแรก โดยอาจเป็นการนวดบำบัด การใช้อุณหภูมิบำบัด (Thermotherapy) ด้วยการประคบร้อนหรือประคบเย็น เพื่อช่วยลดอาการปวด การยืดกล้ามเนื้อในลักษณะต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของหัวไหล่ โดยทำภายใต้คำแนะนำของนักกายภาพบำบัดในช่วงแรก และจะสอนให้ผู้ป่วยกลับไปปฏิบัติเองที่บ้านภายหลัง

ตัวอย่างท่าบริหารบรรเทาอาการไหล่ติด เช่น

  • ท่าที่ 1 (Doorway Stretch) ให้ผู้ป่วยยืนหันหน้าเข้าหาประตูทำมุม 90 องศา (เปิดประตูห้องออก) จากนั้นใช้มือด้านที่มีอาการไหล่ติดจับที่ขอบประตูแล้วบิดตัวออก ค้างไว้ 30 วินาที คลายมือและทำซ้ำ
  • ท่าที่ 2 (Forward Flexion) นอนลงบนพื้นในท่าที่ขาเหยียดตรง ใช้แขนข้างปกติช้อนบริเวณข้อศอกแขนอีกข้างที่เกิดอาการไหล่ตกขึ้นอย่างช้า ๆ จนรู้สึกแขนตึง โดยให้แขนข้างที่มีอาการอยู่ในลักษณะเหยียดตรงเหนือศีรษะ ค้างไว้ 15 นาที ค่อย ๆ ปล่อยแขนลงทั้ง 2 ข้างลงให้ผ่อนคลาย จากนั้นทำซ้ำ
  • ท่าที่ 3 (Crossover Arm Stretch) สามารถทำได้ทั้งท่ายืนและท่านั่ง โดยเริ่มจากยื่นแขนข้างที่มีอาการมาด้านหน้าลำตัวพร้อมกับไขว้ผ่านลำตัวบริเวณหน้าอกในลักษณะเหยียดตรง จากนั้นใช้มืออีกข้างจับประคองที่ข้อศอกของแขนข้างที่ทำการยืดและออกแรงดันแขนไปให้สุด ทำการยืดเป็นจังหวะไป-กลับประมาณ 30 ครั้ง

การผ่าตัด (Surgery) และจัดกระดูกให้เข้าที่ (Manipulation Under Anaesthetic)

เป็นการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผลนานกว่า 6 เดือน ซึ่งแพทย์กับผู้ป่วยจะต้องมีการพูดคุยและปรึกษาถึงความเสี่ยงหลายด้านก่อนเข้ารับทำการผ่าตัด เช่น ผลหลังการรักษา ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด

ในขั้นแรกจะต้องมีการวางยาสลบแก่ผู้ป่วย จากนั้นจะทำการผ่าตัดผ่านกล้อง โดยตัดเนื้อเยื่อบางส่วนที่เกิดความเสียหายหรือบวมในบริเวณหัวไหล่ออก บางรายอาจใช้วิธีการจัดกระดูกบริเวณไหล่ให้เข้าที่แทนการผ่าตัดผ่านกล้อง เพื่อช่วยให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น หรือแพทย์อาจใช้ทั้ง 2 วิธีควบคู่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของผู้ป่วยแต่ละราย

ภาวะแทรกซ้อนของอาการไหล่ติด

อาการไหล่ติดแทบไม่พบภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักได้รับผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นหลัก เช่น การขับรถ การแต่งตัว การนอน การยืดเหยียดหลัง หรือแม้แต่การล้วงกระเป๋ากางเกงด้านหลังก็อาจทำไม่ได้ และในบางรายอาจกระทบต่อการทำงาน นอกจากนี้ แม้เข้ารับการรักษาก็อาจมีอาการปวดอย่างต่อเนื่องหรือมีโอกาสเกิดแขนหักในระหว่างการผ่าตัดเมื่อใช้แรงมากเกินไป

การป้องกันอาการไหล่ติด

สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดอาการไหล่ติดได้โดยการหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บบริเวณหัวไหล่หรือกลับมาบาดเจ็บซ้ำในกรณีที่อยู่ในช่วงการรักษาตัว รวมไปถึงพยายามเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอในช่วงที่พักฟื้น หากผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บรุนแรงจนทำให้ขยับแขนและไหล่ได้ลำบาก ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์เรื่องการออกกำลังกายที่เหมาะสมในช่วงนี้