4 ท่าบริหารไหล่ติด ทำง่าย ๆ ได้ที่บ้าน

ท่าบริหารไหล่ติด เป็นท่าบริหารร่างกายสำหรับผู้ที่มีอาการตึงและเจ็บบริเวณหัวไหล่จากภาวะไหล่ติด (Frozen Shoulder) โดยจุดประสงค์ของการทำท่าบริหารคือการยืดเยื่อหุ้มข้อไหล่ เพื่อช่วยให้สามารถเคลื่อนไหวหัวไหล่ได้ดีขึ้น

ไหล่ติดเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อเยื่อหุ้มข้อไหล่ที่อยู่บริเวณข้อต่อหัวไหล่เกิดการอักเสบ หนาขึ้น และหดตัวลง ส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวไหล่และขยับหัวไหล่ได้น้อยลง ไม่ว่าจะขยับเองหรือให้ผู้อื่นช่วยขยับให้ โดยส่วนมากมักพบในคนที่ต้องใส่เฝือกที่แขนหรืออุปกรณ์พยุงแขนหลังผ่าตัด คนที่เกิดการบาดเจ็บบริเวณเส้นเอ็นไหล่ และผู้ป่วยเบาหวาน 

4 ท่าบริหารไหล่ติด ทำง่าย ๆ ได้ที่บ้าน

ท่าบริหารไหล่ติด มีท่าอะไรบ้าง

ผู้ที่มีอาการไหล่ติดควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มทำท่าบริหารไหล่ติด และไม่ควรฝืนตัวเองจนเกินไปในระหว่างที่ทำท่าบริหาร เนื่องจากหัวไหล่ของผู้ป่วยอาจเกิดการบาดเจ็บได้หากถูกฝืนหรือยืดมากเกินไป และก่อนเริ่มบริหารไหล่ทุกครั้งควรประคบร้อนบริเวณหัวไหล่หรืออาบน้ำอุ่นประมาณ 10–15 นาทีก่อน เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมร่างกายและหัวไหล่ 

ท่า Pendulum Stretch

ขั้นตอนแรก ให้หาโต๊ะหรือเก้าอี้ที่มีความสูงประมาณช่วงเอวมาตั้งไว้ข้างหน้า ก้มตัวเล็กน้อย แล้วใช้มือข้างที่ไม่มีอาการเกาะโต๊ะหรือเก้าอี้เพื่อช่วยพยุงตัว และปล่อยแขนข้างที่มีอาการไหล่ติดตามสบาย

จากนั้นให้เริ่มแกว่งแขนข้างที่มีอาการเป็นวงกลม ทั้งแบบตามเข็มนาฬิกาและทวนเข็มนาฬิกา แบบละ 10 รอบ โดยระยะไม่ต้องกว้างมาก ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถถ่วงน้ำหนักแขนข้างที่แกว่งได้เล็กน้อยเมื่ออาการเริ่มดีขึ้น

ท่า Cross–body Reach

ท่านี้เป็นท่าที่ผู้ป่วยสามารถทำได้ทั้งในขณะนั่งและยืน ในขั้นตอนแรกให้ค่อย ๆ ยกแขนข้างที่มีอาการแตะไขว้ไปที่หัวไหล่ของแขนอีกข้าง จากนั้นให้ใช้มือข้างที่ไม่มีอาการค่อย ๆ ออกแรงกดแขนข้างที่พาดตัวอยู่เข้าหาลำตัวเบา ๆ แล้วค้างเอาไว้ประมาณ 15–20 วินาที พอครบเวลาค่อย ๆ ผ่อนแรงออก และทำซ้ำจนครบ 10–20 ครั้ง

ท่า Hand–behind–back Stretch

ขั้นแรกให้ยืนตัวตรง เอามือทั้ง 2 ข้างไขว้หลังในระดับเอว และใช้มือข้างที่ไม่มีอาการจับข้อมือแขนข้างที่มีภาวะไหล่ติด แล้วค่อย ๆ ดึงแขนไปทางด้านข้างลำตัวที่ไม่มีภาวะไหล่ติดจนรู้สึกตึงหัวไหล่ข้างที่มีอาการ หรือค้างเอาไว้ประมาณ 2–3 วินาที พอครบเวลาค่อย ๆ ผ่อนแรง และทำซ้ำจนครบ 5 ครั้ง

ท่า Finger Walk

ยืนหันหน้าเข้าหากำแพงโดยเว้นระยะให้ห่างจากลำตัวประมาณ 3 ใน 4 ของช่วงแขน แล้วใช้ปลายนิ้วมือของข้างที่หัวไหล่ติดทั้ง 5 นิ้วแตะที่กำแพงในระดับหน้าอก 

จากนั้นค่อย ๆ ใช้นิ้วไต่กำแพงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเริ่มรู้สึกตึงหัวไหล่ ในขั้นตอนนี้ควรใช้กล้ามเนื้อนิ้วออกแรงเป็นหลักและพยายามไม่ใช้กล้ามเนื้อหัวไหล่ เมื่อใช้นิ้วไต่จนรู้สึกตึงหัวไหล่แล้ว ค่อย ๆ ลดระดับมือลงมาในท่าเดิม และไต่ขึ้นกำแพงอีกครั้งจนครบ 10–20 ครั้ง

หลังจากที่ผู้ป่วยทำท่าบริหารไหล่ติดเสร็จแล้ว ควรประคบเย็นที่หัวไหล่อีกครั้ง เพื่อป้องกันการอักเสบของหัวไหล่

ทั้งนี้ ท่าบริหารไหล่ติดที่ยกตัวอย่างมาถือเป็นเพียงวิธีดูแลตัวเองในเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากการรักษาภาวะไหล่ติดทางการแพทย์ แพทย์จำเป็นต้องตรวจและประเมินอาการของผู้ป่วยก่อน ซึ่งผู้ป่วยบางคนอาจจำเป็นต้องใช้การรักษาอื่นร่วมด้วย อีกทั้งอาการตึงไหล่ยังอาจเป็นสัญญาณของโรคอื่นที่มีความรุนแรงได้อีกด้วย

ดังนั้น ผู้ที่มีอาการไหล่ติด ไหล่ตึง หรือเจ็บหัวไหล่ โดยเฉพาะผู้ที่รู้สึกว่าอาการมีความรุนแรง หรือส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ ควรเข้ารับการตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้แพทย์ได้ประเมินอาการและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม