ไข้ลาสซา (Lassa Fever)

ความหมาย ไข้ลาสซา (Lassa Fever)

ไข้ลาสซา (Lassa Fever) เป็นโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสลาสซา (Lassa Virus) ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีไข้ อ่อนแรง ไม่สบายตัว มีเลือดออกง่ายผิดปกติ และอาการอื่น ๆ โดยมักมีหนูหรือสัตว์ฟันแทะเป็นพาหะนำโรค ซึ่งแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนผ่านการสูดดมเชื้อในอากาศ การรับประทานอาหารหรือสัมผัสกับสิ่งของในครัวเรือนที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งหรือมูลของหนู  

ในปัจจุบันยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยไข้ลาสซาในประเทศไทยแต่อย่างใด โดยโรคนี้มักพบการระบาดในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก โดยเฉพาะในประเทศไนจีเรีย ประเทศกินี และประเทศไลบีเรีย ทว่าการป้องกันการติดเชื้อโรคอย่างการดูแลสุขอนามัยให้ดีและอยู่ห่างไกลจากพาหะนำโรคก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับผู้ที่ต้องเดินทางไปยังประเทศดังกล่าว เนื่องจากยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนที่ป้องกันไข้ลาสซาได้โดยตรง

ไข้ลาสซา

อาการของไข้ลาสซา

ไข้ลาสซามักก่อให้เกิดอาการที่หลากหลายและมีความคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้อไวรัสที่มีอาการเลือดออกชนิดอื่น ๆ อาทิ อีโบลา มาลาเรีย ไข้ไทฟอยด์ หรือไข้เหลือง โดยเฉพาะช่วงเริ่มแสดงอาการ จึงค่อนข้างยากต่อการวินิจฉัยและจำแนกโรค

โดยทั่วไปแล้ว โรคนี้มักไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ หรือเกิดอาการในระดับไม่รุนแรง ซึ่งมักปรากฏหลังจากผู้ป่วยได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายไปแล้ว 1–3 สัปดาห์ เช่น   

  • มีไข้ 
  • อ่อนแรง 
  • เจ็บคอ ไอ 
  • ปวดศีรษะ 
  • เจ็บหน้าอก 
  • หูอื้อ 
  • คลื่นไส้ อาเจียน 
  • ปวดท้อง ท้องเสีย 

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงอาจมีเกล็ดเลือดต่ำ การทำงานของเกล็ดเลือดผิดปกติ ทำให้มีเลือดออกในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อย่างช่องปาก จมูก ดวงตา ทางเดินอาหาร หรือช่องคลอด มีปัญหาหายใจลำบาก อาเจียนซ้ำ ๆ มีอาการบวมบริเวณใบหน้า มีของเหลวในช่องปอด ความดันโลหิตต่ำ ภาวะช็อก สูญเสียการได้ยิน สมองอักเสบ และหากอวัยวะหลายส่วนล้มเหลวอาจนำไปสู่การเสียชีวิตภายใน 2 สัปดาห์ ดังนั้นหากผู้ป่วยมีอาการเข่าข่าย เคยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้ลาสซา หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งอย่างน้ำลายของหนูหรือสัตว์ฟันแทะ ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว  

สาเหตุของไข้ลาสซา

ไข้ลาสซาเกิดจากการติดเชื้อลาสซา ซึ่งเป็นไวรัสชนิดหนึ่งในกลุ่ม Arenaviridae โดยสามารถแพร่กระจายจากหนูหรือสัตว์ฟันแทะที่เป็นพาหะนำโรคไปสู่คน เนื่องจากหนูอาจอาศัยอยู่โดยรอบหรือภายในที่พักอาศัย และออกมาหาอาหารเป็นประจำ การรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค หรือการสัมผัสกับหนู สารคัดหลั่ง หรือมูลของหนูหรือสัตว์ฟันแทะทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงก่อให้เกิดการติดเชื้อตามมา อีกทั้งยังแพร่กระจายผ่านทางอากาศ โดยหากสูดดมละอองเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอากาศเข้าไปในร่างกาย ก็อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อเช่นกัน 

นอกจากนี้ ไข้ลาสซาสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้จากการมีเพศสัมพันธ์ และการสัมผัสกับเลือด เนื้อเยื่อ สารคัดหลั่ง หรืออุจจาระ ยกเว้นผิวหนังที่ปราศจากบาดแผลหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยติดเชื้อ โดยการติดต่อประเภทนี้มักพบบ่อยในช่วงการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เนื่องมาจากการขาดอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้ออย่างชุด PPE (Personal Protective Equipment) หรือการใช้เครื่องมือทำหัตถการที่ปนเปื้อน

การวินิจฉัยไข้ลาสซา

เนื่องจากไข้ลาสลานั้นมีอาการที่คล้ายคลึงกับโรคติดเชื้อไวรัสบางชนิด นอกเหนือจากการถามประวัติทางสุขภาพและการเดินทางหรือตรวจร่างกายเบื้องต้นแล้ว แพทย์จะใช้การทดสอบในห้องปฏบัติการร่วมด้วย เพื่อให้ผลการวินิจฉัยมีความแม่นยำมากที่สุด ได้แก่ 

  • การตรวจ ELISA (Enzyme-Linked Immunosorbent Assay) โดยแพทย์จะตรวจเลือด ปัสสาวะ หรือสารคัดหลั่งอื่น ๆ ของผู้ป่วย เพื่อหาแอนติบอดีหรือภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสต้นเหตุ และแอนติเจนซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย
  • การตรวจ RT-PCR (Real Time Polymerase Chain Reaction) เป็นการเก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ หรือสารคัดหลั่งที่คอของผู้ป่วย เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส

สำหรับการวินิจฉัยหลังผู้ป่วยเสียชีวิต แพทย์อาจใช้การตรวจทางอิมมูโนฮิสโตเคมี (Immunohistochemistry) โดยเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อของผู้ป่วยไว้ในฟอร์มาลิน เพื่อนำมาใช้ในการตรวจหาเชื้อไวรัสต่อไป

การรักษาไข้ลาสซา

ปกติแล้ว แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสอย่างยาไรบาวิริน (Ribavirin) ทางหลอดเลือดดำในการรักษาไข้ลาสซา ซึ่งจะมีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะเมื่อใช้ในช่วงเริ่มมีอาการ ทว่าเม็ดเลือดแดงอาจแตกได้หากฉีดยาเข้าสู่ร่างกายเร็วเกินไป โดยมักให้ยาดังกล่าวควบคู่กับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง อาทิ รักษาสมดุลของปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย เพิ่มปริมาณออกซิเจน ควบคุมความดันโลหิตให้คงที่ และรักษาอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของไข้ลาสซา

ผู้ป่วยไข้ลาสซากว่า 1 ใน 3 มักประสบปัญหาการสูญเสียการได้ยิน โดยจะมีระดับความรุนแรงแตกต่างกันไป บางรายอาจสูญเสียการได้ยินไปอย่างถาวร นอกจากนั้นสตรีมีครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 3 ยังมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคที่รุนแรง การแท้งบุตร และการเสียชีวิตด้วย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยไข้ลาสซาทั้งหมดคิดเป็นเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น 

การป้องกันไข้ลาสซา

ไข้ลาสซายังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคได้โดยตรง จึงต้องอาศัยการป้องกันด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อโรคไปสู่ผู้อื่น รวมถึงโรคอื่น ๆ ที่มีสาเหตุมาจากสัตว์ฟันแทะอย่างหนูและกระรอก เช่น 

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ฟันแทะ สารคัดหลั่งและอุจจาระของสัตว์ฟันแทะ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาด หากจำเป็นควรสวมถุงมือหรืออุปกรณ์ป้องกัน และล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
  • ลดการแพร่พันธุ์ของหนู โดยวางกับดักหนู ใช้ยาเบื่อหนู กำจัดแหล่งที่อยู่อาศัยของหนูทั้งในและนอกบริเวณที่พักอาศัย และปิดกั้นช่องทางที่หนูหรือสัตว์ฟันแทะอื่นสามารถเข้ามาในที่พักอาศัยได้
  • ดูแลสุขอนามัยของตัวให้ดี อาทิ ล้างมือทั้งก่อนและหลังการประกอบอาหาร การรับประทานอาหาร และการขับถ่าย รับประทานอาหารที่ปรุงสุก เก็บภาชนะหรือข้าวของเครื่องใช้ไว้ในที่มิดชิด  
  • หมั่นทำความสะอาดตามมุมอับของบ้านและจุดทิ้งขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารหรือแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ฟันแทะ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยหรือล้างมือให้สะอาดหากต้องไปเยี่ยมหรือดูแลผู้ป่วย เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค
  • ในกรณีที่ต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีการแพร่ระบาดของไข้ลาสซา ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงหรือเมืองที่มีการระบาดอย่างหนัก และหากพบความผิดปกติหลังเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้องโดยเร็ว