ใส่หน้ากากอนามัยทำไมถึงเป็นสิว รับมือปัญหาผิวช่วงโควิด-19 อย่างไร

การใส่หน้ากากอนามัยเป็นหนึ่งในวิธีสำคัญที่ช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 แต่การใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานานอาจทำให้หลายคนเป็นสิวได้ โดยมักเกิดจากความอับชื้นและการเสียดสีของผิวหน้าบริเวณที่ใส่หน้ากากอนามัย ทำให้ผิวเกิดการระคายเคือง มีตุ่มหรือผื่นแดงขึ้นบนผิวหน้า

อย่างไรก็ตาม ปัญหาผิวจากการใส่หน้ากากอนามัยไม่ได้เกิดจากสิวเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากปัจจัยอื่นที่ทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองได้เช่นกัน บทความนี้จึงชวนให้ทุกคนมาทำความเข้าใจสาเหตุและวิธีรับมือกับปัญหาผิวจากการใส่หน้ากากอนามัยกัน

สิว maskne

สิวขึ้นจากการใส่หน้ากากอนามัยเกิดจากอะไร 

ปัญหาผิวจากการใส่หน้ากากอนามัย (Maskne) มีหลายรูปแบบ ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจว่าสิวเป็นปัญหาผิวที่ตัวเองพบได้บ่อย แต่ความจริงแล้วยังมีสาเหตุอื่นที่อาจเป็นตัวการของการเกิดปัญหาผิวอื่น ๆ จากการใส่หน้ากากอนามัย โดยสาเหตุที่พบได้มาก เช่น 

1. การอุดตันของผิว

โดยปกติแล้ว ผิวหน้าของเรามีน้ำมัน แบคทีเรีย และเซลล์ผิวที่ตายแล้วสะสมอยู่ การใส่หน้ากากอนามัยจะปิดกั้นการระเหยของเหงื่อและน้ำมันบนผิวหน้า นอกจากนี้ หน้ากากอนามัยอาจมีสิ่งสกปรกสะสมอยู่ อย่างน้ำลายที่มาจากการพูดหรือการจาม ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน และทำให้เกิดสิวอุดตัน อย่างสิวหัวดำ (Blackheads) และสิวหัวขาว (Whiteheads) ตามมา

2. การเสียดสีและความอับชื้น

ร่างกายจะผลิตเหงื่อและน้ำมันออกมาจากผิวมากกว่าปกติในวันที่มีอากาศร้อน การใส่หน้ากากอนามัยจะทำให้ผิวหน้าบริเวณนั้นยิ่งอับชื้น ส่งผลให้แบคทีเรียและยีสต์เติบโตได้ดี จึงอาจกระตุ้นให้เกิดโรคผิวหนัง อย่างโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea) และโรครูขุมขนอักเสบ (Folliculitis) ซึ่งทำให้มีตุ่มนูนแดงและมีอาการคันหรือเจ็บบริเวณที่ใส่หน้ากาก หรืออาจเกิดโรคผื่นผิวหนังอักเสบรอบปาก (Perioral Dermatitis) ที่ทำให้เกิดผื่นแดงคล้ายสิวเม็ดเล็ก ๆ สร้างความรู้สึกแสบร้อนหรือคันได้

นอกจากนี้ การใส่หน้ากากอนามัยที่แนบติดกับใบหน้าทำให้เกิดสิวจากการเสียดสี (Acne Mechanica) ขึ้นได้ โดยปกติแล้ว สิวชนิดนี้เกิดจากการเสียดสีและกดทับของผิวในบริเวณใดบริเวณหนึ่งอย่างต่อเนื่อง โดยอาจพบในนักกีฬาที่ใส่อุปกรณ์ป้องกันการบาดเจ็บ ผู้สวมหมวกกันน็อคที่ใส่สายรัดคางแน่นจนเกินไป หรือผู้ป่วยที่นอนพักฟื้นอยู่บนเตียงเป็นเวลานาน การใส่หน้ากากอนามัยที่รัดแน่นจนเกินไปและใส่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน จึงทำให้เกิดสิวตามมาได้เช่นกัน

3. อาการแพ้จากวัสดุที่ใช้ทำหน้ากากอนามัย

การใส่หน้ากากอนามัยที่ทำจากวัสดุบางชนิดอาจทำให้บางคนเกิดอาการแพ้ โดยอาจพบอาการแพ้จากการใส่หน้ากากอนามัยที่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์ เช่น ผ้าไนลอน ผ้าเรยอน และผ้าโพลีเอสเตอร์ เป็นต้น ซึ่งมีเนื้อหยาบกว่าเส้นใยธรรมชาติ หรือการแพ้สารเคมีในเนื้อผ้าจากกระบวนการตัดเย็บ รวมถึงการแพ้ยางที่ใช้ทำสายคล้องหูของหน้ากากอนามัย ทำให้เกิดผื่นแดงและคัน นอกจากนี้ การใช้ผลิตภัณฑ์ซักผ้าที่ผสมน้ำหอมในการซักทำความสะอาดหน้ากากอนามัยอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวได้เช่นกัน 

วิธีรับมือกับ Maskne ปัญหาผิวจากหน้ากากอนามัย

วิธีเลือกหน้ากากอนามัยที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ควรเลือกหน้ากากที่แนบสนิทพอดีกับรูปหน้า ไม่มีช่องว่างให้เชื้อโรคเข้ามาได้ โดยหลีกเลี่ยงการใส่หน้ากากอนามัยที่สายคล้องหูรัดแน่นเกินไป หากใส่หน้ากากผ้า ควรเลือกชนิดที่ผลิตจากใยธรรมชาติ อย่างผ้าฝ้ายมัสลินและผ้าสาลู ซึ่งเนื้อผ้าโปร่งสบายและระบายอากาศได้ดีกว่าหน้ากากที่ผลิตจากใยสังเคราะห์

ในระหว่างวันหากไม่ได้อยู่ในที่สาธารณะที่มีคนพลุกพล่าน ควรถอดหน้ากากอนามัยออกประมาณ 15 นาที ทุก 4 ชั่วโมง เพื่อให้ผิวหน้าได้ระบายความอับชื้น และควรเปลี่ยนหน้ากากอนามัยทุกวัน หรือเปลี่ยนหน้ากากชิ้นใหม่หลังทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออกมาก เพื่อป้องกันเชื้อโรคและสิ่งสกปรกสัมผัสผิวหน้า หากเป็นหน้ากากผ้า ควรซักทำความสะอาดทุกวันด้วยสบู่หรือน้ำยาซักผ้าที่อ่อนโยนต่อผิว หรือใช้เตารีดที่มีอุณหภูมิประมาณ 180–220 องศาเซลเซียส รีดหน้ากากผ้าทั้งสองด้าน ก็อาจช่วยฆ่าเชื้อโรคที่อยู่บนหน้ากากได้

นอกจากนี้ ไม่ควรเอามือสัมผัสหน้ากากขณะสวมใส่และหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 จากการเผลอนำมือไปสัมผัสดวงตาหรือปาก และรักษาความสะอาดผิวหน้าเป็นประจำด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ล้างหน้าให้สะอาดวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน หรือหลังจากทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออกมาก โดยใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว ไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน น้ำหอม และสารซัลเฟตที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองและอุดตันผิว
  • ทามอยส์เจอไรเซอร์ (Moisturizer) หลังล้างหน้าและก่อนสวมหน้ากากอนามัย เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว และบำรุงริมฝีปากไม่ให้แห้งแตกด้วยปิโตรเลียมเจลลี่ (Petroleum Jelly)
  • หลีกเลี่ยงการแต่งหน้าเมื่อเป็นสิวเพื่อป้องกันการอุดตันของผิว หรือเลือกใช้เครื่องสำอางที่ระบุคำว่า Non-Comedogenic ไว้บนฉลาก ซึ่งอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวต่ำกว่าเครื่องสำอางทั่วไป
  • งดใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมีรุนแรง เช่น ผลิตภัณฑ์ผลัดเซลล์ผิว และเรตินอยด์ ในช่วงที่ผิวหน้าระคายเคือง
  • ใช้ครีมกันแดดประเภทกายภาพ (Physical Sunscreen) ที่มีส่วนผสมของซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide) ไททาเนียมไดออกไซด์ (Titanium Dioxide) ซึ่งอ่อนโยนต่อผิวมากกว่าครีมกันแดดประเภทเคมี (Chemical Sunscreen) และเลือกครีมกันแดดชนิดไม่ผสมน้ำหอม เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดการระคายเคืองผิว

การใส่หน้ากากอนามัยเป็นวิธีการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อาจทำให้หลายคนรู้สึกอึดอัดและไม่สบายผิว และเมื่อเกิดปัญหาผิวตามมาก็ยิ่งทำให้รู้สึกเครียดและกังวล ทั้งนี้ การเลือกใส่หน้ากากอนามัยให้เหมาะสมและรักษาความสะอาดของผิวหน้าอยู่เสมอ จะช่วยป้องกันการเกิดสิวและปัญหาผิวอื่น ๆ จากการใส่หน้ากากอนามัยได้ อย่างไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์เมื่อปัญหาผิวไม่ดีขึ้น เริ่มลุกลาม หรือมีอาการของการติดเชื้อ

เผยแพร่ครั้งแรก 21 พฤษภาคม 2564