ใบบัวบก กับคุณประโยชน์เพื่อสุขภาพ

ใบบัวบก เป็นพืชสมุนไพรที่เจริญเติบโตในแถบประเทศอินเดีย แอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใบและลำต้นนำมาใช้เป็นยารักษาโรคตามแพทย์แผนโบราณของอินเดียและจีนมาอย่างยาวนาน ใช้รักษาหลายโรค เช่น โรคซิฟิลิส โรคหอบหืด หรือโรคสะเก็ดเงิน และยังนำมาประกอบอาหารได้อีกด้วย

ใบบัวบก

ใบบัวบกประกอบด้วยสารออกฤทธิ์หลักที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอยู่หลายชนิด เช่น ซาโปนิน (Saponin) หรือไตรเทอร์พีนอยด์ (Triterpenoids) เอเชียติโคไซด์ (Asiaticoside) กรดเอเชียติก (Asiatic Acid) มาเดแคสโซไซด์ (Madecassoside) และกรดมาดีคาสสิค (Madecassic Acid) จึงทำให้นำมาใช้ในทางการแพทย์ โดยเชื่อว่ามีสรรพคุณหลายอย่าง เช่น บรรเทาอาการอักเสบ หากใช้รับประทานอาจมีคุณสมบัติช่วยลดความดันโลหิตในหลอดเลือดดำ และนำมาใช้รักษาโรคหรืออาการที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิตต่าง ๆ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ การติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ โรคงูสวัด โรคเรื้อน อหิวาตกโรค โรคบิด โรคเท้าช้าง วัณโรค โรคพยาธิใบไม้ในเลือด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่าหากใช้ใบบัวบกทาที่ผิวหนังอาจช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสมานบาดแผล ลดเลือนรอยแผลเป็น รวมถึงปัญหาท้องลายที่มีสาเหตุมาจากการตั้งครรภ์ แต่ข้อพิสูจน์หรือหลักฐานทางการแพทย์มีมากน้อยมีมากน้อยเพียงใดที่จะช่วยยืนยันความเชื่อ สรรพคุณ และความปลอดภัยของใบบัวบกในการรักษาโรคเหล่านี้

การรักษาด้วยใบบัวบกที่อาจได้ผล

เส้นเลือดขอด มีการศึกษาชิ้นหนึ่งรายงานว่าใบบัวบกอาจมีส่วนช่วยบำรุงและสร้างสมดุลในการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective Tissues) เพิ่มความแข็งแรงให้กับหลอดเลือด ส่งผลต่อความดันในเส้นเลือดฝอยและเส้นเลือดขอด ลดอัตราการกรองของเส้นเลือดฝอยโดยปรับปรุงการไหลเวียนของเลือด นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาโดยการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 8 ชิ้นเกี่ยวกับการรักษาโดยใช้สารสกัดจากใบบัวบกในผู้ป่วยที่มีปัญหาเส้นเลือดขอดเรื้อรัง พบว่าอาการปวดขา ขาหนัก และอาการบวมน้ำบรรเทาลงอย่างมีนัยสำคัญ ถึงแม้ว่าสารสกัดจากใบบัวบกอาจช่วยบรรเทาอาการผู้ป่วยเส้นเลือดขอดเรื้อรังลงได้ แต่จากงานวิจัยระบุว่าข้อสรุปข้างต้นต้องตีความด้วยความระมัดระวังเนื่องจากข้อจำกัดต่าง ๆ ของงานวิจัย และยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาหลักฐานที่มีความถูกต้องและมีคุณภาพมากพอในการประเมินประสิทธิภาพการรักษาโดยใช้สารสกัดจากใบบัวบก

การรักษาด้วยใบบัวบกที่เป็นไปได้ แต่ยังมีหลักฐานสนับสนุนไม่เพียงพอ

โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ใบบัวบกอาจช่วยในการลดปริมาณไขมันในเส้นเลือดได้ จากการศึกษาชิ้นหนึ่งโดยให้อาสาสมัครโรคหลอดเลือดแดงแข็งที่ไม่แสดงอาการกลุ่มหนึ่งรับประทานอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากใบบัวบกเป็นเวลา 6 เดือน และอีกกลุ่มไม่รับประทาน แล้วตรวจหาความหนาแน่นของไขมันหรือพลัค (Plagues) ที่เกาะอยู่ตามเยื่อบุของหลอดเลือด พบว่า ระดับคอเลสเตอรอลของอาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน แต่ในกลุ่มที่รับประทานอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากใบบัวบกพบว่า อนุมูลอิสระในเลือดลดลง จำนวนไขมันหรือพลัคที่เส้นเลือดแดงใหญ่ที่คอและขาลดลง รวมถึงลักษณะของพลัคทั้งความหนาและความยาวก็ลดลงด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังไม่พบอาการที่ไม่พึงประสงค์ สามารถทนต่ออาการข้างเคียงได้ และมีการบันทึกผลการตรวจเลือดเป็นประจำ เนื่องจากหลักฐานสนับสนุนคุณสมบัติของใบบัวบกต่อโรคหลอดเลือดแดงแข็งยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องศึกษาต่อไป

ป้องกันลิ่มเลือด การรับประทานใบบัวบกอาจช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดที่ขาซึ่งเป็นผลมาจากการโดยสารเครื่องบินเป็นเวลานาน จากหลักฐานที่ได้รับการพัฒนาแนะนำว่าใบบัวบกอาจช่วยลดของเหลวและเพิ่มการไหลเวียนเลือดในผู้ที่โดยสารเครื่องบินติดต่อกันนานกว่า 3 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการศึกษาชิ้นนี้จะหมายถึงการลดการสะสมของลิ่มเลือด เนื่องจากหลักฐานสนับสนุนคุณสมบัติของใบบัวบกต่อการป้องกันลิ่มเลือดยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องศึกษาต่อไป

กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน งานวิจัยหนึ่งให้ผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดฝอยจำนวน 50 คน รับประทานสารสกัดจากใบบัวบกซึ่งมีสารไตรเทอร์พีนอยด์เป็นส่วนสำคัญ ขนาด 60 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 6 เดือน เปรียบเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก พบว่าสารไตรเทอร์พีนอยด์ของใบบัวบกมีประโยชน์ต่อการไหลเวียนเลือดในหลอดเลือดฝอยของผู้ป่วยเบาหวาน แต่หลักฐานสนับสนุนคุณสมบัติของใบบัวบกต่อการไหลเวียนเลือดยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องศึกษาต่อไป

แผลเบาหวาน มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของการรับประทานสารสกัดจากใบบัวบกต่อแผลเบาหวาน โดยแบ่งผู้ป่วยโรคเบาหวานจำนวน 200 คนออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งรับประทานสารเอเชียติโคไซด์ซึ่งเป็นสกัดจากใบบัวบกขนาด 50 มิลลิกรัม และอีกกลุ่มรับประทานยาหลอกจำนวน 2 แคปซูลหลังมื้ออาหารวันละ 3 ครั้ง และมีการประเมินผลทุก 7 วัน พบว่าแผลของผู้ป่วยที่รับประทานสารสกัดจากใบบัวบกมีการหดรั้ง (Wound Contraction) ที่ดีกว่าและไม่พบผลข้างเคียง หรือกล่าวได้ว่าสารสกัดจากใบบัวบกอาจมีประสิทธิภาพในการสมานแผล ทำให้แผลหายเร็วขึ้น และสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยโดยไม่เกิดผลข้างเคียง แต่เนื่องจากหลักฐานสนับสนุนคุณสมบัติของใบบัวบกต่อการรักษาแผลเบาหวานยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องศึกษาต่อไป

แผลเป็น สารออกฤทธิ์ของใบบัวบก เช่น เอเชียติโคไซด์ กรดเอเชียติก มาเดแคสโซไซด์ และกรดมาดีคาสสิค เป็นสารช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนในร่างกายและอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาแผลต่าง ๆ ทั้งแผลขนาดเล็ก แผลไฟไหม้ แผลเป็นจากโรคสะเก็ดเงินหรือโรคหนังแข็ง รวมถึงแผลเป็นแบบนูน ซึ่งจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้แนะนำว่าการทาครีมที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากใบบัวบกบริเวณผิวหนังหลังจากเย็บแผลแล้ว 2 ครั้งต่อวัน ต่อเนื่องนาน 6-8 สัปดาห์ อาจช่วยลดการเกิดแผลเป็นได้ รวมถึงแผลเป็นแบบนูนหรือคีลอยด์ แต่เนื่องจากหลักฐานสนับสนุนคุณสมบัติของใบบัวบกต่อแผลเป็นยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องศึกษาต่อไป

ท้องลาย จากการตั้งครรภ์ ได้มีงานวิจัยแนะนำให้ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ทาครีมที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากใบบัวบก วิตามินอี และคอลลาเจน เป็นประจำทุกวันในช่วง 6 เดือนสุดท้ายก่อนการคลอด ซึ่งอาจช่วยปัญหารอยแตกได้ นอกจากนี้ ยังมีการทดลองโดยให้หญิงตั้งครรภ์จำนวน 100 คน ทาครีมที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากใบบัวบก วิตามินอี และคอลลาเจน-อีลาสติน ไฮโดรไลเซท ทาบริเวณผิวหนังที่มีรอยแตกเปรียบเทียบกับการใช้ยาหลอก พบว่าการทาครีมที่มีส่วนผสมของใบบัวบกอาจทำให้เกิดรอยแตกหรือท้องลายน้อยกว่าในกลุ่มที่ใช้ยาหลอก แต่เนื่องจากหลักฐานสนับสนุนคุณสมบัติของใบบัวบกต่อรอยแตกหรือท้องลายยังไม่แน่นอน จึงจำเป็นต้องศึกษาต่อไป

ลดความกังวล การรักษาแบบแพทย์แผนจีนมีการนำใบบัวบกมาใช้เพื่อบรรเทาอาการซึมเศร้าและความวิตกกังวล ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาทดลองชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับประสิทธิภาพของใบบัวบกในการลดความวิตกกังวล โดยสุ่มให้อาสาสมัครรับประทานใบบัวบกในปริมาณ 12 กรัมหรือรับประทานยาหลอก จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าใบบัวบกมีฤทธิ์ต้านความวิตกกังวล ช่วยลดความเครียด แต่ยังคงต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปถึงประสิทธิภาพของใบบัวบกในการรักษาโรควิตกกังวล

โรคและอาการอื่น ๆ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ต่อมทอนซิลอักเสบ เป็นลมแดด การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคตับอักเสบ โรคดีซ่าน ท้องร่วง อาหารไม่ย่อย ซึ่งยังจำเป็นต้องศึกษาวิจัยหาประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษาต่อไป

ความปลอดภัยในการรับประทานใบบัวบก

  • การใช้สารสกัดจากใบบัวบกทาบริเวณผิวหนังอาจมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่การรับประทานใบบัวบกอาจไม่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร เพราะยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์เพียงพอที่จะสนับสนุนถึงเรื่องความปลอดภัยทั้งต่อเด็ก มารดา หรือทารกในครรภ์
  • การรับประทานใบบัวบกอาจเป็นสาเหตุให้เกิดความเสียหายต่อตับ ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคตับหรือมีปัญหาเกี่ยวกับตับไม่ควรรับประทานใบบัวบก เพราะอาจทำให้อาการต่าง ๆ แย่ลงได้ รวมถึงไม่ควรรับประทานใบบัวบกร่วมกับยาที่ส่งผลต่อตับในกลุ่มเหล่านี้ เช่น พาราเซตามอล อะมิโอดาโรน คาร์บามาซีปีน ไอโซไนอะซิด ซิมวาสแตติน เป็นต้น
  • การรับประทานใบบัวบกในปริมาณมากอาจทำให้รู้สึกง่วงนอนได้มากกว่าปกติ หรือหากรับประทานร่วมกับยานอนหลับหรือยาคลายกังวล เช่น โคลนาซีแพม ลอราซีแพม ฟิโนบาร์บิทอล และโซลพิเดม
  • ควรหยุดรับประทานใบบัวบกอย่างน้อย 2 สัปดาห์สำหรับผู้ที่วางแผนเข้ารับการผ่าตัด เพราะอาจเกิดปฏิกิริยากับยาที่ใช้ในการผ่าตัดและอาจทำให้รู้สึกง่วงได้มากขึ้น

ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานใบบัวบก หากอยู่ในช่วงการใช้ยาหรืออาหารเสริมชนิดอื่น ๆ อยู่เป็นประจำ เพราะอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์หากรับประทานใบบัวบกในระหว่างการรักษาของผู้ป่วยโรควิตกกังวล ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ รวมถึงผู้ที่ใช้ยานอนหลับหรือยาคลายกังวล และผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอจทำให้กดประสาทมากขึ้น