โรคไพโรนีย์ (Peyronie's Disease)

ความหมาย โรคไพโรนีย์ (Peyronie's Disease)

Peyronie's Disease หรือโรคเพโรนีย์ เป็นความผิดปกติบริเวณองคชาตจากการที่เนื้อเยื่อผิดปกติจนเกิดพังผืดแข็ง ทำให้องคชาตอยู่ในลักษณะโค้ง งอหรือผิดรูปไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเมื่อองคชาตแข็งตัว และอาจรู้สึกเจ็บในบริเวณดังกล่าวด้วย

Peyronie's Disease อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการมีเพศสัมพันธ์ได้ แม้ว่าอาการของโรคดังกล่าวจะหายไปเองในผู้ป่วยบางราย แต่ผู้ที่มีอาการของโรค Peyronie's Disease ส่วนใหญ่แล้วจำเป็นจะต้องพบแพทย์และรับการรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการ และป้องกันอาการรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม

โรคไพโรนีย์ (Peyronie's Disease)

อาการของ Peyronie's Disease

ผู้ป่วย Peyronie's Disease อาจมีอาการแรกเริ่มที่ไม่รุนแรง และค่อย ๆ ทวีความรุนแรงขึ้นในภายหลัง หรืออาจเกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนได้เช่นกัน โดยอาการทั่วไปของโรค Peyronie's Disease ที่พบได้มีดังนี้

  • เกิดพังผืดแข็งหรือก้อนแข็งใต้ผิวหนังขององคชาต โดยมักเกิดขึ้นในส่วนบนขององคชาต
  • มีปัญหาด้านการแข็งตัวหรือเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
  • องคชาตคดอย่างรุนแรงเนื่องจากการก่อตัวของพังผืดแผ่นหรือก้อนแข็ง
  • รู้สึกเจ็บองคชาตส่วนที่เป็นพังผืดแข็งหรือก้อนแข็ง 
  • อาจเกิดพังผืดแผ่นหรือก้อนแข็งในบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายร่วมด้วย เช่น มือหรือเท้า เป็นต้น
  • ลักษณะขององคชาตเปลี่ยนแปลงไป เช่น เล็กลง สั้นลง เป็นรอยคอดคล้ายนาฬิกาทรายหรือรอยเว้าเข้าไป

โรค Peyronie's Disease แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ในระยะแรกเป็นช่วงที่เกิดการอักเสบและเริ่มเป็นก้อนแข็งขึ้นบริเวณองคชาต องคชาติเริ่มโค้งงอ และรู้สึกเจ็บแม้ขณะไม่แข็งตัว ในระยะเรื้อรังจะเริ่มแสดงอาการของโรคหลังผ่านไปประมาณ 1 ปี โดยองคชาตจะโค้งงอชัดเจน แต่พังผืดหรือก้อนแข็งที่องคชาตยังคงอยู่ อาการเจ็บมักจะเบาบางลง และอาจเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้

หากสังเกตเห็นความผิดปกติขององคชาต มีอาการปวด องคชาตโค้งงอ หรือมีขนาดและรูปร่างที่ผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดอาการรุนแรงและช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

สาเหตุของ Peyronie's Disease

ทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของ Peyronie's Disease แต่คาดว่าอาจเกิดจากโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง (Autoimmune Disease) หรืออาจเกิดจากการที่องคชาตฟื้นตัวจากการได้รับบาดเจ็บจากการทำกิจกรรม การเล่นกีฬา การเกิดอุบัติเหตุหรือในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ 

ทั้งนี้ Peyronie's Disease ไม่ใช่โรคติดต่อและไม่ได้เป็นผลข้างเคียงจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ บางกรณีอาจเกิดขึ้นได้เองโดยที่องคชาตไม่ได้รับบาดเจ็บด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วยโรค Peyronie's Disease เคยผ่าตัดต่อมลูกหมาก หรือป่วยด้วยโรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective Tissue Disease) ชนิดอื่น อย่างโรคจากการหดรัดของแผ่นเอ็นฝ่ามือ (Dupuytren's Contracture)

การวินิจฉัย Peyronie's Disease 

แพทย์จะตรวจร่างกายของผู้ป่วย โดยบริเวณองคชาตอาจเห็นร่องรอยของพังผืดได้อย่างชัดเจน บางครั้งอาจสัมผัสได้ถึงพังผืดแข็งหรือก้อนแข็งในขณะที่องคชาตไม่แข็งตัว ร่วมกับการสอบถามอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น อาการเจ็บขณะองคชาตแข็งตัวหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติดังกล่าว 

นอกจากนี้ แพทย์อาจวินิจฉัย Peyronie's Disease ด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น การใช้เครื่องปั๊มสูญญากาศหรือการฉีดยาเพื่อกระตุ้นการแข็งตัวขององคชาต และการอัลตราซาวด์ เพื่อดูการไหลเวียนของเลือดในบริเวณดังกล่าวร่วมด้วย

การรักษา Peyronie's Disease

หากอาการของ Peyronie's Disease ไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา เช่น องคชาตไม่โค้งงอหรือโค้งงอเพียงเล็กน้อย สามารถปัสสาวะและมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ ไม่เจ็บบริเวณที่เกิดพังผืดหรือก้อนแข็ง และมีพังผืดหรือก้อนแข็งเพียงเล็กน้อย รวมถึงบางรายอาการอาจหายไปได้เอง

กรณีที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษา แพทย์จะรักษาตามลักษณะของอาการและระยะเวลาที่เกิดอาการของโรค Peyronie's Disease ดังนี้

การใช้ยา

ปัจจุบันยาที่รักษา Peyronie's Disease ได้อย่างมีประสิทธิภาพยังมีจำนวนน้อย แพทย์จึงอาจใช้ยาหลายกลุ่มร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่น โดยตัวอย่างยาที่ใช้ในการรักษา Peyronie's Disease ได้แก่ 

  • ยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบบริเวณที่มีอาการ
  • ยาสลายเนื้อเยื่อพังผืดหรือที่เรียกว่าคอลลาจีเนส (Collagenase) ผลิตจากเชื้อคลอสทริเดียม (Clostridium Histolyticum) เป็นยาฉีดที่ช่วยสลายเนื้อเยื่อที่ทำให้องคชาตผิดรูป โดยผู้ป่วยมักต้องเข้ารับการฉีดยาหลายครั้ง และแพทย์จะฉีดยาชาก่อนเพื่อป้องกันการเจ็บระหว่างฉีด
  • ยาเวอราปามิล (Verapamil) รูปแบบยาฉีด เพื่อบรรเทาอาการปวดและขัดขวางการสร้างพังผืดแข็งหรือก้อนแข็งในบริเวณองคชาต
  • ยาอินเตอร์เฟอรอน (Interferon) รูปแบบยาฉีด จะช่วยขัดขัดขวางการสร้างเนื้อเยื่อและทำลายพังผืดบริเวณใต้ผิวหนังองคชาต และช่วยลดอาการปวดในบริเวณดังกล่าว

การดึงปรับรูปองคชาต (Penile Traction Therapy)

เป็นวิธีที่เหมาะกับผู้ป่วย Peyronie's Disease ในระยะเริ่มต้น หรืออาจใช้ร่วมกับวิธีการอื่นในระยะเรื้อรัง โดยแพทย์จะสวมอุปกรณ์ตรึงองคชาตไว้อย่างน้อย 30 นาที ก่อนจะค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาการสวมมากขึ้นตามความเหมาะสม โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะยืดหรือหดได้ตามขนาดขององคชาต เพื่อช่วยให้องคชาตที่โค้งหรือลักษณะผิดไปจากปกติตรงมากขึ้น และป้องกันองคชาตหดเล็กลง

การผ่าตัด

กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของ Peyronie's Disease ขั้นรุนแรง อาการเรื้อรังนานเกิน 1 ปี หรืออาการของโรคส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์จะผ่าตัดเพื่อทำให้องคชาตกลับมาตรงได้ตามเดิม โดยจะเป็นการตัดพังผืดแข็งหรือก้อนแข็งออก และใช้เนื้อเยื่อจากบริเวณอื่นเย็บเข้าไปแทนเพื่อปิดแผล 

นอกจากนี้ การผ่าตัดอีกรูปแบบหนึ่งจะเป็นการเย็บผิวองคชาตฝั่งตรงข้ามกับบริเวณที่มีอาการให้สั้นลง เพื่อทำให้องคชาตตรงขึ้น หรืออาจผ่าตัดร่วมกับฝังอุปกรณ์ในองคชาตหากผู้ป่วยมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศร่วมด้วย 

ภาวะแทรกซ้อนของ Peyronie's Disease

Peyronie's Disease อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดบริเวณองคชาต องคชาตไม่สามารถแข็งตัวได้ มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ องคชาตหดสั้นลง และอาจส่งผลกระทบต่อการมีบุตรได้ในอนาคต รวมถึงผู้ป่วยอาจเกิดความวิตกกังวล ความเครียดหรือภาวะซึมเศร้าจากผลกระทบของโรค 

การป้องกัน Peyronie's Disease

Peyronie's Disease เป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงได้โดยการป้องกันการได้รับบาดเจ็บบริเวณองคชาต เช่น ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้สูงอาจใช้สารหล่อลื่นในปริมาณที่เหมาะสมเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุกับองคชาต เป็นต้น