โรคแอนแทรกซ์

ความหมาย โรคแอนแทรกซ์

โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) คือโรคติดเชื้อร้ายแรงที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งซึ่งสามารถพบได้ตามธรรมชาติในดิน มักแพร่ระบาดในสัตว์กินพืชเนื่องจากสัตว์เหล่านี้กินสปอร์ที่อยู่บนหญ้าเข้าไป และติดต่อไปสู่คนจากการบริโภคเนื้อสัตว์ปรุงไม่สุกที่ตายด้วยโรคนี้ 

โรคแอนแทรกซ์

ประเทศไทยมีการระบาดของโรคแอนแทรกซ์เป็นระยะ โดยพบรายงานการเกิดโรคมากที่สุดในปี พ.ศ. 2538 จำนวน 102 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต และลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนไม่พบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบัน

อาการของโรคแอนแทรกซ์

ผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์จะแสดงอาการตามรูปแบบการติดเชื้อ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นกับบริเวณใดในร่างกายก็ได้ โดยเริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ 1 วันไปจนถึงนานกว่า 2 เดือนหลังการได้รับเชื้อ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการได้รับเชื้อรูปแบบใดนั้นก็นับว่าเป็นอันตรายหากไม่ได้รับการรักษา เพราะอาจแพร่กระจายไปทั่วร่างกายจนมีอาการป่วยรุนแรงและถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทั้งนี้อาการและระยะแสดงอาการของโรคแต่ละรูปแบบมีความแตกต่างกัน ดังนี้

การติดเชื้อที่ผิวหนัง แผลต่าง ๆ บนผิวหนังเป็นปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อในลักษณะนี้ และยังเป็นช่องทางการติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุด แต่ก็มีความรุนแรงน้อยที่สุด มักปรากฏอาการของโรคหลังการติดเชื้อและเชื้อมีการสร้างสปอร์ประมาณ 1 วัน หรืออาจใช้เวลานานกว่านี้ โดยทำให้เกิดตุ่มเล็ก ๆ ที่อาจมีอาการคันร่วมและกลายเป็นแผลอย่างรวดเร็ว มีอาการบวมพุพองหรือมีน้ำหนองอยู่ภายใน แต่ไม่รู้สึกเจ็บ จากนั้นตรงกลางตุ่มจึงเริ่มกลายเป็นสีดำ บ่งบอกถึงการตายของเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าว อาการอื่น ๆ ที่อาจพบเช่นกัน ได้แก่ อาการบวมใกล้ต่อมน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดศีรษะ และเป็นไข้ ทั้งนี้ผู้ติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์บริเวณผิวหนังที่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมนั้นมักไม่เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต แต่หากไม่ได้รับการรักษาจะมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตในอัตราประมาณร้อยละ 20

การติดเชื้อที่ระบบทางเดินอาหาร เกิดขึ้นจากการรับประทานเนื้อปรุงไม่สุกที่มีเชื้อแอนแทรกซ์ ผู้ป่วยมักแสดงอาการของโรคภายใน 1 สัปดาห์หลังจากร่างกายสัมผัสเชื้อ อาการเริ่มแรกอาจสังเกตว่ามีแผลที่ปาก เจ็บคอ คอบวม กลืนลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ไม่อยากอาหาร หรือมีไข้ และเมื่ออาการแย่ลงอาจทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ ซึ่งเกิดขึ้นจากการบวมของคอ รวมทั้งอุจจาระเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด หรือปวดท้อง เนื่องจากร่างกายมีการสร้างของเหลวขึ้นมา นอกจากนี้ยังสามารถเกิดอาการช็อกหรือถึงแก่ความตายได้ภายใน 2-3 วันถัดมา ซึ่งหากได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมจะมีโอกาสรอดชีวิตได้ถึงร้อยละ 60

การติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ โรคแอนแทรกซ์รูปแบบนี้เกิดจากการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อแอนแทรกซ์เข้าไป ซึ่งเป็นลักษณะการติดเชื้อที่รุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่สุดแม้จะได้รับการรักษาแล้วก็ตาม อาการขั้นต้นที่สังเกตได้คืออาการคล้ายโรคหวัด เช่น เจ็บคอ มีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจคงอยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมงหรือหลายวัน อาการอื่น ๆ ได้แก่ รู้สึกไม่ค่อยสบายบริเวณช่องอก หายใจหอบเหนื่อย กลืนแล้วเจ็บ คลื่นไส้ ไอเป็นเลือด และเมื่ออาการของโรคดำเนินไปอาจมีไข้สูง หายใจลำบาก ช็อก และเยื่อหุ้มสมองอักเสบซึ่งเป็นการอักเสบของสมองและไขสันหลังที่ส่งผลร้ายถึงชีวิตได้

การติดเชื้อจากการฉีดยา เป็นการติดเชื้อที่มีรายงานว่าพบในทวีปยุโรปเมื่อนานมาแล้ว เกิดจากการฉีดสารเสพติดเข้าสู่ร่างกาย เมื่อได้รับเชื้อจะทำให้มีอาการคล้ายการติดเชื้อที่บริเวณผิวหนัง คือมีตุ่มนูนเล็ก ๆ ที่อาจมีอาการคัน แต่ไม่เจ็บ มีหนองอยู่ภายในและค่อย ๆ เกิดจุดสีดำตรงกลางเมื่อเนื้อเยื่อเริ่มตาย ผิวหนังบริเวณดังกล่าวแดง บวม ทั้งยังอาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต มีไข้ ปวดศีรษะ ซึ่งจะทำให้ยากต่อการตรวจรักษา และเนื่องจากเป็นการติดเชื้อที่เกิดจากการฉีดยา เชื้อจึงอาจลงลึกไปที่ใต้ผิวหนังหรือในกล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีดยาเข้าไป อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อรูปแบบนี้มีความแตกต่างจากการติดเชื้อที่ผิวหนัง คือ สามารถแพร่กระจายสู่ทั่วร่างกายได้อย่างรวดเร็ว เมื่ออาการของโรคดำเนินไป ผู้ป่วยอาจมีอาการช็อก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลวในที่สุด

อย่างไรก็ตาม อาการป่วยคล้ายโรคหวัดนั้นเป็นอาการที่พบได้ในโรคหลากหลายชนิด และมีโอกาสน้อยมากที่อาการเจ็บคอหรือปวดกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นจะมีสาเหตุมาจากโรคแอนแทรกซ์ แต่หากสงสัยว่าตนเองอาจมีการสัมผัสเชื้อ เช่น อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคแอนแทรกซ์ มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหลังจากสัมผัสสัตว์หรือวัตถุดิบจากสัตว์ในพื้นที่ที่มีการแพร่กระจายของเชื้อ เหล่านี้ควรต้องไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและรับการรักษาทันที โดยการได้รับวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

สาเหตุของโรคแอนแทรกซ์

โรคแอนแทรกซ์เกิดจากแบคทีเรียแบซิลลัส แอนทราซิส (Bacillus Anthracis) ที่เกิดขึ้นเองตามดินในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก โดยแบคทีเรียชนิดนี้จะสร้างสปอร์ที่สามารถหยุดการเจริญเติบโตไว้เป็นเวลาหลายปีจนกว่าจะเข้าไปอยู่อาศัยในสัตว์อื่น เช่น สัตว์ป่า หรือสัตว์ในฟาร์มปศุสัตว์อย่าง แกะ แพะ ม้า โค และกระบือ ส่วนการติดเชื้อสู่คนโดยมาก จะเกิดขึ้นเมื่อมีการสัมผัสกับตัวสัตว์หรือผลิตภัณฑ์สัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ ขน หรือหนังสัตว์ที่มีเชื้อนี้

ทั้งนี้ ผู้ที่สัมผัสกับสปอร์ของเชื้อแบคทีเรียแอนแทรกซ์ล้วนมีความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคนี้ ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็มักไม่เคยเผชิญกับเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว แต่บุคคลต่อไปนี้อาจเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อได้สูงกว่าปกติ

  • ผู้ที่ต้องสัมผัสกับวัตถุดิบจากสัตว์ เช่น คนแล่เนื้อ
  • สัตวแพทย์
  • นักท่องเที่ยว
  • ผู้ที่ทำงานในฟาร์มปศุสัตว์
  • เจ้าหน้าที่ตรวจเชื้อในห้องปฏิบัติการ
การวินิจฉัยโรคแอนแทรกซ์

แพทย์จะสอบถามถึงอาการที่พบตลอดจนกิจกรรมหรืองานที่ทำซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อชนิดนี้ และเริ่มด้วยการตรวจแยกโรคชนิดอื่นที่มักพบว่าเป็นสาเหตุของอาการดังกล่าวได้บ่อยกว่า เช่น โรคหวัดหรือโรคปอดบวม โดยอาจใช้การทดสอบการติดเชื้อหวัดอย่างรวดเร็วเพื่อวินิจฉัยสาเหตุของอาการคล้ายหวัดที่เกิดขึ้น และเมื่อใช้การทดสอบโรคอื่น ๆ แล้วพบว่าไม่ใช่สาเหตุของอาการที่เกิดขึ้น จึงใช้การทดสอบที่เฉพาะเจาะจงสำหรับโรคแอนแทรกซ์ เช่น

  • การตรวจผิวหนัง โดยการเก็บตัวอย่างจากแผลหรือเนื้อเยื่อเล็ก ๆ บนผิวหนังบริเวณที่สงสัยว่าจะเกิดการติดเชื้อเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
  • การตรวจเลือด เป็นการเจาะเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อแบคทีเรียในเลือด
  • การตรวจเอกซเรย์หรือทำคอมพิวเตอร์สแกนปอด ซึ่งเป็นวิธีวินิจฉัยการติดเชื้อแอนแทรกซ์ที่ระบบทางเดินหายใจ
  • การเก็บตัวอย่างเสมหะหรือสารคัดหลั่งในทางเดินหายใจ เป็นอีกวิธีที่แพทย์อาจนำมาใช้ตรวจหาการติดเชื้อแอนแทรกซ์บริเวณระบบทางเดินหายใจ
  • การตรวจอุจจาระ การวินิจฉัยการติดเชื้อที่ระบบทางเดินอาหารอาจใช้การตรวจหาเชื้อแบคทีเรียในอุจจาระ
  • การเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง แพทย์จะใช้เข็มสอดเข้าไปยังไขสันหลังของผู้ป่วยเพื่อเก็บน้ำไขสันหลังออกมาส่งตรวจ โดยวิธีนี้เป็นการวินิจฉัยเพื่อยืนยันภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากโรคแอนแทรกซ์
การรักษาโรคแอนแทรกซ์

เมื่อคาดว่ามีการสัมผัสกับเชื้อโรคแอนแทรกซ์ แพทย์จะป้องกันการติดเชื้อด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) หรือดอกซีไซคลีน (Doxycycline) เป็นเวลานานกว่า 60 วัน โดยผู้ที่เผชิญกับเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคหรือติดเชื้อแล้วจะได้รับการรักษาแตกต่างกันดังนี้

ผู้ที่ติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์ การติดเชื้อแอนแทรกซ์ที่เกิดขึ้นแล้วนั้นจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะโดยเร็วที่สุด ควบคู่ไปกับการรักษาที่แตกต่างกันไปตามบริเวณที่ติดเชื้อ เช่นในกรณีที่เป็นการติดเชื้อบริเวณระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการฉีดยาต้านพิษหรือแอนติทอกซิน (Antitoxin) โอบิลท็อกซาซิแมบ (Antitoxin Obiltoxaximab) ร่วมกับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม หรือบางรายต้องให้การรักษาด้วยการประคับประคองอาการในโรงพยาบาล โดยยิ่งเริ่มรักษาเร็วเท่าไรก็ยิ่งให้ผลดีต่อผู้ป่วย การรักษาก่อนเริ่มแสดงอาการจะช่วยลดความรุนแรงของการติดเชื้อและลดโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคได้

ผู้ที่สัมผัสเชื้อแต่ยังไม่ติดโรค เช่นเดียวกับผู้ที่ติดเชื้อแล้ว ผู้ที่สงสัยว่าจะมีการสัมผัสกับโรคแอนแทรกซ์จะได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เพิ่มเติมด้วยการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อจำนวน 3 ครั้ง ทั้งนี้ แม้ไม่ใช่ทุกคนที่สัมผัสเชื้อแล้วจะเกิดการติดเชื้อ แต่เพื่อความปลอดภัยจึงควรป้องกันไว้ก่อน เพราะไม่อาจรู้ได้ว่าการสัมผัสครั้งนั้นจะทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นหรือไม่ ผู้ที่สงสัยว่าตนเองอาจเผชิญกับเชื้อโรคแอนแทรกซ์ให้รีบไปพบแพทย์ทันที อย่ารับประทานยาปฏิชีวนะเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์

ภาวะแทรกซ้อนของโรคแอนแทรกซ์

ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงที่สุดของการติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์ที่เกิดขึ้นได้ คือการอักเสบของเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง ซึ่งจะนำไปสู่การมีเลือดออกมากในสมองและถึงแก่ชีวิตในที่สุด

การป้องกันโรคแอนแทรกซ์

โรคแอนแทรกซ์ไม่สามารถติดต่อจากคนไปสู่คนได้ จึงไม่จำเป็นต้องแยกผู้ป่วย ส่วนการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อนั้นก็มีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกัน แต่ไม่ใช่วัคซีนที่สามารถฉีดได้โดยทั่วไป เนื่องจากการติดเชื้อในคนกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับเชื้อแอนแทรกซ์นั้นมีความเสี่ยงน้อย

ดังนั้น วัคซีนป้องกันโรคแอนแทรกซ์จึงฉีดให้กับผู้ที่คาดว่ามีการสัมผัสเชื้อหรือบุคคลเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง เช่น ทหาร ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดหรือสัมผัสกับวัตถุดิบจากสัตว์ เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการ หรือนักวิทยาศาสตร์ โดยหลังจากได้รับการฉีด 2 ครั้ง วัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้ประมาณ 91 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีวัคซีนฉีดป้องกันสัตว์ไม่ให้ติดเชื้อแอนแทรกซ์และแพร่มาสู่คนเช่นกัน ซึ่งจะฉีดในแหล่งที่มีการแพร่ระบาดของโลก

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนป้องกันโรคแอนแทรกซ์ไม่แนะนำให้ใช้ในกรณีต่อไปนี้

  • ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนชนิดนี้แล้วมีอาการแพ้อย่างรุนแรง
  • ผู้ที่มีอาการแพ้ส่วนผสมใด ๆ ในวัคซีนโรคแอนแทรกซ์ไม่ควรได้รับวัคซีนชนิดนี้ รวมทั้งผู้ที่เคยมีอาการแพ้สารต่าง ๆ หรือน้ำยางจากธรรมชาติอย่างรุนแรง
  • ผู้ป่วยที่มีอาการขั้นปานกลางหรือรุนแรง โดยแพทย์อาจรอให้ผู้ป่วยฟื้นตัวก่อนจึงจะฉีดวัคซีนให้ ส่วนผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถรับวัคซีนได้ตามปกติ
  • หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ไม่ควรรับวัคซีนโรคแอนแทร็กซ์
ส่วนผู้ที่อาศัยหรือท่องเที่ยวในประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อแอนแทรกซ์และไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ให้กับสัตว์ ควรระมัดระวังด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวหนังของสัตว์ต่าง ๆ และไม่ควรรับประทานเนื้อที่ไม่ได้ผ่านการปรุงจนสุกดี เมื่อมีสัตว์ตายควรจัดการอย่างระมัดระวังและสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสมอ เช่นเดียวกับผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับหนังสัตว์และขนสัตว์