เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)

ความหมาย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) เป็นโรคติดเชื้อบริเวณเยื่อหุ้มที่หุ้มรอบสมองและไขสันหลัง จนส่งผลให้บริเวณดังกล่าวอักเสบบวม และนำไปสู่อาการต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ คอแข็งขยับไม่ได้ และเป็นไข้ 

เยื่อหุ้มสมองอักเสบอาจเกิดได้จากการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา โดยโรคนี้จะพบได้ทั้งในเด็กอ่อน เด็กเล็ก วัยรุ่น จนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งบางชนิดอาจเป็นอันตรายร้ายแรงหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

อาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

อาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบในระยะแรกเริ่มอาจคล้ายคลึงอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ โดยจะแสดงอาการมากขึ้นเมื่อผ่านไปหลายชั่วโมงหรือเป็นเวลา 2–3 วันแล้ว โดยอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้

  • ตึงบริเวณคอ
  • มีอาการสับสน ไม่มีสมาธิในการจดจ่อ
  • ไข้ขึ้นสูงเฉียบพลัน
  • ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
  • ชัก
  • แพ้แสงหรือไวต่อแสง
  • ไม่มีความกระหายหรืออยากอาหาร
  • ปวดหัวอย่างรุนแรงผิดปกติ
  • ง่วงนอน หรือตื่นนอนยาก
  • ผิวหนังเป็นผื่น โดยมักพบได้ในผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น

ในกรณีเด็กแรกเกิดจนกระทั่งอายุไม่เกิน 1 เดือน อาจมีอาการดังนี้

  • ร้องไห้ตลอดเวลา
  • มีไข้สูง
  • ตัวและลำคอเกร็งแข็ง
  • นอนหลับมากเกินไป หรือหงุดหงิดง่าย
  • เฉื่อยชา เคลื่อนไหวน้อย
  • กระหม่อมนูน
  • ดื่มนมได้น้อยลงมาก

ทั้งนี้ เยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นโรครุนแรงที่อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ ดังนั้น ผู้ที่เกิดอาการในลักษณะข้างต้น หรือพบบุตรหลานที่มีอาการเข้าข่าย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

สาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

เยื่อหุ้มสมองอักเสบเกิดจากการติดเชื้อ โดยอาจเป็นได้ทั้งเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา แต่ส่วนใหญ่มักเป็นเชื้อไวรัส

สาเหตุจากเชื้อไวรัส 

เชื้อไวรัสที่สามารถไปสู่เยื่อหุ้มสมองและก่อให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ เช่น ไวรัสโรคคางทูม (Mumps) ไวรัสโรคเริม (Herpes) ไวรัสจากโรคอีสุกอีใส (Chicken pox) และไวรัสจากไข้หวัด (Influenza)

ทั้งนี้ ผู้ที่เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัสบางคน อาจไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เนื่องจากมีโอกาสน้อยมากที่เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัสจะทำอันตรายต่อสมองถาวรหลังจากอาการติดเชื้อบรรเทาลงแล้ว

สาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย

เชื้อแบคทีเรียที่มักเป็นสาเหตุของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ได้แก่

  • Neisseria meningitidis (Meningococcus) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคไข้กาฬหลังแอ่น 
  • Streptococcus pneumoniae (Pneumococcus) ที่พบได้ในภาวะปอดอักเสบติดเชื้อ

ส่วนเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ ที่มีโอกาสเป็นสาเหตุการเกิดได้เช่นกัน ได้แก่

  • เชื้อแบคทีเรียโรคฮิบ (Haemophilus influenzae Type B)
  • เชื้ออีโคไล (Escherichia coli: E. coli)
  • เชื้อวัณโรค (TB)

การติดเชื้อจากแบคทีเรียที่เยื่อหุ้มสมองสามารถส่งผลอันตรายอย่างรุนแรง ซึ่งหากไม่รับการรักษาโดยเร็ว การติดเชื้อชนิดนี้จะร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตหรือเกิดการกระทบกระเทือนต่อสมองและร่างกายส่วนอื่น ๆ อย่างถาวร 

นอกจากนี้ การติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดนี้สามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นผ่านการไอและจามได้ โดยแบคทีเรียที่เข้าไปสู่เลือดผ่านโพรงจมูก หู หรือส่วนอื่น ๆ ของทางเดินหายใจตอนบน และเข้าไปยังสมองในที่สุด

สาเหตุจากเชื้อรา

เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อราเป็นสาเหตุที่พบได้น้อย ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงมักจะไม่ติดเชื้อชนิดนี้ แต่ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างผู้ป่วยเอดส์มักมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดโรคนี้ด้วย

การวินิจฉัยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

แพทย์จะวินิจฉัยโดยใช้ข้อมูลประวัติด้านสุขภาพของผู้ป่วย การตรวจร่างกาย ตรวจดูอาการของการติดเชื้อรอบ ๆ ศีรษะ ใบหู ลำคอ และผิวหนังตามแนวกระดูกสันหลัง รวมถึงดูอาการทางระบบประสาท เช่น อาการคอแข็ง ระดับสติสัมปชัญญะ สัญญาณชีพจร และอาจใช้การตรวจวินิจฉัยต่อไปนี้ร่วมด้วย

  • การเก็บตัวอย่างโรค เนื่องจากแบคทีเรียเดินทางจากเลือดไปสู่สมองได้ แพทย์จึงใช้วิธีเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วยเพื่อเพาะเชื้อหาสาเหตุการเกิดโรคในเลือดที่ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น N. meningitidis และ S. pneumoniae
  • การถ่ายภาพด้วย CT Scan (Computerized Tomography) หรือ MRI (Magnetic Resonance Imaging) ทำโดยการใช้เครื่องมือดังกล่าวถ่ายภาพของสมองที่อาจมีอาการบวมหรือพุพอง นอกจากนี้ แพทย์อาจถ่ายภาพบริเวณอกหรือโพรงจมูกเพื่อตรวจดูการติดเชื้อในบริเวณอื่นที่อาจเกี่ยวเนื่องกับเยื่อหุ้มสมองอักเสบด้วย
  • การเจาะน้ำไขสันหลัง นับเป็นวิธีที่แน่นอนและแม่นยำในการวินิจฉัยเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยผู้ป่วยจะถูกเจาะน้ำจากไขสันหลังไปตรวจสอบ

การรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

วิธีการรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะขึ้นอยู่กับชนิดของการติดเชื้อ ได้แก่

ติดเชื้อแบคทีเรีย

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียแบบเฉียบพลันจำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที โดยรับยาปฏิชีวนะเข้าหลอดเลือดดำ ทั้งนี้ การจะเลือกใช้ยาปฏิชีวนะใด ๆ ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ

ติดเชื้อไวรัส

อาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไวรัสนั้นมักจะบรรเทาลงได้เองภายใน 2 สัปดาห์ และมักไม่ส่งผลให้เกิดผลกระทบใด ๆ ที่รุนแรง โดยแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อน ดื่มน้ำให้มาก และรับประทานยาลดไข้และบรรเทาอาการปวด

อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจให้ยาคอร์ติสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เพื่อลดการบวมในสมอง ยากันชัก (Anticonvulsant) เพื่อควบคุมการชักของผู้ป่วย หรือยาต้านไวรัส หากเป็นการติดเชื้อที่เกิดจากไวรัส Herpes หรือหากเกิดจากเชื้อชนิดอื่น สามารถรักษาโดยการให้ยาฆ่าเชื้อนั้น ๆ ร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ

นอกจากนี้ ในกรณีที่แพทย์พบว่าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือหมดสติ แพทย์อาจจำเป็นให้ผู้ป่วยนอนที่โรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาอย่างใกล้ชิดทันที

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

ความรุนแรงของอาการแทรกซ้อนจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนสามารถมีได้หลากหลาย ดังนี้

  • ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus)
  • สมองเกิดความเสียหาย
  • เชื้อเกิดการแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย
  • อาการชัก
  • ปัญหาด้านความทรงจำและการจดจ่อสมาธิ
  • ปัญหาด้านการเคลื่อนไหว การประสานงาน และความสมดุลของร่างกาย
  • ปัญหาด้านพฤติกรรม
  • ปัญหาในการเรียนรู้เรื่องที่ยาก
  • สูญเสียการได้ยิน อาจได้ยินเพียงบางส่วนหรือไม่ได้ยินเลยทั้งหมด
  • สูญเสียแขนขา ผู้ป่วยอาจต้องตัดแขนขา ป้องกันการติดเชื้อไปสู่ร่างกาย
  • ปัญหาเกี่ยวกับกระดูกและข้อต่อ เช่น ข้ออักเสบ
  • ปัญหาเกี่ยวกับไต
  • มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น อาการนอนไม่หลับ
  • มีปัญหาในการพูด

การป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

เนื่องจากการติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบสามารถแพร่กระจายได้ทางการไอ จาม และการใช้ของใช้ส่วนตัวบางอย่างร่วมกัน เช่น แปรงสีฟัน หรือช้อน การรักษาสุขภาพและสุขอนามัยจึงสำคัญ โดยการล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการดื่มหรือรับประทานอาหารจากภาชนะเดียวกับผู้อื่น และเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

หากมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นการติดเชื้อชนิดที่ร้ายแรง แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการเกิดโรค

นอกจากนี้ อีกหนึ่งวิธีที่สามารถป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้คือการฉีดวัคซีน ซึ่งวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ได้แก่

วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อฮิบ (Haemophilus Influenzae Type B) 

วัคซีนนี้เป็นวัคซีนป้องกันเชื้อที่อาจก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ รวมถึงโรคอื่น ๆ เช่น ปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ ข้ออักเสบ ปอดอักเสบ โดยฉีดให้เมื่อเด็กอายุมากกว่า 2 เดือนขึ้นไป

การฉีดวัคซีนชนิดนี้อาจมีผลข้างเคียง เช่น ทำให้เด็กรู้สึกเบื่ออาหาร โดยตัวอย่างการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อฮิบ ได้แก่

  • อายุ 2–6 เดือน ให้ฉีดเดือนที่ 0 และเดือนที่ 2 โดยเข็มแรกนับเป็นเดือนที่ 0 และเข็มที่ 2 ฉีดในอีก 2 เดือนถัดมา และฉีดกระตุ้นอีกเมื่ออายุ 12–18 เดือน
  • อายุ 7–11 เดือน ให้ฉีดเดือนที่ 0 และเดือนที่ 2
  • อายุ 12–24 เดือน ให้ฉีดเข็มเดียว
  • อายุมากกว่า 24 เดือน และอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ให้ฉีดเดือนที่ 0 และเดือนที่ 2

วัคซีน IPD (Pneumococcal Vaccine)

วัคซีนนี้เป็นวัคซีนฉีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรียนิวโมคอกคัส (Pneumococcus) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด รวมถึงเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยมี 2 ชนิด คือ PCV13 ที่ครอบคลุมการติดเชื้อ 13 ชนิด และ PPSV23 ที่ครอบคลุมการติดเชื้อได้ 23 ชนิด 

แพทย์จะฉีดวัคซีนนี้ให้ตามความเหมาะสม ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงทำให้บวมแดงบริเวณที่ฉีด หรือมีไข้อ่อน ๆ และจะค่อย ๆ บรรเทาลงเมื่อเวลาผ่านไป 2–3 วัน 

โดยแพทย์อาจพิจารณาฉีดให้ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 65 ปี และเด็กที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เด็กที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ติดเชื้อเอชไอวี ไม่มีม้ามหรือม้ามทำงานไม่ดี อยู่ในสภาพแวดล้อมหรือภาวะเสี่ยง และเด็กที่ได้รับการผ่าตัดใส่วัสดุเทียมของหูชั้นในหรือมีการเปลี่ยนอวัยวะ

ทั้งนี้ แม้วัคซีน IPD จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคอันตรายดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมเชื้อทุกสายพันธ์ุ และมีระยะเวลาป้องกันโรคเพียง 2–3 ปี 

วัคซีนป้องกันโรคหัด โรคคางทูม และโรคหัดเยอรมัน (MMR) 

วัคซีนชนิดนี้สามารถรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคเหล่านี้ไปด้วย มีวิธีการโดยฉีดเข้าใต้ชั้นผิวหนัง ซึ่งการฉีดวัคซีนนี้อาจส่งผลข้างเคียงให้เกิดไข้ ผื่นแดง อาการของโรคหวัดต่าง ๆ และต่อมน้ำลายบวม

โดยตัวอย่างการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน ได้แก่

  • เด็ก ควรฉีดครั้งแรกอายุ 12–15 เดือน ครั้งที่ 2 อายุ 4–6 ปี ทั้งนี้ บางกรณี วัคซีนครั้งที่ 2 อาจฉีดเร็วขึ้น โดยฉีดหลังจากครั้งแรกอย่างน้อย 28 วัน
  • ผู้ใหญ่ ผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป และเกิดหลังปีพ.ศ. 2499 ควรได้รับการฉีดวัคซีนโรคนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง

วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningitis ACWY Vaccine)

เป็นวัคซีนที่ป้องกันเชื้อโรคได้ 4 สายพันธุ์ คือ A, C, Y, และ W–135 ซึ่งสามารถช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคได้นาน 3 ปี ทั้งนี้ ชนิดเชื้อที่มักพบบ่อยในประเทศคือสายพันธุ์ A และ B โดยแพทย์มักฉีดให้ผู้ที่ต้องการเดินทางออกนอกประเทศที่อายุ 2 ปีขึ้นไป