ไข้กาฬหลังแอ่น

ความหมาย ไข้กาฬหลังแอ่น

ไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Disease) คือโรคติดเชื้อที่บริเวณเยื่อหุ้มสมอง เกิดจากเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย เมนิงไจทิดิส (Neisseria Meningitidis) ซึ่งเป็นเชื้อที่มีอันตรายสูง เกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย แต่มักพบในทารก เด็ก และวัยรุ่น ไข้กาฬหลังแอ่นเป็นโรคที่อันตราย เนื่องจากเป็นโรคที่มีการลุกลามค่อนข้างเร็ว แต่ก็สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ และถึงแม้จะสามารถรักษาได้ ก็เสี่ยงต่อความพิการ หรือเสียชีวิตได้เช่นกัน ไข้กาฬหลังแอ่นที่มักพบได้บ่อยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

  • ไข้กาฬหลังแอ่นชนิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningococcal Meningitis) เป็นไข้กาฬหลังแอ่นชนิดที่มีการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง ทำให้เกิดการอักเสบที่เยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง
  • ไข้กาฬหลังแอ่นชนิดติดเชื้อในกระแสเลือด (Meningococcal Septicemia หรือ Meningococcemia) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด จนทำให้เชื้อแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย และทำลายผนังหลอดเลือด ทำให้มีอาการเลือดออกที่ผิวหนังและอวัยวะได้

570 Meningococcal diseaseRe

อาการไข้กาฬหลังแอ่น

อาการของไข้กาฬหลังแอ่นค่อนข้างอันตรายและเฉียบพลัน โดยอาการของทั้ง 2 ชนิดค่อนข้างคล้ายกัน แต่จะแตกต่างกันไปตามบริเวณที่ติดเชื้อ ดังนี้

ไข้กาฬหลังแอ่นชนิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาการจะค่อนข้างเฉียบพลันและรุนแรง โดยไข้กาฬหลังแอ่นจะมีระยะเพาะเชื้อประมาณ 4 วัน และอาจเริ่มมีอาการให้เห็นตั้งแต่ประมาณ 2-10 วันหลังจากสัมผัสเชื้อ ทั้งนี้อาการทั่วไปที่สามารถพบในผู้ป่วยกาฬหลังแอ่น ได้แก่

ทว่าในเด็กทารก ผู้ปกครองอาจสังเกตอาการข้างต้นได้ยาก ดังนั้นผู้ปกครองอาจสังเกตได้จากอาการอื่น ๆ เช่น เด็กอาจมีอการเคลื่อนไหวที่ช้า หรือไม่ตอบสนอง หงุดหงิดง่าย อาเจียน หรือกินนมแม่ได้น้อย

ไข้กาฬหลังแอ่นชนิดติดเชื้อในกระแสเลือด อาการที่สามารถเห็นได้ชัดของโรคไข้กาฬหลังแอ่นชนิดนี้ ค่อนข้างอันตราย เพราะนอกจากจะมีอาการแสดงให้เห็นภายนอกแล้ว เชื้อแบคทีเรียยังเข้าไปทำงานในหลอดเลือด ทำให้เกิดเลือดออกภายในร่างกายได้ ทั้งนี้อาการที่สามารถสังเกตได้ในเบื้องต้นได้แก่

  • มีไข้
  • อ่อนเพลีย
  • อาเจียน
  • มือและเท้าเย็น มีอาการหนาวสั่น
  • มีอาการปวดอย่างรุนแรงที่กล้ามเนื้อ ข้อต่อ หน้าอก และบริเวณท้อง
  • หายใจหอบ
  • ท้องเสีย

ในรายที่อาการรุนแรงและเข้าสู่ระยะหลัง ๆ ที่ผิวหนังจะมีลักษณะม่วงเข้มเป็นปื้น ๆ ซึ่งเกิดมาจากเลือดออกที่บริเวณผิวหนัง

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยเริ่มมีอาการที่ผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เนื่องจากอาการของไข้กาฬหลังแอ่นเกิดขึ้นค่อนข้างเฉียบพลัน หากไม่รีบทำการรักษาอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ในเวลาอันสั้น

สาเหตุของไข้กาฬหลังแอ่น

ไข้กาฬหลังแอ่นมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย เมนิงไจทิดิส (Neisseria Meningitidis) ซึ่งมีทั้งหมด 6 สายพันธุ์ ได้แก่ A, B, C, W, X และ Y เมื่อเชื้อดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายแล้วจะแสดงอาการให้เห็นประมาณ 4 วัน ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวสามารถแพร่จากคนสู่คนได้ โดยทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจของผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะ คือมีเชื้อนี้อยู่ในร่างกายแต่ไม่มีอาการ ผ่านการจูบ การกอด และการหายใจ ไอ จามรดกัน หรืออยู่ใกล้ชิดกัน โดยกลุ่มเสี่ยงที่อาจติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนกลุ่มอื่นคือกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้

  • อายุ ทารก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ตอนต้น
  • ที่อยู่อาศัย อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่แออัด
  • มีเงื่อนไขสุขภาพบางอย่าง เช่น ผู้ป่วยไม่มีม้ามในร่างกาย
  • เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง พื้นที่ที่มีการแพร่กระจายของเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น
  • ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับเชื้อ เช่น ผู้ที่ทำงานกับเชื้อดังกล่าวโดยตรง หรือผู้ที่ต้องดูแลรักษาผู้ป่วยไข้กาฬหลังแอ่นอย่างใกล้ชิด

การวินิจฉัยไข้กาฬหลังแอ่น

หากผู้ป่วยมีอาการไข้สูงอย่างเฉียบพลัน ร่วมกับอาการปวดศีรษะและคอแข็ง ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที เนื่องจากไข้กาฬหลังแอ่นเป็นโรคที่ต้องรีบทำการรักษา หากปล่อยไว้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือเสียชีวิตได้

ทั้งนี้แพทย์จะเริ่มทำการตรวจด้วยการซักประวัติ เรื่องปัญหาสุขภาพ หรือความเป็นไปได้ที่อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับเชื้อ จากนั้นแพทย์จะทำการสั่งตรวจด้วยการเจาะน้ำไขสันหลัง และนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งถ้าหากผู้ป่วยติดเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น ก็จะสามารถพบเชื้อได้ในน้ำไขสันหลัง

นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งเจาะเลือดเพิ่มเติมเพื่อนำมาเพาะเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว เพื่อระบุชนิดของเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย เมนิงไจทิดิส (Neisseria Meningitidis) ที่ก่อให้เกิดโรค และเมื่อแพทย์สามารถสรุปการวินิจฉัยได้แล้วก็จะรีบวางแผนและเริ่มต้นการรักษาทันที

การรักษาไข้กาฬหลังแอ่น

หากผู้ป่วยมีอาการแสดงของไข้กาฬหลังแอ่นที่ค่อนข้างชัดเจน และหากแพทย์มั่นใจว่าผู้ป่วยป่วยด้วยโรคไข้กาฬหลังแอ่น แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนพักรักษาตัวภายในโรงพยาบาลทันที และจะรีบทำการรักษาโดยด่วน เนื่องจากหากทำการรักษาล่าช้าอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โดยแพทย์จะทำการรักษาดังนี้

  • ใช้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ เพื่อรักษาการติดเชื้อ และลดความเสี่ยงการเสียชีวิต ยาที่มักใช้ได้แก่ ยาแอมพิซิลิน (Ampicillin) ยาเพนิซิลิน (Penicillin) ยาโคลแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) และเซฟไตรแอโซน (Ceftriaxone) นอกจากนี้ยังอาจมีการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ร่วมด้วยโดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันอาการชักจากไข้สูง และการสูญเสียการได้ยินซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนของไข้กาฬหลังแอ่น

นอกจากนี้อาจมีการใช้ยาหรือวิธีการรักษาอื่น ๆ เพื่อทำการรักษาอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากไข้กาฬหลังแอ่น ได้แก่

  • การให้ออกซิเจนเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ
  • การใช้ยาเพื่อลดความดันโลหิต
  • รักษาบาดแผลที่ผิวหนังซึ่งเกิดจากโรคไข้กาฬหลังแอ่น

ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย หากมีแนวโน้มว่าอาจได้รับเชื้อจากผู้ป่วย แพทย์ก็จะให้รับประทานยาปฏิชีวนะไประยะหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อตามมาในภายหลัง

ภาวะแทรกซ้อนของไข้กาฬหลังแอ่น

แม้ว่าจะสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็ยังคงต้องพบภาวะแทรกซ้อนจากไข้กาฬหลังแอ่น เนื่องจากโรคนี้มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยภาวะแทรกซ้อนที่มักพบได้แก่

  • พิการ แม้จะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ แต่เชื้อแบคทีเรียที่จู่โจมสมอง อาจส่งผลกระทบให้เกิดความพิการ เช่น หูหนวก ตาบอด สูญเสียแขนขา สมองและระบบประสาทส่วนกลางถูกทำลาย โดยมีผู้ป่วย 11-19 คนจากผู้ป่วยไข้กาฬหลังแอ่น 100 คนที่เกิดความพิการในระยะยาว
  • เสียชีวิต แม้ว่าจะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะแล้ว แต่ก็มีผู้ป่วย 10-15 คนจากผู้ป่วยไข้กาฬหลังแอ่น 100 คน ที่เสียชีวิตจากโรคนี้ เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียส่งผลค่อนข้างร้ายแรง หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาทันทีหลังแสดงอาการก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 3 วัน

การป้องกันไข้กาฬหลังแอ่น

ไข้กาฬหลังแอ่นสามารถป้องกันได้ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น ก็จะช่วยให้ความเสี่ยงลดลงได้ แต่ถ้าได้รับเชื้อควรรีบมาพบแพทย์ อาจจำเป็นที่จะต้องรับประทานยาปฏิชีวนะติดต่อกันระยะหนึ่งเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้น

นอกจากนี้ โรคไข้กาฬหลังแอ่นยังสามารถป้องกันได้เบื้องต้นด้วยการฉีดวัคซีน แต่เนื่องจากในประเทศไทย สายพันธุ์ที่พบได้บ่อยที่สุดคือสายพันธุ์บี ซึ่งสายพันธุ์นี้ยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันได้โดยตรง ดังนั้นจึงยังไม่มีการแนะนำให้คนไทยฉีดวัคซีนป้องกันไข้กาฬหลังแอ่น แต่สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคหรือผู้ที่ต้องเดินทางไปในประเทศที่มีการระบุให้ทำการฉีดวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นก่อนเดินทางไป แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย เมนิงไจิดิส ก่อนเดินทาง สำหรับในประเทศไทย วัคซีนที่ใช้สามารป้องกันไข้กาฬหลังแอ่นได้ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ A, C, Y และ W-135 ซึ่งวัคซีนจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย ๆ ได้แก่

  • วัคซีนชนิดคอนจูเกต (Conjugated Tetravalent Meningococcal Vaccine)
  • วัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccraride Tetravalent Meningococcal Vaccine)

ทั้งนี้เมื่อผู้ป่วยได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว จะต้องรอประมาณ 7-10 วัน ภูมิคุ้มกันของโรคนี้จึงจะเพิ่มขึ้น โดยสามารถป้องกันได้นาน 3-5 ปี