โรคติดเชื้อไอพีดี (IPD)

ความหมาย โรคติดเชื้อไอพีดี (IPD)

IPD (Invasive Pneumococcal Disease) หรือโรคติดเชื้อไอพีดี คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส (Pneumococcus) อย่างรุนแรง ซึ่งโดยปกติแล้ว การติดเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวจะพบที่บริเวณหูชั้นกลาง ไซนัส ปอด ข้อต่อ และกระดูก แต่ในกรณีของผู้ป่วยไอพีดีจะพบว่าการติดเชื้อจะแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่น อย่างกระแสเลือดหรือเยื่อหุ้มสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมา เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด (Bacteremia) หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)

แบคทีเรียนิวโมคอคคัสหรืออีกชื่อคือสเตรปโตคอคคัส นิวโมเนีย (Streptococcus Pneumoniae) เป็นแบคทีเรียที่มีหลายสายพันธุ์ และมักพบได้ที่บริเวณจมูกและลำคอโดยไม่ทำให้เกิดอาการใด ๆ แต่เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวจะส่งผลกับผู้ที่ร่างกายอ่อนแอโดยการแพร่เชื้อไปที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งโรค IPD สามารถเกิดได้กับทุกคน แต่จะพบได้มากในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปีหรือผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 

โรคติดเชื้อไอพีดี (IPD)

อาการของ IPD

อาการของ IPD จะขึ้นอยู่กับว่าร่างกายมีการติดเชื้อที่บริเวณใด เช่น

  • เยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง ผู้ที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสบริเวณนี้อาจเกิดอาการต่าง ๆ เช่น รู้สึกปวดตึงบริเวณลำคอ เป็นไข้ ปวดศีรษะ มึนศีรษะ ดวงตาแพ้แสง (Photophobia) คลื่นไส้ อาเจียน และมีอาการสูญเสียการรับรู้รอบตัวหรือโคม่า หากเกิดการติดเชื้อในเด็กเล็ก อาจทำให้เด็กรับประทานอาหารได้น้อย เซื่องซึม และอาเจียน นอกจากนี้ ผู้ที่ติดเชื้อบริเวณนี้มักเกิดการติดเชื้อที่ปอดหรือปอดบวม (Pneumonia) ร่วมด้วย
  • กระแสเลือด ผู้ที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสในกระแสเลือดจะมีอาการหนาวสั่น เป็นไข้ ปวดศีรษะ ปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อ เซื่องซึม หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว หรือมีระดับความดันโลหิตต่ำจนส่งผลให้เกิดภาวะช็อก (Septic Shock)

การติดเชื้อในบริเวณดังกล่าวเป็นภาวะที่รุนแรงและอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากพบว่ามีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ

สาเหตุของ IPD

IPD เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสหรือสเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียในระดับรุนแรง โดยเชื้อจะแพร่กระจายไปยังบริเวณต่าง ๆ ในร่างกาย อย่างกระแสเลือด เนื้อเยื่อและน้ำที่ห่อหุ้มสมองและไขสันหลัง ซึ่งเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวสามารถแพร่จากคนสู่คนผ่านทางน้ำลาย น้ำมูก หรือสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ  

นอกจากนี้ บางคนอาจมีโอกาสในการเกิด IPD มากกว่าคนทั่วไปหากมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังนี้

  • เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี
  • ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำจากการใช้ยาหรือโรคบางชนิด เช่น โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Disease) ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) โรคหืด (Asthma) หรือโรคเรื้อรังทางหัวใจ ปอด ตับ และไต
  • ผู้ที่ผ่าตัดม้ามออกไปหรือไม่มีม้ามโดยกำเนิด (Anatomic Asplenia) หรือผู้ที่ม้ามทำงานผิดปกติ (Functional Asplenia)
  • ผู้ที่สูบบุหรี่
  • ผู้ที่ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม (Cochlear Implant) หรือมีภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่ว

การวินิจฉัย IPD

ในเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามประวัติและอาการผิดปกติของผู้ป่วย หากมีความเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยเป็น IPD โดยเฉพาะการติดเชื้อในกระแสเลือดหรือมีการติดเชื้อบริเวณเยื่อหุ้มสมอง แพทย์จะนำตัวอย่างเลือด น้ำหล่อเลี้ยงสมอง น้ำบริเวณเยื่อหุ้มปอด น้ำในข้อกระดูก หรือของเหลวบริเวณเยื่อบุช่องท้องไปเพาะหาเชื้อเพื่อวินิจฉัยให้แน่ใจว่าแบคทีเรียนิวโมคอคคัสเป็นสาเหตุของอาการ 

การรักษา IPD

ในการรักษา IPD เบื้องต้น แพทย์จะใช้ยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อที่กว้าง (Broad Spectrum) เพื่อครอบคลุมอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วย หลังจากนั้น เมื่อแพทย์ทราบผลการเพาะเชื้อของผู้ป่วย แพทย์อาจเปลี่ยนยาปฏิชีวนะเป็นชนิดที่ใช้สำหรับเชื้อโรคชนิดนั้น ๆ (Narrow Spectrum) เพื่อการรักษาที่เหมาะสมและทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นเร็วที่สุด

ภาวะแทรกซ้อนของ IPD

ผู้ป่วย IPD ที่ติดเชื้อในกระแสเลือดอาจมีโอกาสเสียชีวิตได้ โดยในช่วง 72 ชั่วโมงหลังการติดเชื้อจะเป็นช่วงที่ผู้ป่วยมีโอกาสในการเสียชีวิตมากที่สุด นอกจากนี้ ความเสี่ยงในการเสียชีวิตของผู้ป่วยอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ เช่น ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป ระดับความรุนแรงของโรค หรือการมีโรคประจำตัวที่ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างการติดเชื้อเอชไอวี (HIV)

การป้องกัน IPD

ในปัจจุบันแพทย์จะป้องกันการเกิด IPD ด้วยการใช้วัคซีน เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส โดยจะเลือกฉีดให้ตามความเหมาะสมของผู้ป่วย ได้แก่

  • ชนิดคอนจูเกต (Pneumococcal Conjugate Vaccine หรือ PCV13) เป็นวัคซีนที่ครอบคลุมการติดเชื้อ 13 ชนิด โดยเป็นชนิดที่ใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ที่มีอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไปที่มีโรคประจำตัวบางชนิด หรือผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 65 ปีบางคน
  • ชนิดโพลีแซคคาไรด์ (Pneumococcal Polysaccharide Vaccine หรือ PPSV23) เป็นวัคซีนที่ครอบคลุมการติดเชื้อ 23 ชนิด โดยเป็นชนิดที่ใช้ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ผู้ที่มีอายุ 2–64 ปีที่มีโรคประจำตัวบางชนิด หรือผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น เด็กที่คลอดก่อนช่วงอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ และผู้ที่อายุ 19–64 ปีที่มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่เป็นประจำ

ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องรับวัคซีนหลายครั้งหรือการฉีดกระตุ้น (Booster Doses) โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ อย่างไรก็ตาม วัคซีนทั้ง 2 ชนิดที่กล่าวมาไม่สามารถป้องกันแบคทีเรียนิวโมคอคคัสได้ทั้งหมด 90 สายพันธุ์ ดังนั้น บางคนอาจมีโอกาสติดเชื้อหรือเกิดโรคซ้ำแม้จะมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว