โรคติดเชื้อราแอสเปอร์จิลโลซิส (Aspergillosis)

ความหมาย โรคติดเชื้อราแอสเปอร์จิลโลซิส (Aspergillosis)

Aspergillosis เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อราแอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) ส่งผลให้ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ โดยความรุนแรงในแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป บางคนอาจมีเพียงอาการแพ้ บางคนอาจติดเชื้อที่ปอด ในกรณีรุนแรงเชื้อราอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะสำคัญต่าง ๆ 

เชื้อราแอสเปอร์จิลลัสเป็นเชื้อราที่พบได้ทั่วไปตามผักที่เน่าเสียหรือใบไม้แห้ง ตามปกติแล้ว เชื้อราแอสเปอร์จิลลัสมักไม่ส่งผลให้ผู้ที่สูดดมส่วนใหญ่เกิดอาการใด ๆ แต่อาจส่งผลให้ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ป่วยเป็นโรคปอด หรือโรคหืด เสี่ยงต่อการเกิดอาการที่รุนแรง

โรคติดเชื้อราแอสเปอร์จิลโลซิส (Aspergillosis)

อาการของ Aspergillosis

อาการของ Aspergillosis จะแตกต่างกันในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและตำแหน่งของการติดเชื้อ เนื่องจากแต่ละคนจะตอบสนองต่อการติดเชื้อราต่างกัน โดยอาการที่อาจพบได้ เช่น

อาการแพ้

ผู้ที่มีอาการลักษณะนี้ส่วนใหญ่มักป่วยเป็นโรคหืด หรือโรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) โดยเชื้อราแอสเปอร์จิลลัสไม่ได้ทำให้ร่างกายติดเชื้อ แต่ส่งผลให้ปอดเกิดการอักเสบและกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น ไอ โดยอาจมีเสมหะหรือเลือดปนมาด้วย หายใจลำบากและมีเสียงหวีด อาการหอบหืดแย่ลง หรืออาจมีไข้ร่วมด้วย เป็นต้น

เกิดก้อนเชื้อรา

ผู้ที่เกิดก้อนเชื้อราส่วนใหญ่มักป่วยเป็นโรคปอดเรื้อรังบางชนิดที่ส่งผลให้เกิดโพรงอากาศในปอด อย่างถุงลมโป่งพอง (Emphysema) วัณโรค (Tuberculosis) หรือโรคซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis) โดยเชื้อราที่เข้าสู่ร่างกายจะไปเติบโตเป็นก้อนเชื้อราที่บริเวณต่าง ๆ แต่อาจพบได้มากที่บริเวณโพรงอากาศในปอด หรือไซนัส

โดยส่วนใหญ่ ผู้ที่เกิดก้อนเชื้อรามักไม่พบอาการใด ๆ หรือมีเพียงอาการไอเล็กน้อยเท่านั้นในช่วงแรก แต่หากไม่ได้รับการรักษา ก้อนเชื้อราอาจส่งผลให้อาการจากโรคปอดเดิมแย่ลง หรืออาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไอเป็นเลือด หายใจลำบากและมีเสียงหวีด น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรืออ่อนเพลีย เป็นต้น

เนื้อเยื่อในปอดตาย

เป็นภาวะที่พบได้น้อย มักพบได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันค่อนข้างต่ำ อย่างผู้ที่ป่วยเป็นโรคปอดบางชนิด ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือผู้ที่ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน โดยเชื้อราจะค่อย ๆ ส่งผลให้เนื้อเยื่อปอดตายภายในระยะเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนและเกิดอาการต่าง ๆ เช่น ไข้ขึ้น ไอ เหงื่อออกตอนกลางคืน หรือน้ำหนักตัวลด เป็นต้น

เชื้อลุกลามไปสู่อวัยวะอื่น

ในบางกรณีเชื้อราแอสเปอร์จิลลัสที่แพร่เชื้ออยู่ในปอดอาจลุกลามไปสู่อวัยวะอื่น ๆ อย่างสมอง หัวใจ ไต หรือผิวหนัง โดยมักพบได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่เคยปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ที่เคยปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ผู้ที่เคยปลูกถ่ายไขกระดูก ผู้ที่ผ่านการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีเคมีบำบัดหรือคีโม หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคทางภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

การติดเชื้อราแอสเปอร์จิลลัสแบบลุกลามถือเป็นภาวะที่มีความรุนแรง โดยอาการที่เกิดขึ้นจะขึ้นอยู่กับอวัยวะที่เชื้อลุกลามไปถึง แต่การระบุอาการต่าง ๆ ที่เป็นผลมาจากการติดเชื้ออาจทำได้ยาก เพราะผู้ที่ติดเชื้อราแอสเปอร์จิลลัสแบบลุกลามมักป่วยเป็นโรคอื่นอยู่แล้ว โดยอาการที่พบได้ทั่วไปในผู้ป่วยที่ติดเชื้อราแอสเปอร์จิลลัสแบบลุกลาม เช่น ไข้ขึ้น หนาวสั่น ไอเป็นเลือด หายใจลำบาก เจ็บหน้าอกหรือบริเวณข้อกระดูก ปวดศีรษะ หรือมีอาการเกี่ยวกับดวงตาและผิวหนัง เป็นต้น

การติดเชื้อราแอสเปอร์จิลลัสบริเวณอื่น ๆ

นอกจากบริเวณปอดแล้ว เชื้อราแอสเปอร์จิลลัสอาจส่งผลให้บริเวณอื่นในร่างกายเกิดการอักเสบได้ อย่างบริเวณไซนัส ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการต่าง ๆ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล โพรงจมูกแห้ง ความสามารถในการรับกลิ่นลดลง มีไข้ ปวดบริเวณใบหน้า หรือปวดศีรษะ เป็นต้น

ทั้งนี้หากพบลักษณะอาการในข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะผู้ที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอและเกิดอาการผิดปกติบางอย่าง อย่างไข้ขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ หายใจไม่อิ่ม หรือไอปนเลือด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจกำลังติดเชื้อราแอสเปอร์จิลลัสแบบลุกลาม

สาเหตุของ Aspergillosis

Aspergillosis เกิดจากการสูดดมสปอร์ของเชื้อราแอสเปอร์จิลลัสที่มักพบได้ตามใบไม้แห้ง ปุ๋ยหมัก ต้นไม้ หรือเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ หรือในบางกรณี Aspergillosis อาจเกิดจากการที่เชื้อราเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนัง โดยมักพบได้ในผู้ที่มีแผลไหม้จากความร้อน หรือบาดแผลอื่น ๆ บริเวณผิวหนัง แต่โดยส่วนใหญ่ เชื้อราแอสเปอร์จิลลัสมักไม่ส่งผลให้เกิดอาการใด ๆ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมักกำจัดสปอร์ของเชื้อราที่เข้าสู่ร่างกายได้เอง

นอกจากนี้ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอาจมีโอกาสในการเกิด Aspergillosis มากขึ้น เช่น

  • ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โดยอาจเป็นผลมาจากโรคอื่น การใช้ยากดภูมิคุ้มกัน การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ในปริมาณมาก การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ การปลูกถ่ายไขกระดูก การรักษามะเร็งด้วยการทำเคมีบำบัดหรือคีโม โรคมะเร็งเม็ดเลือดบางชนิด หรือเอดส์
  • ผู้ที่มีระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำ โดยอาจเป็นผลมาจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว การปลูกถ่ายอวัยวะ หรือการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือคีโม
  • ผู้ที่สูดดมสปอร์เชื้อราแอสเปอร์จิลลัสในปริมาณมาก
  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคปอด หรือมีโพรงอากาศในเนื้อปอด
  • ผู้ป่วยโรคหืด หรือโรคซิสติกไฟโบรซิส

การวินิจฉัย Aspergillosis

ในการวินิจฉัย Aspergillosis เบื้องต้น แพทย์จะสอบถามประวัติต่าง ๆ อย่างโรคประจำตัว การเกี่ยวข้องปัจจัยเสี่ยง อาการผิดปกติต่าง ๆ ของผู้ป่วย และตรวจร่างกายทั่วไป  จากนั้นจะตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เนื่องจากเชื้อราแอสเปอร์จิลลัสมักมีลักษณะคล้ายคลึงกับเชื้อราชนิดอื่น และอาการต่าง ๆ ของ Aspergillosis อาจทับซ้อนกับโรคปอดอื่น ๆ เช่น

  • การใช้ภาพวินิจฉัย (Imaging Test) แพทย์อาจเอกซเรย์ หรือซีทีแสกน (CT Scans) บริเวณปอด หรือบริเวณอื่นที่อาจมีการติดเชื้อของผู้ป่วย เพื่อตรวจหาก้อนเชื้อรา หรือการลุกลามของโรค
  • การตรวจตัวอย่างสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจ (Respiratory Secretion Test) หากมีความเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อ แพทย์จะนำตัวอย่างสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยไปเพาะหาเชื้อเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยติดเชื้อจากเชื้อราแอสเปอร์จิลลัส
  • การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง แพทย์จะหยดสารที่มีส่วนประกอบแอนติเจนของเชื้อราแอสเปอร์จิลลัส และใช้เข็มสะกิดผิวให้สารซึมเข้าสู่ผิวและดูปฏิกิริยาตอบสนอง เพื่อทดสอบว่าผู้ป่วยมีอาการแพ้หรือไม่
  • การตรวจเลือด เพื่อดูระดับภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี้บางชนิด เนื่องจากระดับแอนติบอดี้บางชนิดจะเพิ่มขึ้นหากผู้ป่วยมีการติดเชื้อ
  • การตัดเนื้อเยื่อตัวอย่างไปตรวจ (Biopsy) แพทย์อาจผ่าตัดนำตัวอย่างเนื้อเยื่อที่มีการติดเชื้อ อย่างปอดหรือไซนัสไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาเชื้อรา

การรักษา Aspergillosis

ในการรักษา Aspergillosis แพทย์จะเลือกวิธีรักษาตามความเหมาะสมต่ออาการผู้ป่วยแต่ละคน เช่น

การติดตามอาการ

โดยส่วนมาก ผู้ป่วยที่พบก้อนเชื้อราที่ไม่รุนแรงและไม่พบอาการผิดปกติร่วมใด ๆ แพทย์อาจเพียงเอกซเรย์เพื่อติดตามอาการเท่านั้น

การรักษาด้วยยา

แพทย์อาจให้ยารับประทานชนิดคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หากผู้ป่วยมีอาการแพ้ เพื่อไม่ให้อาการจากโรคหืด หรือโรคซิสติกไฟโบรซิสแย่ลง หรืออาจให้ยาฆ่าเชื้อราร่วมด้วยเพื่อลดปริมาณการใช้ยาสเตียรอยด์ และช่วยให้ปอดของผู้ป่วยทำงานได้ดีขึ้น

ในกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อราในปอดขั้นรุนแรง แพทย์อาจให้ยาฆ่าเชื้อรา อย่างยาโวริโคนาโซล (Voriconazole) หรือยาแอมโฟเทอริซิน บี (Amphotericin B) และอาจให้ผู้ป่วยลดปริมาณหรือหยุดยากดภูมิคุ้มกันที่กำลังใช้อยู่ อย่างไรก็ตาม ยาฆ่าเชื้อราเป็นยาที่อาจส่งผลข้างเคียงบางอย่างที่รุนแรง เช่น ตัวยาอาจส่งผลให้ตับหรือไตของผู้ป่วยเสียหาย แพทย์จึงอาจใช้ยาอื่น ๆ ในการรักษาร่วมด้วย

การผ่าตัด

ในกรณีที่ก้อนเชื้อราในปอดของผู้ป่วยส่งผลให้เกิดอาการรุนแรง อย่างการเสียเลือด แพทย์อาจใช้วิธีผ่าตัดเพื่อกำจัดก้อนเชื้อรา หรือฉีดสารบางชนิดทางสายยางที่ผ่านหลอดเลือดไปที่โพรงปอดเพื่อให้ไปแข็งตัวและอุดเส้นเลือด (Embolization) บริเวณที่เลือดออก แต่วิธีดังกล่าวอาจช่วยได้เพียงชั่วคราว และผู้ป่วยอาจมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำอีก

ภาวะแทรกซ้อนของ Aspergillosis

ผู้ป่วย Aspergillosis ที่ไม่ได้รับการรักษา อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค โดยภาวะที่พบได้บ่อย เช่น ทางเดินหายใจอุดตัน ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ไตเกิดความเสียหาย หรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการเสียเลือดภายในปอดหรือการติดเชื้อทั่วร่างกาย เป็นต้น

การป้องกัน Aspergillosis

การป้องกัน Aspergillosis อาจทำได้ยาก เนื่องจากเชื้อราแอสเปอร์จิลลัสเป็นเชื้อราที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน แต่ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิด Aspergillosis อย่างผู้ที่กำลังรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือคีโม ผู้ที่เคยผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะหรือปลูกถ่ายไขกระดูก หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาจลดความเสี่ยงได้โดยวิธีดังต่อไปนี้ เช่น

  • สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันเชื้อราแอสเปอร์จิลลัส หรือเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคอื่น ๆ
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อย่างการอยู่ใกล้สถานที่ก่อสร้าง กองปุ๋ยหมัก หรือสถานที่เก็บเมล็ดพืชพันธุ์ต่าง ๆ
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้ต้องสัมผัสดินหรือฝุ่น อย่างการตัดหญ้าหรือทำสวน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดและสวมรองเท้าหรือถุงมือขณะทำกิจกรรมเสมอ