โรคกลัวรู กลัวจริง หรือจิตหลอน ?

โรคกลัวรู (Trypophobia) คือความรู้สึกกลัวและกระอักกระอ่วนเมื่อเห็นภาพหรือวัตถุต่าง ๆ ที่มีรูจำนวนมากรวมอยู่ด้วยกัน เป็นที่น่าสงสัยว่า อาการกลัวที่เกิดขึ้นนั้นเป็นโรคจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงความวิตกกังวลที่ทำให้คิดไปเอง ที่สำคัญ หากเป็นแล้วเราควรรับมืออย่างไร

โรคกลัวรู

โรคกลัวรู คืออะไร ?

โรคกลัวรู คือ ภาวะกลัวอย่างรุนแรงชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะรู้สึกกลัว หลอน ขยะแขยง ขนลุก มีเหงื่อออก ตัวสั่น อึดอัด คลื่นไส้ หรือสะอิดสะเอียนเมื่อเห็นผิวของวัตถุที่เต็มไปด้วยรูเล็ก ๆ และมีลักษณะตะปุ่มตะป่ำ เช่น ฝักเมล็ดบัว รังผึ้ง เมล็ดทับทิม สตรอเบอร์รี่ หรือปะการัง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยพบว่าความจริงแล้วผู้ป่วยไม่ได้รู้สึกกลัวรูอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่จะรู้สึกกระอักกระอ่วนเมื่อเห็นรูปภาพของรูกลวงมากมายรวมอยู่ด้วยกัน หรือรูปภาพอวัยวะของสัตว์มีพิษซึ่งมีลักษณะคล้ายรูเล็ก ๆ จำนวนมาก ซึ่งความกลัวที่เกิดขึ้นนั้น อาจสัมพันธ์กับประสบการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นในวัยเด็กมาก่อน

โรคกลัวรูเกิดจากอะไร ?

แม้ในปัจจุบัน สาเหตุของการเกิดโรคกลัวรูยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ปัจจัยต่อไปนี้อาจส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยเป็นโรคกลัวรู้ได้

  • เคยเผชิญหน้าหรือมีประสบการณ์ในอดีตที่ไม่ดีเกี่ยวกับวัตถุที่มีรู
  • มีความผิดปกติทางสมอง หรือการทำงานของสมองเปลี่ยนไป
  • ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวลทั่วไป  
  • พันธุกรรมและสภาพแวดล้อมในครอบครัว โรคกลัวรูอาจสัมพันธ์กับโรคกลัวหรือโรควิตกกังวลของพ่อแม่ หรืออาจเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้

โรคกลัวรูเป็นโรคกลัวชนิดหนึ่งหรือไม่ ?

มาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association) ไม่จัดว่าอาการกลัวรูเป็นโรคกลัว (Phobia) เพราะผู้ป่วยโรคกลัวอาจรู้สึกกลัวสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นอันตราย เช่น กลัวความสูง เครื่องบิน เลือด เข็ม แมลง สุนัข หรือตัวตลก เป็นต้น โดยผู้ป่วยจะมีอาการกลัวอย่างรุนแรง รู้สึกพะอืดพะอม วิตกกังวลทันทีที่เห็นหรือนึกถึงสิ่งที่กลัว และมีอาการกลัวเพิ่มมากขึ้นเมื่อเข้าใกล้วัตถุนั้น บางรายอาจควบคุมความรู้สึกกลัวไม่ได้ จนไม่สามารถทำงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ แต่ผู้ที่เป็นโรคกลัวรูนั้นจะรู้สึกรังเกียจหรือขยะแขยงเมื่อเห็นภาพรูที่ถูกตกแต่งให้มีระดับความต่างของแสงสูง นอกจากนี้ จิตใต้สำนึกของผู้ป่วยอาจเชื่อมโยงกับสิ่งที่มีลักษณะเป็นรู ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกลัวได้แม้สิ่งนั้นจะไม่อันตราย ซึ่งจากการวิจัยบางส่วนพบว่า ผู้ที่กลัวรูไม่ได้รู้สึกกลัวสัตว์มีพิษ แต่จะกลัวรูปร่างของสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายรู เช่น หมึกสายวงน้ำเงินที่มีจุดวงกลมคล้ายแหวนสีน้ำเงินขึ้นตามลำตัว เป็นต้น

รับมืออย่างไรหากมีอาการของโรคกลัวรู ?

การรับมือกับโรคกลัวรูมีหลายวิธี ในเบื้องต้นควรดูแลตนเอง เพื่อคลายความเครียดและความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นจากโรคกลัวรูโดยปฏิบัติตามวิธีต่อไปนี้             

  • ทำกิจกรรมที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและลดความเครียด เช่น หายใจเข้าออกลึก ๆ ฝึกสติหรือทำสมาธิ และเล่นโยคะ
  • ออกกำลังกายที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยลดความวิตกกังวล
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีน
  • นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
  • ค่อย ๆ ฝึกเข้าใกล้สิ่งของหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้รู้สึกกลัวให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจให้รางวัลตนเองหากอาการดีขึ้นจ เพื่อเป็นกำลังใจในการรักษาต่อไป
  • เข้าร่วมกลุ่มช่วยเหลือตนเอง เพื่อแบ่งปันประสบการณ์กับผู้ป่วยรายอื่น ๆ ซึ่งอาจช่วยส่งเสริมให้เข้าใจสถานการณ์และอาการของโรคได้ดีขึ้น จนเกิดการบำบัดรักษาที่มีประสิทธิผลที่ดี
  • หากดูแลตนเองแล้วอาการกลัวยังไม่ดีขึ้น รู้สึกวิตกกังวล หรือมีข้อสงสัย ควรไปปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิต เพื่อรับการบำบัดหรือหาแนวทางในการรักษาและควบคุมจัดการความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นต่อไป

เมื่อกังวลว่าลูกน้อยเป็นโรคกลัวรู

ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ลูกน้อบรับมือกับความกลัวที่เกิดขึ้น หากบุตรหลานมีอาการของโรคกลัวรู พ่อแม่ผู้ปกครองอาจลองปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

  • พูดคุยและรับฟังความคิด ความรู้สึกกลัว หรือความวิตกกังวลต่าง ๆ ของเด็ก โดยพยายามสื่อสารให้เด็กเข้าใจว่า ความรู้สึกกลัวนั้นเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน
  • จำลองสถานการณ์และแสดงวิธีรับมือเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่เด็กกลัว เพื่อให้เด็กเรียนรู้และควบคุมความกลัวได้
  • ฝึกให้เด็กเข้าใกล้สิ่งที่กลัวทีละน้อย เพื่อเรียนรู้วิธีจัดการกับความกลัว แล้วค่อย ๆ ขยับเข้าใกล้สิ่งนั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองคอยให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด จนเด็กไม่รู้สึกกลัวอีกต่อไป

การรับมือกับลูกน้อยที่มีอาการกลัวรูอาจต้องใช้เวลานานกว่าอาการจะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรไปปรึกษาแพทย์ หากเด็กมีอาการกลัวที่รุนแรงมากและส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อหาแนวทางในการบำบัดรักษาที่เหมาะสมต่อไป