โรคปมประสาทเท้าอักเสบ (Morton’s Neuroma)

ความหมาย โรคปมประสาทเท้าอักเสบ (Morton’s Neuroma)

Morton’s Neuroma หรือโรคปมประสาทเท้าอักเสบ เป็นโรคที่ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดเท้าคล้ายกับกำลังเหยียบก้อนกรวดขณะเดินหรือยืน รวมถึงรู้สึกแสบบริเวณหน้าเท้า โดยเฉพาะบริเวณระหว่างนิ้วกลางและนิ้วนาง โดยมีสาเหตุมาจากการที่เส้นประสาทบริเวณปลายเท้าถูกกดทับจากเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง

ผู้ที่มีอาการของโรค Morton’s Neuroma ควรรับการวินิจฉัย บรรเทา และรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ดูแลไม่ให้อาการปวดรุนแรงขึ้นกว่าเดิม และเพื่อลดความเสี่ยงต่อการที่เส้นประสาทในบริเวณปลายเท้าจะได้รับความเสียหายในระยะยาว

3712-Mortons-neuroma

อาการของ Morton’s Neuroma

โรค Morton’s Neuroma เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการผิดปกติออกมาให้เห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่จะแสดงในลักษณะดังต่อไปนี้

  • รู้สึกปวดหน้าเท้าเป็นช่วง ๆ คล้ายยืนทับก้อนกรวด
  • รู้สึกแสบบริเวณหน้าเท้า หรือในบางกรณีอาจปวดไปถึงบริเวณนิ้วเท้าด้วย
  • ชาหรือเกิดเหน็บบริเวณนิ้วเท้า
  • เกิดอาการบวมระหว่างนิ้วเท้า
  • เดินไม่ถนัด 
  • รู้สึกเจ็บมากขึ้นเมื่อสวมรองเท้าส้นสูงหรือยืนบนปลายเท้า

หากมีอาการปวดหรือแสบบริเวณปลายเท้าติดต่อกันหลายวันจนส่งผลกระทบต่อการเดินหรือการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาทันที เพื่อป้องกันผลเสียในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นได้

สาเหตุของ Morton’s Neuroma

โรค Morton’s Neuroma เป็นโรคที่เกิดจากการที่เส้นประสาทบริเวณปลายเท้าเกิดการระคายเคือง อักเสบ หรือเกิดความเสียหายจากการถูกเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงเบียดหรือกดทับอย่างรุนแรง โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น การสวมรองเท้าส้นสูง การสวมรองเท้าที่คับจนเกินไปหรือไม่พอดีกับเท้า ภาวะเท้าแบน เท้าหรือนิ้วเท้างอผิดปกติ หรือการทำกิจกรรมที่ต้องใช้เท้ามาก

การวินิจฉัย Morton’s Neuroma

หากแพทย์เห็นว่า ผู้ป่วยมีแนวโน้มเป็น Morton’s Neuroma แพทย์จะตรวจร่างกายโดยการกดปลายเท้าเพื่อตรวจดูความตึงของกล้ามเนื้อในบริเวณดังกล่าว กดช่องว่างระหว่างนิ้วเท้าเพื่อตรวจดูความผิดปกติของกระดูก 

ในบางกรณี แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การอัลตราซาวด์ (Ultrasound) การทำเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) เพื่อตรวจดูความผิดปกติของเนื้อเยื่อ หรือการเอกซเรย์เพื่อตรวจหารอยหักตามกระดูกและข้อต่อนิ้วเท้าที่อาจเป็นสาเหตุของอาการปวด 

การรักษา Morton’s Neuroma

โรค Morton’s Neuroma สามารถบรรเทาและรักษาได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

การดูแลตนเอง

ผู้ป่วย Morton’s Neuroma ควรหยุดพักการใช้เท้าจนกว่าอาการปวดจะดีขึ้น ใช้แผ่นรองเท้าเพื่อลดการกดทับบริเวณเส้นประสาท โดยเฉพาะเมื่อต้องใส่รองเท้า เลือกใส่รองเท้าที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงและการทำกิจกรรมที่ต้องใช้เท้ามาก อย่างการวิ่งหรือการออกกำลังกาย และลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจประคบน้ำแข็งบริเวณที่ปวด หรือรับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เอง อย่างยาแก้ปวดกลุ่มยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-inflammatory Drugs: NSAID) ร่วมด้วย

การรักษาโดยแพทย์

ในกรณีที่ผู้ป่วยยังมีอาการปวดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แพทย์อาจรักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น

  • การฉีดยาชาหรือยาสเตียรอยด์ในบริเวณที่มีอาการปวด
  • การบำบัดด้วยความเย็น (Cold Therapy) เพื่อกำจัดเซลล์เส้นประสาทบางส่วน
  • การผ่าตัดเพื่อลดการกดทับของเส้นประสาท (Decompression Surgery) ด้วยการตัดเนื้อเยื่อที่อยู่ใกล้กับบริเวณที่มีอาการปวดบางส่วนออก
  • การตัดเส้นประสาท (Neurectomy) หากอาการของผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ

ภาวะแทรกซ้อนของ Morton’s Neuroma

ผู้ป่วย Morton’s Neuroma อาจพบอาการปวดเรื้อรังภายหลังการรักษา หรือในบางรายอาจพบภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา เช่น เกิดภาวะชั้นไขมันใต้ฝ่าเท้าฝ่อลีบ (Fat Pad Atrophy) จากการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรืออาจรู้สึกแสบร้อน คล้ายมีเข็มทิ่ม และปวด (Dysesthesia) บริเวณที่ได้รับการผ่าตัด 

การป้องกัน Morton’s Neuroma

Morton’s Neuroma เป็นโรคที่ยังไม่สามารถป้องกันการเกิดได้ แต่ในเบื้องต้นอาจลดความเสี่ยงได้ด้วยการเลือกสวมรองเท้าที่มีหน้ากว้างและเหมาะกับกิจกรรมที่ทำ หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าส้นสูงหรือรองเท้าที่คับ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หรืออาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับข้อต่อและขาอย่างเหมาะสม