รู้จักวิธีแก้ปวดฝ่าเท้า และสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

วิธีแก้ปวดฝ่าเท้าเป็นหนึ่งในวิธีดูแลตัวเองที่ทุกคนควรทำความรู้จักเอาไว้ เนื่องจากอาการนี้เป็นอาการที่มักเกิดได้บ่อย ๆ และเมื่อเกิดขึ้นก็น่าจะเป็นปัญหาหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเราไม่น้อย เพราะเท้าถือเป็นอวัยวะที่ถูกใช้อยู่เกือบตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การวิ่งออกกำลังกาย หรือในขณะที่ยืนอยู่

ปวดฝ่าเท้าสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งแต่ละสาเหตุก็อาจส่งผลให้ตำแหน่งของฝ่าเท้าเกิดอาการปวดแตกต่างกันไปได้บ้าง เช่น บางคนอาจปวดบริเวณส้นเท้า บางคนอาจปวดด้านข้าง บางคนอาจปวดบริเวณอุ้งเท้า หรือบางคนก็อาจปวดบริเวณจมูกเท้า

วิธีแก้ปวดฝ่าเท้า

ตัวอย่างสาเหตุของอาการปวดฝ่าเท้า

ปวดฝ่าเท้าเป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่สาเหตุที่ไม่รุนแรงที่สามารถบรรเทาได้ด้วยการดูแลตัวเองที่บ้าน อย่างการสวมใส่รองเท้าที่มีขนาดไม่พอดีกับเท้า ไปจนถึงสาเหตุที่มีความรุนแรงที่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์

โดยตัวอย่างโรคหรือภาวะผิดปกติทางร่างกายที่อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดฝ่าเท้าก็เช่น

1. เท้าแพลง

เท้าแพลงกิดจากการที่เส้นเอ็นบริเวณเท้าเกิดความเสียหาย โดยสาเหตุที่มักพบได้ก็เช่น อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา หรือการหกล้ม โดยผู้ที่เท้าแพลงจะมีอาการปวดเท้า ร่วมกับอาการบวม ทิ้งน้ำหนักลงบนเท้าไม่ไหว รวมถึงอาจมีอาการช้ำร่วมด้วย

ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่แล้ว เท้าแพลงเป็อาการที่มักค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เองในระยะเวลาไม่กี่วัปดาห์ แต่หากมีอาการชา รู้สึกคล้ายมีเข็มทิ่ม อาการปวดมีความรุนแรงขึ้น เท้าบวมแบบฉับพลัน หรือปวดจนไม่สามารถเดินได้ ผู้ที่มีอาการเท้าแพลงก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม

2. เท้าแบน

เท้าแบนเป็นภาวะผิดปกติที่เท้าของผู้ที่ป่วยจะไม่มีส่วนโค้งตรงกลางเท้า หรือมีลักษณะแบนราบไปกับพื้นขณะยืน อย่างไรก็ตาม ในหลาย ๆ ครั้ง ปัญหาเท้าแบนมักไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้ที่ป่วย แต่หากผู้ที่มีเท้าแบนมีปัญหาปวดเท้า ทรงตัวลำบาก หรือปัญหานี้เพิ่งเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษา

3. รองช้ำ (Plantar Fasciitis)

รองช้ำเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของปัญหาปวดฝ่าเท้าบริเวณส้นเท้า โดยลักษณะอาการของโรครองช้ำที่เด่น ๆ ก็คือ อาการปวดฝ่าเท้าในช่วงเช้าหลังตื่นนอน หรือหลังจากที่ไม่ได้ใช้เท้ามาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อเริ่มเดินหรือยืนไปได้สักพัก

โรครองช้ำเป็นโรคที่พบได้มากในผู้สูงวัย ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเยอะ ผู้ที่ใช้เท้ามากอย่างเช่นนักวิ่ง หรือผู้ที่ทำงานซึ่งต้องยืนนาน ๆ โดยผู้ที่มีปัญหานี้ควรไปพบแพทย์ หากพบว่าอาการปวดเริ่มรุนแรงจนเดินลำบากหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน อาการปวดรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ รู้สึกชาหรือเหมือนมีเข็มทิ่มที่ฝ่าเท้า หรือมีภาวะเบาหวานอยู่

4. โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติไปโดยการไปทำลายเนื้อเยื่อในร่างกายจนนำไปสู่อาการปวดตามมา ซึ่งบริเวณฝ่าเท้าก็เป็นบริเวณหนึ่งที่อาจพบการเกิดโรคนี้ได้

ผู้ที่มีอาการปวดฝ่าเท้าที่เรื้อรัง มีอาการบวมตามข้อต่อ หรือเห็นว่าตนเองอาจกำลังป่วยเป็นโรคนี้อยู่ ควรจะไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ

5. กระดูกเท้าหัก

ในบางครั้ง การเกิดอุบัติเหตุบริเวณเท้าก็อาจส่งผลให้กระดูกบริเวณนี้หักได้ โดยอาการที่มักพบได้ของภาวะกระดูกหักก็เช่น อาการปวดที่ยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อมีการขยับเท้าและจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อไม่ได้ขยับเท้า เท้าบวม เท้ามีรอยช้ำ เดินลำบากหรืออาจไม่สามารถทิ้งน้ำหนักลงบนเท้าได้ หรือบางคนอาจพบว่าเท้าเกิดการผิดรูปด้วยเช่นกัน

ผู้ที่เห็นว่าตนเองอาจมีกระดูกเท้าหักควรรีบไปพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะผู้ที่เห็นว่าเท้ามีการผิดรูปอย่างชัดเจน เดินไม่ไหว หรืออาการปวดที่เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

6. โรคปมประสาทเท้าอักเสบ (Morton’s Neuroma)

โรคปมประสาทเท้าอักเสบเป็นโรคที่เกิดจากการที่เส้นประสาทบริเวณปลายเท้าได้รับแรงกดทับหรือเกิดความเสียหาย ซึ่งผู้ที่มีอาการที่เข้าข่ายโรคนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยอาการเด่น ๆ ที่ผู้ป่วยโรคนี้มักพบก็คือ อาการปวดเท้าในลักษณะคล้ายกับกำลังยืนอยู่บนก้อนหินหรือก้อนกรวด

7. ตาปลา (Corns)

ตาปลาเป็นภาวะที่ผิวหนังเกิดการจับตัวกันหนาจากการที่ผิวหนังได้รับการเสียดสีหรือกดทับเป็นระยะเวลานาน

โดยส่วนใหญ่แล้ว ปัญหาตาปลามักไม่ส่งผลเสียที่รุนแรงต่อร่างกาย แต่หากตาปลาเริ่มส่งผลให้มีอาการเจ็บตามมา หรือผู้ที่มีตาปลามีโรคประจำตัว อย่างภาวะเบาหวาน หรือโรคใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการไหลเวียนเลือดของร่างกาย ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์รักษาและแนะนำแนวทางการรับมือที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

ทั้งนี้ โรคและภาวะผิดปกติที่ได้ยกตัวอย่างไปเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดฝ่าเท้า ซึ่งในบางครั้ง อาการก็อาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นนอกจากนี้ได้เช่นกัน

วิธีแก้ปวดฝ่าเท้าด้วยตัวเอง

ในกรณีที่อาการปวดฝ่าเท้าไม่รุนแรงมาก หรือไม่มีอาการอื่นที่เกิดร่วมด้วย ในเบื้องต้นให้พยายามพักเท้าให้มากที่สุดก่อน และอาจลองทำตามวิธีดังต่อไปนี้ร่วมด้วยเพื่อช่วยบรรเทาอาการ

  • หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงและรองเท้าหัวแหลม และให้เลือกรองเท้าที่ไม่รัดแน่นเท้าจนเกินไป โดยอาจจะใส่แผ่นรองฝ่าเท้าเข้าไปในรองเท้าเพื่อช่วยรับน้ำหนักและป้องกันการเสียดสีร่วมด้วยก็ได้เช่นกัน
  • ประคบเย็นบริเวณที่ปวด โดยให้ประคบครั้งละประมาณ 20 นาที ทุก ๆ 2–3 ชั่วโมง
  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) แต่ก่อนใช้ยาควรปรึกษาเภสัชกร หรืออ่านฉลากยาให้ดีก่อนทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติแพ้ยาใด ๆ หรือกำลังป่วยด้วยภาวะผิดปกใด ๆ ที่เกี่ยวกับตับ
  • พยายามยกขาข้างที่ปวดฝ่าเท้าให้สูง

นอกจากวิธีในข้างต้นแล้ว ผู้ที่มีอาการปวดฝ่าเท้าอาจจะลองใช้วิธียืดฝ่าเท้าควบคู่ไปด้วย โดยตัวอย่างวิธียืดฝ่าเท้าที่สามารถทำได้ง่าย ๆ ก็เช่น

  • ใช้เท้ากดคลึงลูกเบานวดฝ่าเท้า
  • ใช้มือค่อย ๆ ดัดนิ้วเท้าขึ้นมาจนรู้สึกตึงฝ่าเท้า
  • ใช้ผ้ารองฝ่าเท้าเอาไว้และพยายามใช้นิ้วเท้าหนีบผ้าและดึงเข้าหาตัวเอง

ผู้ที่เริ่มต้นยืดด้วยวิธีเหล่านี้ควรยืดให้ได้สักครั้งละประมาณ 30 วินาที วันละ 2–3 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม สาเหตุของอาการปวดฝ่าเท้าที่ได้ยกตัวอย่างไปเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งบางสาเหตุ การใช้วิธีแก้ปวดฝ่าเท้าด้วยตัวเองอาจไม่เพียงพอสำหรับการรักษา

ดังนั้น หากมีอาการปวดฝ่าเท้าที่ใช้วิธีแก้ปวดฝ่าเท้าในข้างต้นไปแล้วอาการไปดีขึ้น ก็ควรไปพบแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเข้าข่ายสาเหตุที่ยกตัวอย่างไป ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือด และผู้ที่มีอาการปวดเท้ารุนแรงจนรับน้ำหนักไม่ไหว เท้าชา เท้าผิดรูป มีเสียงดังออกมาจากเท้า เท้ามีสีที่ผิดปกติไป มีไข้ขึ้น หรืออาการปวดเกิดหลังจากได้รับอุบัติเหตุ