แมลงก้นกระดก มีพิษร้าย อันตรายจริงหรือ ?

แมลงก้นกระดกกลายเป็นกระแสฮือฮาเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากมีผู้ได้รับพิษจากแมลงชนิดนี้แล้วเกิดอาการป่วยอย่างรุนแรง โดยมีรายงานการพบผู้ป่วยจากหลายพื้นที่ในประเทศไทย จึงมีการเฝ้าระวังเหตุและการแพร่ระบาดของแมลงก้นกระดก แต่ความเป็นจริงแล้ว แมลงชนิดนี้มีอันตรายหรือมีพิษร้ายแรงจริงหรือไม่ สามารถศึกษาได้จากข้อมูลต่อไปนี้

แมลงก้นกระดก

แมลงก้นกระดกเป็นอย่างไร ?

แมลงก้นกระดกหรือด้วงก้นกระดก (Rove Beetle) เป็นแมลงขนาดเล็ก มีลำตัวยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร ส่วนหัวเป็นสีดำ ช่วงอกเป็นสีส้ม ส่วนปีก ลำตัว และหางเป็นสีดำ โดยมีส่วนท้องที่เป็นสีส้ม ซึ่งแมลงชนิดนี้มักงอส่วนหางขึ้นเมื่อตัวอยู่บนพื้น จึงเป็นที่มาของชื่อแมลงก้นกระดก

แมลงก้นกระดกล่าแมลงชนิดอื่นกินเป็นอาหาร โดยจะออกมาหากินใกล้แสงไฟในเวลากลางคืน ความน่ากลัวของแมลงก้นกระดกไม่ใช่พิษที่เกิดจากการกัดหรือต่อย แต่แมลงชนิดนี้มีสารพิษพีเดอริน (Pederin) อยู่ในเลือดของมัน ซึ่งหากผู้ใดตบ บด หรือสัมผัสโดนตัวแมลงก้นกระดก ก็อาจได้รับสารพิษชนิดนี้จนเกิดอาการระคายเคืองที่ผิวหนังและเกิดผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก (Paederus Dermatitis) ตามมาได้

อาการป่วยจากพิษของแมลงก้นกระดก

  • เมื่อสัมผัสโดนสารพิษพีเดอริน ผิวหนังจะเกิดการระคายเคือง เปลี่ยนเป็นสีแดง และจะมีอาการแสบร้อนหรือคัน ซึ่งความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับปริมาณและความเข้มข้นของสารพิษที่ได้รับด้วย
  • จากนั้น อาจเกิดผื่นที่มีตุ่มพองน้ำหรือตุ่มมีหนองที่ทำให้รู้สึกคันและเจ็บปวด ซึ่งอาจยังไม่เกิดขึ้นทันทีหลังสัมผัสพิษ แต่อาจปรากฏอาการหลังผ่านไปประมาณ 24 ชั่วโมงไปจนถึง 4 วัน
  • หากเกาตามผิวหนังที่ได้รับพิษ หรือหากเกิดผื่นบริเวณข้อพับต่าง ๆ ผื่นก็อาจแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่น ๆ ได้
  • ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดกอาจคงอยู่นานถึง 10 วัน แต่ผื่นหรือแผลจะค่อย ๆ ตกสะเก็ดและหายไปเอง
  • หลังหายจากผื่น อาจมีรอยดำปรากฏระยะหนึ่งแล้วหายไป โดยมักไม่เกิดรอยแผลเป็น แต่หากผื่นเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียด้วย ก็อาจเสี่ยงเกิดรอยแผลเป็นหลังผื่นหายได้เช่นกัน
  • หากเกิดผื่นเป็นบริเวณกว้าง ผู้ป่วยอาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดตามข้อ คลื่นไส้ หรืออาเจียนได้
  • หากพิษเข้าตา อาจทำให้ตาบอดได้

ควรทำอย่างไรหากเผลอไปสัมผัสโดนแมลงก้นกระดก ?

  • รีบล้างบริเวณที่โดนตัวหรือพิษของแมลงก้นกระดกด้วยน้ำสบู่ทันที
  • ประคบเย็นในบริเวณดังกล่าว
  • รับประทานยาแก้แพ้
  • ทาว่านหางจระเข้บริเวณที่มีอาการปรากฏ
  • สังเกตสัญญาณของอาการที่เกิดขึ้น หากมีเพียงรอยแดงในบริเวณนั้น อาการอาจดีขึ้นและหายไปภายใน 2-3 วัน
  • หากเกิดผื่นแพร่กระจายลุกลามหรือมีตุ่มพองน้ำเพิ่มมากขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรักษาตัวด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ใช้ยาสเตียรอยด์ทาบริเวณที่เกิดอาการ
  • หากผื่นมีตุ่มพองน้ำเป็นบริเวณกว้างหรือมีแผลไหม้ อาจประคบด้วยน้ำเกลือครั้งละ 5-10 นาที วันละ 3-4 ครั้งจนแผลแห้ง
  • รับประทานยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • รับประทานยาแก้คัน เพื่อบรรเทาอาการคันในผู้ป่วยบางราย

วิธีป้องกันการสัมผัสพิษจากแมลงก้นกระดก

  • ไม่สัมผัสตัวหรือบดขยี้แมลงก้นกระดก แต่หากพบเห็นหรือแมลงมาเกาะตามร่างกาย ให้เป่าแมลงออกไปแทน
  • ทำความสะอาดบริเวณที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะเตียงนอน
  • สวมใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวในขณะนอนหลับ เพื่อปกปิดผิวหนังให้มากที่สุด
  • ปิดประตูหน้าต่างให้สนิททั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อป้องกันแมลงบินเข้ามาในบ้าน
  • เปิดไฟเท่าที่จำเป็น เนื่องจากแสงไฟสว่างอาจล่อแมลงชนิดนี้ให้เข้ามาในที่พักอาศัยได้
  • แมลงก้นกระดกมักอยู่อาศัยใกล้แหล่งน้ำและพบได้มากในบริเวณพื้นที่ด้อยพัฒนา ดังนั้น ควรให้ความรู้และสร้างความตระหนักภายในชุมชนว่าควรรับมืออย่างไรเมื่อพบเห็นแมลงชนิดนี้