แมงกะพรุนต่อย กับการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธี

มงกะพรุน สัตว์น้ำอันตรายที่ต้องคอยระวังเมื่อว่ายน้ำหรือดำน้ำในทะเล เพราะแมงกะพรุนเกือบทุกสายพันธ์ุมีกระเปาะพิษขนาดเล็กอยู่ตามหนวด หากสัมผัสโดน พิษจะเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีอาการปวด บวม และเกิดรอยแดงเป็นแนวยาวตามผิวหนัง ในกรณีร้ายแรงอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

1483 แมงกะพรุน Resized

แมงกระพรุนต่อยมีอาการอย่างไรบ้าง ?

อาการที่พบได้ทั่วไปเมื่อถูกแมงกระพรุนต่อย ได้แก่ ปวดแสบปวดร้อนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะช่วง 1 ชั่วโมงแรก และคันตามผิวหนังหรือมีร่องรอยของหนวดแมงกะพรุนอยู่บนผิวหนังบริเวณที่ถูกต่อย ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจรู้สึกอ่อนแรง คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อกระตุก น้ำมูกและน้ำตาไหล เหงื่อออกมาก หรือเจ็บหน้าอกได้

แมงกะพรุนพิษที่พบได้บ่อยและอาจเสี่ยงถูกต่อยขณะเล่นน้ำทะเลมากที่สุด ได้แก่ แมงกะพรุนทั่วไป แมงกะพรุนเรือรบโปรตุเกส และแมงกะพรุนกล่อง ซึ่งแต่ละชนิดก็ส่งผลให้เกิดอาการที่ต่างกันออกไป ดังนี้

  • แมงกะพรุนทั่วไป (True Jellyfish) มีพิษน้อยกว่าชนิดอื่น ๆ โดยแมงกะพรุนในกลุ่มนี้ที่คนไปสัมผัสจนถูกต่อยมากที่สุด คือ แมงกระพรุนไฟ มีรูปร่างคล้ายระฆัง อาจมีขนาดใหญ่ถึง 1 เมตรและอาจมีหนวดยาวถึง 30 เมตร เมื่อไปสัมผัสโดนหนวดจะทำให้รู้สึกเจ็บปวดที่ผิวหนังบริเวณนั้นภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที และเกิดผื่นแดงนูนที่มีลักษณะเป็นรอยคล้ายโดนแส้ฟาดขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ซึ่งอาการเหล่านี้มักทุเลาลงหลังผ่านไปประมาณ 30 นาที ส่วนผื่นแดงที่เกิดขึ้นจะเริ่มยุบลงภายใน 1 ชั่วโมง แต่จะยังคงทิ้งรอยไว้เป็นเวลานานหลายวันกว่าจะหายไปจนหมด
  • แมงกะพรุนเรือรบโปรตุเกส (Portuguese Man-of-War) มีลักษณะเป็นกระเปาะใส อาจมีสีฟ้า ชมพู หรือม่วง ขนาดประมาณ 10-30 เซนติเมตร มีหนวดยาวถึง 30 เมตร มีพิษร้ายแรงกว่าแมงกะพรุนทั่วไป แม้หนวดของแมงกระพรุนชนิดนี้จะหลุดออกจากตัวแล้ว หนวดนั้นก็ยังคงมีพิษอยู่ หากสัมผัสโดนจะรู้สึกเหมือนถูกสายฟ้าฟาด เจ็บ ชา แสบร้อน บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ หายใจลำบากหรือแน่นหน้าอกร่วมด้วย และเกิดผื่นนูนในบริเวณที่สัมผัสโดน ซึ่งอาจยุบลงภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่หลังจากนั้นอาจกลายเป็นรอยดำหรือแผลเป็นนูน และหากมีอาการรุนแรงอาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • แมงกะพรุนกล่อง (Box Jellyfish) รูปร่างเหมือนระฆัง 4 เหลี่ยม สีกึ่งโปร่งใส เป็นแมงกระพรุนที่มีพิษร้ายแรงที่สุด เมื่อสัมผัสจะทำให้เกิดผื่นนูนแดงบนผิวหนัง ลักษณะคล้ายถูกแส้ฟาด มีอาการปวดนานหลายชั่วโมง หากถูกพิษปริมาณมากอาจส่งผลให้ผิวหนังบริเวณดังกล่าวมีสีเขียวคล้ำ เป็นตุ่มน้ำพอง เนื้อตาย และเกิดการติดเชื้อที่แผลตามมาได้ นอกจากนี้ หากถูกพิษอย่างรุนแรงจะทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ หายใจลำบาก และอาจเสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่นาที

วิธีการปฐมพยาบาลหลังถูกแมงกะพรุนต่อย

หากพบผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกแมงกะพรุนต่อย สามารถช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • นำผู้บาดเจ็บขึ้นจากน้ำ โดยให้อยู่นิ่ง ๆ ไม่เคลื่อนไหวเพื่อลดการกระจายของพิษแมงกระพรุน ในกรณีที่ผู้บาดเจ็บหมดสติ ควรจัดท่าให้นอนลงและอาจเชยคางขึ้นเพื่อเปิดทางเดินหายใจ เป่าปากหรือทำ CPR โดยประสานมือทั้ง 2 ข้างแล้วกดลงบนหน้าอกบริเวณเหนือลิ้นปี่เล็กน้อย เพื่อช่วยให้ผู้ที่บาดเจ็บกลับมามีสติอีกครั้ง
  • ล้างแผลและนำหนวดแมงกะพรุนออก ใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณที่ถูกแมงกะพรุนต่อยเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วินาที เพื่อป้องกันการกระจายของพิษ หากไม่มีน้ำส้มสายชูสามารถใช้น้ำอัดลมแทนได้ แต่จะมีประสิทธิภาพต่ำกว่า และห้ามล้างด้วยน้ำจืดเพราะจะทำให้พิษกระจายตัวมากขึ้น จากนั้นใช้ไม้หรืออุปกรณ์อื่น ๆ คีบหนวดแมงกะพรุนออกจากร่างกาย ห้ามใช้ทรายถู ห้ามขูดผิวหนังบริเวณดังกล่าว และห้ามใช้ผ้าพันแผลหรือพลาสเตอร์ปิดแผลไว้
  • บรรเทาอาการ หากโดนแมงกะพรุนชนิดที่มีพิษไม่รุนแรงต่อย สามารถบรรเทาอาการปวดโดยการใช้น้ำแข็งประคบที่แผล รับประทานยาแก้ปวด รับประทานยาแก้แพ้ หรือทาครีมไฮโดรคอร์ติโซนเพื่อบรรเทาอาการคันและบวม แต่หากมีอาการรุนแรงก็ควรรีบไปพบแพทย์
  • สังเกตอาการ หลังถูกแมงกะพรุนต่อย ควรเฝ้าดูอาการอย่างน้อย 45 นาที หากปวดที่บาดแผลอย่างรุนแรง ปวดศีรษะ หลัง หรือลำตัว กระสับกระส่าย สับสน เหงื่อออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน มือสั่น ใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว หายใจลำบาก หอบเหนื่อย หน้าซีด หรือบริเวณปลายมือและเท้าเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

การป้องกันแมงกะพรุนต่อย

การป้องกันการถูกพิษจากแมงกะพรุนขณะลงเล่นน้ำทะเลทำได้โดยปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

  • สอบถามเจ้าหน้าที่ประจำชายหาดเกี่ยวกับชนิดของแมงกะพรุนที่พบในบริเวณดังกล่าวและจำนวนผู้ที่ถูกแมงกะพรุนต่อย เพื่อประเมินว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด โดยปกติแล้วจะพบแมงกะพรุนได้มากในช่วงฤดูฝน ซึ่งในช่วงที่แมงกะพรุนชุกชุม เจ้าหน้าที่อาจประกาศห้ามลงเล่นน้ำด้วย
  • สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอย่างชุดดำน้ำหรือชุดว่ายน้ำที่คลุมทั้งตัวและสวมถุงมือเมื่อลงเล่นน้ำหรือดำน้ำในบริเวณที่อาจพบแมงกะพรุน โดยหลีกเลี่ยงการหยิบจับซากแมงกะพรุนที่ตายแล้วด้วยมือเปล่า เพราะอาจสัมผัสโดนพิษได้ รวมทั้งระมัดระวังการลงเล่นน้ำทะเลในตอนกลางคืน เพราะเป็นช่วงเวลาที่แมงกะพรุนจะลอยขึ้นมาที่ผิวน้ำ
  • ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกแมงกะพรุนต่อย และเตรียมชุดยาสำหรับปฐมพยาบาลไปด้วยทุกครั้งที่ไปทะเล
  • หากดำน้ำแล้วพบแมงกะพรุนลอยอยู่เหนือศีรษะ ให้ปล่อยลมออกจากถังออกซิเจนสำรอง เพื่อไล่หรือทำให้ฝูงแมงกะพรุนกระจายตัวออกไป
  • หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำในบริเวณที่แมงกะพรุนชุกชุม และไม่สัมผัสกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ใต้ทะเล เพราะอาจมีพิษเช่นเดียวกับแมงกะพรุน