แบคทีเรียกินเนื้อ ความเสี่ยงจากแมวและสุนัขกัด

หลายคนอาจเคยได้ยินข่าวเจ้าของแมวและสุนัขเป็นโรคแบคทีเรียกินเนื้อ (Necrotizing Fasciitis) จากการถูกกัด อาการในระยะแรกอาจไม่รุนแรง แต่การติดเชื้อแบคทีเรียอาจทำให้เนื้อเยื่อที่ผิวหนัง กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังถูกทำลาย และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เนื้อเยื่อตาย บางรายอาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต

แบคทีเรียกินเนื้อเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่การติดเชื้อจากแผลที่ถูกสัตว์เลี้ยงกัดเป็นสาเหตุที่หลายคนนึกไม่ถึง เพราะมักเป็นบาดแผลขนาดเล็กที่ผิวหนัง อย่างไรก็ตาม แบคทีเรียกินเนื้อสามารถลุกลามได้อย่างรวดเร็ว บทความนี้ได้รวบรวมลักษณะอาการของแบคทีเรียกินเนื้อ และวิธีดูแลรักษาไว้ให้คนรักสัตว์ได้ทราบแล้ว

แบคทีเรียกินเนื้อ ความเสี่ยงจากแมวและสุนัขกัด

แบคทีเรียกินเนื้อจากการถูกสัตว์เลี้ยงกัดเกิดได้อย่างไร

แบคทีเรียกินเนื้อป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังชั้นลึกถึงระดับเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น หลังการผ่าตัดและหลังการประสบอุบัติเหตุ แบคทีเรียกินเนื้อมักเกิดจากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปเอ (Group A Streptococcus) 

ทั้งนี้ การติดเชื้อแบคทีเรียจากสัตว์เลี้ยงมักเกิดจากแบคทีเรียในช่องปากของสัตว์เลี้ยง รวมทั้งแบคทีเรียบนผิวหนังของคนที่ปนเปื้อนบนเขี้ยวสัตว์แล้วเข้าสู่บาดแผล

ผลการศึกษาพบว่าการติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อจากบาดแผลที่ถูกแมวกัด มักเกิดจากการติดเชื้อพาสทูเรลลา มัลโตซิดา (Pasteurella Multocida) ซึ่งการถูกแมวกัดจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าถูกสุนัขกัดถึงสองเท่า เพราะแมวมีเขี้ยวแหลมยาวกว่าเขี้ยวสุนัข จึงอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียลึกเข้าไปในกระดูกและข้อ 

เมื่อถูกสัตว์เลี้ยงกัดจะมีรูเขี้ยวที่ผิวหนัง ทำให้แบคทีเรียในน้ำลายสัตว์เข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผล และแบคทีเรียจะปล่อยเอนไซม์และสารที่เป็นพิษที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด จึงทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา 

อาการและความรุนแรงของแบคทีเรียกินเนื้อ

อาการของแบคทีเรียกินเนื้อมักแสดงออกมาหลังถูกแมวหรือสุนัขที่มีเชื้อโรคในร่างกายกัดภายใน 8–24 ชั่วโมง โดยอาจมีอาการดังนี้

  • ผิวหนังบริเวณบาดแผลมีสีแดงและเกิดตุ่มแดงขนาดเล็ก
  • รู้สึกเจ็บและอุ่นที่บาดแผลและอาจรู้สึกตึงบริเวณกล้ามเนื้อ 
  • มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น เวียนศีรษะ มีไข้ อ่อนเพลีย เหงื่อออก คลื่นไส้ อาเจียน  
  • มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อยลง 

หลังจากติดเชื้อที่บาดแผลประมาณ 3–4 วัน อาการจะเริ่มรุนแรงขึ้น โดยจะรู้สึกปวดและบวมบริเวณแผล มีผื่นสีม่วง เกิดรอยดำและกลายเป็นเกิดตุ่มหนองสีเข้ม ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีดำจากเนื้อเยื่อตาย หากไม่ได้รับการดูแลรักษาจะทำให้เชื้อลุกลามจนทำลายผิวหนัง กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อไขมัน ซึ่งอาจต้องผ่าตัดเนื้อเยื่อที่เสียหายหรือตายออก และอาจเกิดแผลเป็นรุนแรงหลังการผ่าตัด

ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นโรคเบาหวาน และโรคตับแข็งอาจมีความเสี่ยงสูงที่เชื้อจะลุกลามอย่างรวดเร็ว บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด ช็อก และการทำงานของอวัยวะภายในล้มเหลว ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

วิธีการรักษาแบคทีเรียกินเนื้อ

ในเบื้องต้น หากถูกแมวหรือสุนัขกัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ หากบาดแผลมีหนองควรไปพบแพทย์ ไม่ควรกรีดเปิดแผลด้วยตัวเองเนื่องจากอุปกรณ์ที่ไม่สะอาดอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และกรณีที่แผลเปิดและฉีกขาด แพทย์อาจใส่สายระบายหรือทำความสะอาดแผลโดยที่ยังไม่เย็บแผลทันทีและนัดมาติดตามต่อเนื่อง

แพทย์จะฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก วัคซีนพิษสุนัขบ้า และอาจฉีดเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ผู้ที่ถูกกัดหากสัตว์เลี้ยงนั้นไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า นอกจากนี้อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะอย่างอะม็อกซีซิลลิน/คลาวูลานิกแอซิด (Amoxicillin/Clavulanic Acid) ให้รับประทานต่อเนื่องเป็นเวลา 7–10 วัน 

ทั้งนี้ การติดเชื้อมักลุกลามอย่างรวดเร็ว แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อ ในกรณีที่เนื้อเยื่อถูกทำลายจนไม่สามามารถใช้ยาปฏิชีวนะรักษาได้ อาจจำเป็นต้องผ่าตัดนำเนื้อตายออก หรือตัดแขนและขาหากมีอาการรุนแรง ในบางรายอาจต้องเข้ารับการถ่ายเลือด (Blood Transfusion) ร่วมกับรับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ตามความรุนแรงของอาการ

วิธีป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรียกินเนื้อที่ดีที่สุดคือ การล้างมือให้สะอาดหลังสัมผัสและให้อาหารสัตว์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสัตว์เลี้ยง ไม่สัมผัสหรือคลุกคลีกับแมวหรือสุนัขจรจัด และเมื่อถูกแมวหรือสุนัขกัดควรรีบทำความสะอาดบาดแผลและไปพบแพทย์ เพื่อป้องกันการเกิดอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย