เด็กอ้วน ปัญหาสุขภาพของลูกที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย

พ่อแม่หลายคนคิดว่าเด็กอ้วนเป็นเรื่องดีและดูน่ารักจ้ำม่ำ แต่ความจริงแล้วหากปล่อยให้ลูกมีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนกว่าเกณฑ์อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ โดยเด็กที่มีน้ำหนักตัวมากอาจมีปัญหาขาโก่ง การเคลื่อนไหวช้า ปัญหาระบบหายใจที่ส่งผลต่อการนอนหลับ และอาจนำไปสู่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหัวใจได้

โรคอ้วนในเด็กมักเกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ถูกต้อง และการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย โดยจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขพบว่าเด็กอายุ 6–14 ปี มีภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.7 ในปี 2561 เป็นร้อยละ 12.4 ในปี 2564 

เด็กอ้วน ปัญหาสุขภาพของลูกที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย

การประเมินภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี แพทย์จะใช้เกณฑ์น้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง จำแนกตามเพศชายและหญิงของกระทรวงสาธารณสุข โดยคิดจากน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม คูณ 100 และหารด้วยน้ำหนักอ้างอิงตามเกณฑ์ส่วนสูง จากนั้นจะนำไปเทียบกับกราฟ หากจุดตัดอยู่เหนือเส้น +2SD แสดงว่ามีภาวะอ้วนชัดเจน

เด็กอ้วนเกิดจากอะไร ส่งผลอย่างไรกับสุขภาพ

เด็กอ้วนอาจเป็นผลจากกรรมพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน พฤติกรรมการใช้ชีวิต และปัจจัยอื่น ๆ เช่น 

  • พฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม ส่วนมากจะมีส่วนประกอบของแป้ง ไขมันและน้ำตาลสูง เช่น อาหารจานด่วนหรือฟาสต์ฟู้ด อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง น้ำอัดลม น้ำหวาน และขนมหวาน รวมถึงการกินอาหารปริมาณมากไป การที่ให้รางวัลเป็นขนมหวาน และการให้เด็กกินขนมระหว่างมื้ออาหาร
  • การที่เด็กไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น เด็กติดเกม โทรศัพท์มือถือ และโทรทัศน์ หรือไม่ได้วิ่งเล่นออกกำลังกายตามวัย
  • ความเบื่อและความเครียดจากครอบครัวและที่โรงเรียน ซึ่งอาจทำให้เด็กกินอาหารมากขึ้นหรือกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาเพรดนิโซน (Prednisone) ลิเทียม (Lithium) และยากาบาเพนติน (Gabapentin) 

เด็กที่อ้วนอาจประสบกับปัญหาสุขภาพหลายด้าน โดยมักเป็นปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่อาจทำให้นอนหลับไม่เพียงพอและกระทบต่อการเรียนของเด็ก ปวดตามข้อ เคลื่อนไหวช้าลง และทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ยากขึ้น

รวมถึงเด็กอ้วนอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง และมีแนวโน้มน้ำหนักเกินเกณฑ์ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็งบางชนิด

นอกจากนี้ เด็กบางคนอาจรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง ถูกเพื่อนล้อหรือกลั่นแกล้ง ซึ่งอาจนำไปสู่ความเครียด ภาวะโรคซึมเศร้า ผลการเรียนแย่ลง และหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกับคนอื่น

พ่อแม่ควรดูแลอย่างไรไม่ให้เด็กอ้วน 

การปรับพฤติกรรมจะช่วยให้ลูกมีน้ำหนักสมส่วนตามเกณฑ์ ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากเด็กอ้วน และช่วยให้ลูกใช้ชีวิตตามวัยได้อย่างมีความสุข ดังนี้

  • หากเป็นไปได้ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจนถึงอายุ 6 เดือน หลังจากนั้นให้นมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปี เมื่อเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป ควรได้รับอาหารมื้อหลัก 3 มื้อและนมรสจืดวันละ 2–3 ครั้ง โดยเริ่มฝึกให้ลูกเลิกดูดขวดนมหลังอายุ 1 ปี
  • ฝึกวินัยในการกิน เช่น ให้ลูกกินอาหารเป็นเวลา ไม่ควรงดอาหารเช้า ไม่ให้อาหารและขนมเป็นรางวัล 
  • ควบคุมปริมาณอาหารของลูกให้พอเหมาะ เน้นให้ลูกกินอาหารจำพวกผักผลไม้ ธัญพืช

ที่ไม่ผ่านการขัดสี และดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ

  • หลีกเลี่ยงการกินอาหารนอกบ้าน อาหารจานด่วน การกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เนย กะทิ ของทอด นมที่มีไขมันเต็ม (Full Fat Milk) และอาหารน้ำตาลสูง อย่างขนมหวาน ขนมขบเคี้ยว น้ำหวาน และน้ำอัดลม
  • ให้ลูกทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น ออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อน ช่วยทำงานบ้าน และออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที
  • กำหนดเวลาในการดูโทรทัศน์ เล่นคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุ 2–5 ปี ไม่ควรให้อยู่กับหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกินวันละ 30 นาที
  • ให้ลูกพักผ่อนอย่างเพียงพอตามช่วงวัย เพราะการนอนน้อยอาจกระตุ้นให้เด็กกินอาหารมากขึ้นและเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง โดยเด็กอายุ 1–2 ปี ควรนอนวันละ 11–14 ชั่วโมง เด็กก่อนวัยเรียนอายุ 3–5 ปี ควรนอนวันละ 10–13 ชั่วโมง เด็กวัยเรียนอายุ 6–12 ปี ควรนอน 9–12 ชั่วโมง และวัยรุ่นอายุ 13–18 ปี ควรนอนวันละ 8–10 ชั่วโมง
  • เป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกในการกินอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

เด็กอ้วนเป็นภาวะที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย หากไม่ได้ดูแลอย่างเหมาะสมอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพในระยะยาว และหากพ่อแม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับโภชนาการเด็ก การดูแลสุขภาพ และเกณฑ์การเจริญเติบโตของลูก ควรปรึกษากุมารแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลที่เหมาะสม