เซฟิพีม (Cefepime)

เซฟิพีม (Cefepime)

Cefepime (เซฟิพีม) เป็นยาปฏิชีวนะรักษาอาการติดเชื้อจากแบคทีเรียในบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ ช่องท้อง หรือทางเดินปัสสาวะ โดยจะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย นอกจากนี้ อาจใช้รักษาภาวะอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

เซฟิพีม (Cefepime)

เกี่ยวกับยา Cefepime

กลุ่มยา ยาปฏิชีวนะกลุ่มเซฟาโลสปอริน (Cephalosporins Antibiotics)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาอาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่ 
รูปแบบของยา ยาฉีด
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป ผู้ที่ตั้งครรภ์และอยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้ยา

คำเตือนในการใช้ยา Cefepime

ข้อควรทราบเพื่อความปลอดภัยก่อนการใช้ยา Cefepime มีดังนี้

  • แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับอาการแพ้ยาและอาการแพ้สารอื่น ๆ โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะกลุ่มเซฟาโลสปอริน และยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนนิซิลลิน 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ รวมถึงหากอยู่ระหว่างการใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides) หรือยาปฏิชีวนะชนิดอื่น และยาขับปัสสาวะ
  • แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบถึงประวัติทางการแพทย์ โดยเฉพาะโรคไต โรคในระบบทางเดินอาหาร มีภาวะขาดสารอาหาร ภาวะเลือดออกผิดปกติ หรือเคยป่วยด้วยโรคลมชัก  
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ระหว่างการให้นมบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา Cefepime
  • ในระหว่างใช้ยา Cefepime ไม่ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนหรือสารสร้างภูมิคุ้มกันโดยไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์
  • ก่อนเข้ารับการผ่าตัดใด ๆ ควรแจ้งแพทย์หรือทันตแพทย์เกี่ยวกับยาที่กำลังใช้ ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อรับประทานเอง อาหารเสริม และยาสมุนไพร
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างการใช้ยา Cefepime

ปริมาณการใช้ยา Cefepime

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Cefepime ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้

การติดเชื้อในร่างกาย

ตัวอย่างการใช้ยา Cefepime เพื่อรักษาอาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบทางเดินหายใจ ช่องท้อง และผิวหนัง 

  • ทารกแรกเกิด ให้ยาทางหลอดเลือดดำปริมาณ 30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 12 ชั่วโมง หากติดเชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนส (Pseudomonas) อาจเพิ่มปริมาณการให้ยาเป็น 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม 
  • เด็กอายุมากกว่า 30 วัน อาการน้อยถึงปานกลางให้ยาปริมาณ 100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แบ่งฉีด 2 ครั้ง/วัน กรณีที่ติดเชื้อรุนแรงให้ยาปริมาณสูงสุดไม่เกิน 150 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แบ่งฉีด 2–3 ครั้ง/วัน
  • ผู้ใหญ่ อาการติดเชื้อน้อยถึงปานกลางให้ยาทางหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อ ปริมาณ 1–2 กรัม ทุก ๆ 12 ชั่วโมง หากอาการติดเชื้อรุนแรงให้ยาทางหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อ ปริมาณ 4 กรัม/วัน แบ่งฉีด 2 ครั้ง โดยให้ยาแต่ละครั้งนานประมาณ 30 นาที

ภาวะไข้จากเม็ดเลือดขาวต่ำ

ตัวอย่างการใช้ยา Cefepime เพื่อรักษาภาวะไข้จากเม็ดเลือดขาวต่ำด้วยการให้ยาปฏิชีวนะแบบครอบคลุมเชื้อ (Empiric Therapy)

  • ผู้ใหญ่ ให้ยาทางหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อในปริมาณสูงสุด 6 กรัม แบ่งฉีด 3 ครั้ง/วัน โดยให้ยาครั้งละนานประมาณ 30 นาที 

การใช้ยา Cefepime    

ยา Cefepime เป็นยาที่ต้องฉีดโดยแพทย์ที่สถานพยาบาลเท่านั้น ผู้ป่วยควรติดตามการรักษากับแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อรับการตรวจร่างกาย อาการของโรค และผลการตอบสนองของโรคต่อการรักษาด้วยยา แม้ว่าจะมีอาการดีขึ้นก็ไม่ควรหยุดรับการฉีดยา หากลืมนัดหมาย ควรไปพบแพทย์ทันทีที่นึกได้ ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงหลังได้รับยา Cefepime ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบ

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Cefepime

ยา Cefepime อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงทั่วไป เช่น มีไข้ ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย รู้สึกปวดหรือระคายเคืองบริเวณที่ฉีดยา เกิดผื่น และคัน หากความผิดปกติเหล่านี้คงอยู่นานหรือไม่หายไป ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

อย่างไรก็ตาม ควรหยุดรับการฉีดยาแล้วแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็วที่สุดหากพบผลข้างเคียงรุนแรง เช่น

  • มีอาการแพ้ยาหรืออาการแพ้ทางผิวหนังอย่างรุนแรง เช่น หายใจลำบาก เจ็บคอ บวมบริเวณใบหน้าหรือคอ แสบตา แสบผิว ผิวลอกหรือเป็นแผลพุพอง เป็นต้น
  • มีปัญหาการพูดหรือสื่อสารกับผู้อื่น
  • อ่อนเพลียหรือเหนื่อยผิดปกติ
  • ผิวซีด ช้ำง่าย
  • มีภาวะดีซ่าน
  • มีเลือดออกมากผิดปกติ
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง ท้องเสียต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด
  • มึนงง เห็นภาพหลอน
  • หมดสติหรือชัก
  • ปัสสาวะเป็นสีเข้มหรือรู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ