รู้จัก Mycoplasma pneumoniae แบคทีเรียก่อโรคระบบทางเดินหายใจ

Mycoplasma pneumoniae เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่สามารถส่งผลให้อวัยวะในระบบทางเดินหายใจของผู้ที่ติดเชื้อ เช่น ลำคอ ปอด และหลอดลม เกิดความเสียหายได้ แต่โดยส่วนใหญ่มักไม่รุนแรง อย่างไรก็ตาม ก็มีบางคนเช่นกันที่อาจมีโอกาสพัฒนาเป็นภาวะปอดบวม (Pneumonia) ได้

เชื้อแบคทีเรีย Mycoplasma pneumoniae เป็นเชื้อที่แพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านของเหลวของผู้ที่ติดเชื้อ เช่น การสูดดมละอองน้ำลายของผู้ที่ติดเชื้อขณะที่ผู้ที่ติดเชื้อไอหรือจาม การอยู่ในสถานที่ที่มีคนจำนวนมากหรือแออัดจึงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อชนิดนี้ได้มาก

Mycoplasma pneumoniae

การติดเชื้อ Mycoplasma pneumoniae สามารถเกิดได้กับทุกคน แต่ส่วนมากมักพบได้ในผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 5–20 ปี นอกจากนี้ ผู้ที่มีะบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนขั้นพื้นฐานอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่รุนแรงได้

อาการที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อ Mycoplasma pneumoniae

อาการที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อ Mycoplasma pneumoniae มักเกิดขึ้นหลังจากร่างกายได้รับเชื้อไปแล้ว 1–4 สัปดาห์ โดยลักษณะอาการอาจจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคนได้บ้าง แต่อันหลัก ๆ ที่มักพบก็เช่น

  • อาการไอเรื้อรังที่ค่อย ๆ มีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
  • มีไข้ หนาวสั่น
  • เจ็บคอ
  • ปวดศีรษะ
  • อ่อนเพลีย
  • หายใจไม่อิ่ม

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อมีอายุต่ำกว่า 5 ปี อาการที่พบอาจแตกต่างจากที่ได้กล่าวไป โดยลักษณะอาการที่มักพบก็เช่น

  • คัดจมูก หายใจมีเสียงหวีด
  • จาม
  • เจ็บคอ
  • มีน้ำตาไหลมาก
  • อาเจียน 
  • ท้องเสีย
  • กลืนอาหารหรือดื่มน้ำลำบาก

ภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อ Mycoplasma pneumoniae

โดยส่วนใหญ่ การติดเชื้อ Mycoplasma pneumoniae มักไม่ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ที่รุนแรง แต่ก็มีบางกรณีเช่นกันที่ผู้ที่ติดเชื้อเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ โดยที่อาจพบได้ก็เช่น

  • ภาวะปอดบวม 
  • เกิดอาการจากโรคหืดอย่างฉับพลัน
  • ภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด (Pleural effusion)
  • ไข้สมองอักเสบ
  • ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก
  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
  • ไตอักเสบ
  • โรคทางผิวหนังบางชนิด เช่น กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens Johnson Syndrome) หรืออีริทิมา มัลติฟอร์เม (Erythema Multiforme)

การรักษาการติดเชื้อ Mycoplasma pneumoniae

ในการรักษาการติดเชื้อ Mycoplasma pneumoniae แพทย์จำเป็นต้องประเมินความรุนแรงก่อน หากผู้ที่ติดเชื้อมีอาการเพียงเล็กน้อย แพทย์อาจพิจารณาเพียงติดตามอาการและแนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้เพียงพอ 

แต่หากผู้ป่วยเริ่มมีอาการที่รุนแรง แพทย์อาจใช้ยาปฏิชีวนะเป็นหลัก ซึ่งแพทย์จะพิจารณาชนิดของยาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยเป็นกรณีไป

วิธีป้องกันตัวเองจาก Mycoplasma pneumoniae 

ในปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนที่ใช้สำหรับป้องกันการติดเชื้อ Mycoplasma pneumoniae อีกทั้งผู้ที่มีประวัติติดเชื้อก็ยังมีโอกาสกลับมาติดเชื้อซ้ำได้

อย่างไรก็ตาม การดูแลตัวเองบางอย่างอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ Mycoplasma pneumoniae ได้ เช่น

  • หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่อย่างน้อย 20 วินาที/ครั้ง
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หรือประมาณ 6–8 ชั่วโมง/วัน
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วย
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่คนเยอะ หากมีภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรง 
  • สวมใส่หน้ากากอนามัย
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

หากสงสัยว่าตัวเองอาจได้รับเชื้อ Mycoplasma pneumoniae และพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ไอ หรือหายใจไม่อิ่ม ในลักษณะเรื้อรังและไม่ดีขึ้น ให้ผู้ที่มีอาการไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นที่อาจเกิดตามมา