ไข้รากสาดใหญ่ เรียนรู้สัญญาณและการป้องกันโรคจากการเดินป่า

ไข้รากสาดใหญ่ (Scrub Typhus) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ โอเรียนเชีย ซูซูกามูชิ (Orientia Tsutsugamushi) ผ่านการกัดของตัวไรอ่อนจนทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย ผู้ติดเชื้อมักมีอาการจับไข้ หนาวสั่น เกิดผื่นคล้ายรอยถูกบุหรี่จี้ บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายจนนำไปสู่การเสียชีวิต

ไรอ่อนเป็นแมลงขนาดเล็กอาศัยอยู่ตามพุ่มไม้และต้นหญ้าในป่าหรือป่าละเมาะ จึงพบผู้ป่วยโรคไข้รากสาดใหญ่ได้บ่อยตามพื้นที่ชนบทหรือบริเวณที่มีหญ้าขึ้นรก โรคนี้สามารถพบได้ทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน แต่มักจะพบผู้ป่วยโรคนี้ได้บ่อยในช่วงฤดูฝน ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่อาศัยใกล้สวนหรือป่า ผู้ที่ทำเกษตรกรรม และผู้ที่ชอบการเดินป่าอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกไรอ่อนกัดจนเกิดการติดเชื้อ 

2454-scrub-typhus

รู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อไข้รากสาดใหญ่ ?

การถูกไรอ่อนกัดอาจทำให้เกิดแผลหรือผื่น ตามมาด้วยอาการปวดอย่างรุนแรงและอาการคัน ซึ่งอาการอาจหายได้เองใน 2-3 วัน หลังจากนั้นแผลจากการถูกกัดจะตกสะเก็ดกล้ายเป็นสีดำ มีลักษณะคล้ายผิวหนังที่ถูกบุหรี่จี้ (Eschar) โดยตำแหน่งที่พบว่าถูกกัดบ่อย ได้แก่ หน้าอก รักแร้ รอบเอว ขาหนีบ อวัยวะเพศ หรือบริเวณผิวหนังที่บาง แต่บางรายอาจไม่มีอาการปวดและไม่พบผื่นได้เช่นกัน

โดยปกติเชื้อแบคทีเรียจะใช้เวลาฟักตัวราว 10 วัน ถึง 3 สัปดาห์ ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดการติดเชื้ออาจพบสัญญาณของโรค เช่น

  • มีอาการจับไข้ หนาวสั่น
  • ปวดศีรษะ โดยเฉพาะบริเวณขมับและหน้าผาก
  • เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดตา ตาแดง
  • ไอแห้ง ไม่มีเสมหะ
  • ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • มีอาการทางประสาท อย่างรู้สึกสับสนไปจนถึงขั้นโคม่า

เมื่อสังเกตเห็นถึงอาการเหล่านี้และมีผื่นจากการกัดของไรอ่อน ร่วมกับเคยมีประวัติการเข้าไปในพื้นที่ทุ่งหญ้าหรือป่าในช่วงที่ผ่านมา ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง เพราะหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ อย่างเลือดออกในกระเพาะและตับอักเสบ

วิธีป้องกันโรคไข้รากสาดใหญ่

หลีกเลี่ยงและป้องกันการถูกไรอ่อนกัดเป็นวิธีการป้องกันหลักของโรคนี้

  • หลีกเลี่ยงการเข้าไปตามพุ่มไม้ ทุ่งหญ้า หรือป่าละเมาะ โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน
  • ดูแลและรักษาความสะอาดที่พักอาศัยเป็นประจำ
  • รักษาความสะอาดของร่างกายอยู่เสมอ
  • สวมเสื้อผ้าที่เหมาะสมหรืออุปกรณ์ป้องกันเมื่อต้องเข้าไปใกล้ตามพุ่มไม้ ทุ่งหญ้า หรือป่าละเมาะ เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และรองเท้าสำหรับเดินป่า เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการนั่งหรือนอนบนพื้นดินโดยตรง
  • หากต้องเข้าไปในป่าหรือบริเวณที่เสี่ยงถูกไรอ่อนกัด ควรทาโลชั่นสำหรับป้องกันแมลงและทาซ้ำตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์ หากเป็นเด็กควรให้ผู้ปกครองทาโลชั่นให้ ห้ามให้เด็กทาโลชั่นด้วยตนเอง
  • พ่นหรือทาสารเคมีเพื่อป้องกันแมลงตามเสื้อผ้า ของใช้ มุ้งและเต็นท์ แต่หลีกเลี่ยงการใช้กับผิวหนังโดยตรงและควรใช้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากสารเคมีส่วนใหญ่ที่ใช้พ่นหรือทาบนสิ่งของมักมีความเข้มข้นสูง 
  • ควรอาบน้ำทันทีเมื่อออกจากพื้นที่ พร้อมกับซักทำความสะอาดเสื้อผ้าและของใช้ที่นำเข้าไปในพื้นที่ โดยให้ทำความสะอาดเสื้อผ้าและสิ่งของเหล่านั้นแยกจากสิ่งของอื่น ๆ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารเคมีที่อาจมีความเข้มข้นสูง อีกทั้งจำเป็นต้องล้างทำความสะอาดหลายรอบเพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับพิษจากสารเคมีอันตราย

ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคไข้รากสาดใหญ่ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงจึงควรดูแลตนเองและคนในครอบครัว โดยเฉพาะทารก เด็ก และผู้สูงอายุ รวมทั้งควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติอยู่เสมอ และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันโรคนี้เพิ่มเติม นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ยาเคมี (Chemoprophylaxis) ร่วมกับยาปฏิชีวนะแก่ผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเพื่อป้องกันการติดเชื้อ