โรคไข้รากสาดใหญ่ (Scrub Typhus)

ความหมาย โรคไข้รากสาดใหญ่ (Scrub Typhus)

Scrub Typhus (โรคสครับไทฟัส) หรือโรคไข้รากสาดใหญ่ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มริกเก็ตเซีย (Rickettsia) มีไรอ่อนเป็นพาหะนำโรค ซึ่งไรอ่อนมักจะอาศัยอยู่ตามพุ่มไม้ หรือทุ่งหญ้าในป่าละเมาะ เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้ออาจทำให้เกิดอาการ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดตามตัว มีผื่นคัน คลื่นไส้และอาเจียน

นอกจากนั้น โรคสครับไทฟัส มักมีการแพร่ระบาดในเขตชนบทแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย อินโดนีเซีย จีน ญี่ปุ่น อินเดีย หรือรวมไปถึงออสเตรเลียเหนือ

Scrub Typhus

อาการของโรคไข้รากสาดใหญ่

อาการของ Scrub Typhus มักจะเกิดขึ้นภายใน 10 วัน หลังจากที่โดนไรอ่อนกัด โดยอาจทำให้เกิดอาการ ได้แก่

  • ปวดศีรษะ 
  • มีไข้สูง ประมาณ 40-40.5 องศาเซลเซียส
  • หนาวสั่น
  • ไอ
  • ต่อมน้ำเหลืองโตและกดเจ็บ
  • ปวดกระบอกตา
  • ปวดกล้ามเนื้อ และปวดเมื่อยตามตัว
  • ปวดท้อง
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • ผื่นแดงเริ่มขึ้นบริเวณลำตัว
  • มีผื่นขนาดเล็กค่อย ๆ นูนหรือใหญ่ขึ้น และต่อมาอาจทำให้เป็นแผลที่คล้ายถูกบุหรี่จี้ (Eschar) ซึ่งเกิดจากชั้นเนื้อตาย โดยจะเกิดบริเวณที่ถูกไรอ่อนกัด มักไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดและสังเกตเห็นได้ยาก
  • ต่อมน้ำเหลืองบวม
  • ความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่เกิดอาการสับสนไปจนถึงอาการโคม่า

นอกจากนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้การทำงานของอวัยวะล้มเหลวและเลือดออก หรือหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เสียชีวิตได้

สาเหตุของโรคไข้รากสาดใหญ่

สาเหตุของ Scrub Typhus เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม ริกเก็ตเซีย (Rickettsia) ชื่อว่า โอเรียนเทีย ซูซูกามูชิ (Orientia Tsutsugamushi) โดยมีตัวไรอ่อน (Chigger) เป็นพาหะนำเชื้อดังกล่าวมาสู่คน ด้วยการกัดผิวหนังของคน ซึ่งตัวไรอ่อนชนิดนี้มักจะพบบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ โดยเฉพาะบริเวณป่าปิด พุ่มไม้ หรือทุ่งหญ้าในป่าละเมาะ และมักพบการติดเชื้อมากในช่วงหน้าฝน

การวินิจฉัยโรคไข้รากสาดใหญ่

นื่องจากอาการของโรค Scrub Typhus มีความคล้ายคลึงกับหลาย ๆ โรค ผู้ที่อาศัยหรือเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคควรสังเกตอาการที่เกิดขึ้นกับตนเอง

แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการตรวจเลือด ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค รวมไปถึงอาจมีการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะใช้เวลาหลายสัปดาห์จึงจะทราบผลการตรวจได้ ดังนั้น แพทย์จะเริ่มต้นการรักษาก่อนที่ผลตรวจจะเสร็จสิ้น นอกจากนั้น แพทย์อาจวินิจฉัยอื่น ๆ เพิ่มเติม ได้แก่

  • การตรวจทางน้ำเหลือง (Serological Test) เป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัย ซึ่งวิธีการตรวจที่มีราคาถูกและทำได้ง่ายที่สุดคือ Weil-Felix แต่พบว่ายังไม่น่าเชื่อถือเพียงพอ และปัจจุบันได้ถูกแทนที่ด้วยการตรวจ Complement-Fixation
    • การตรวจ Complement-Fixation เป็นการตรวจทางภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่ง ที่สามารถตรวจเชื้อได้แบบรวม 5 สายพันธุ์ แต่จะไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์ใด ซึ่งตรวจโดยดูการเพิ่มขึ้นของ IgM หรือการเพิ่มขึ้น 4 เท่าของระดับแอนดิบอดี้ที่ตรวจห่างกัน 2 ครั้ง
  • การตรวจ Indirect Immunofluorescence Antibody: IFA ซึ่งวิธีมาตรฐานที่ใช้ในการตรวจหาเชื้ออีกวิธีหนึ่ง โดยได้ดัดแปลงเป็นการตรวจ Indirect Immunoperoxidase: IIP เพื่อให้สามารถมองเห็นเชื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา แต่จะให้ผลเช่นเดียวกัน
  • การวินิจฉัยด้วยเทคนิค Polymerase Chain Reaction: PCR เป็นวิธีที่ใช้ตรวจหาเชื้อโดยการนำตัวอย่างเนื้อเยื่อของผื่นที่ผิวหนัง ต่อมน้ำเหลืองหรือเลือด ไปตรวจ  

การรักษาโรคไข้รากสาดใหญ่

การรักษา Scrub Typhus แพทย์จะใช้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่

  • ยาดอกซีไซคลินและยาคลอแรมเฟนิคอล จะใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก
  • ยาอะซิโธรมัยซิน อาจใช้กับผู้ป่วยที่มีการดื้อยาและพบว่าอาจให้ผลดีกว่ายาดอกซีไซคลิน โดยเฉพาะกับผู้ป่วยวัยเด็กและผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์

นอกจากนั้น ยังพบว่ามีบางพื้นที่ที่อาจมีการดื้อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรีย ซึ่งในประเทศไทยก็มีการดื้อยาดังกล่าว

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้รากสาดใหญ่

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากโรคนี้ ได้แก่

  • โรคตับอักเสบ
  • ปอดอักเสบ (Pneumonitis)
  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis)
  • เยื่อหุ้มสมองกับสมองอักเสบ (Meningoencephalitis)
  • ภาวะที่มีการแข็งตัวของก้อนเลือดกระจายไปทั่วร่างกาย (Disseminated Intravascular Coagulation)
  • การทำงานของอวัยวะในร่างกายล้มเหลว (Multi-Organ Failure)

การป้องกันโรคไข้รากสาดใหญ่

เนื่องจากโรค Scrub Typhus ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นการป้องกันความเสี่ยงของการติดเชื้อ คือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือถูกตัวไรอ่อนที่มีเชื้อกัด ซึ่งมีวิธีป้องกันดังนี้

  • ผู้ที่ต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค Scrub Typhus ควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีพืชพรรณและพื้นที่ที่ปกคลุมไปด้วยพุ่มไม้หรือต้นไม้ขนาดเล็ก ซึ่งเป็นที่ที่ตัวไรอ่อนชอบอาศัยอยู่
  • ใช้สารไล่แมลงที่มีส่วนประกอบของสาร DEET 20-30% หรือสารที่ได้รับการรับรองว่าใช้สำหรับต่อต้านตัวไรอ่อน ทั้งแบบที่ใช้กับผิวหนังหรือเสื้อผ้า นอกจากนั้น ควรใช้ตามคำแนะนำที่ระบุบนฉลากอย่างเคร่งครัด เช่น
    • เวลาที่ควรใช้ซ้ำ
    • ไม่ควรพ่นสเปรย์บนผิวหนังใต้เสื้อผ้า
    • หากใช้ครีมหรือโลชั่นป้องกันแสงแดด ควรใช้กันแดดก่อนค่อยทาสารไล่แมลง
  • การป้องกันสำหรับเด็ก ได้แก่
    • ให้เด็กสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดผิวหนังอย่างมิดชิดทั้งแขนและขา หรือคลุมรถเข็นเด็ก เตียงนอน ด้วยมุ้งกันยุง
    • ไม่ควรใช้สารไล่แมลงหากมีเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 เดือน
    • ควรหลีกเลี่ยงสารไล่แมลงไม่ให้ถูกตา มือ ปาก หรือบริเวณผิวที่อาจเกิดการระคายเคือง
    • อาจให้ผู้ปกครองพ่นสเปรย์ลงบนมือแล้วจึงค่อยทาไปที่ใบหน้าเด็ก
  • ใช้สารเพอร์เมทรินลงบนเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น รองเท้า เสื้อผ้า และอุปกรณ์ที่ใช้ตั้งแคมป์ หรืออาจใช้อุปกรณ์ที่มีสารเพอร์เมทรินอยู่แล้ว ซึ่งสารเพอร์เมทรินจะมีฤทธิ์ฆ่าตัวไรอ่อน และถึงแม้จะซักผ้าที่มีสารดังกล่าวไปแล้วหลายครั้ง ก็ยังคงช่วยป้องกันได้ แต่ควรอ่านรายละเอียดที่ฉลากว่าจะช่วยป้องกันได้นานเท่าไหร่ รวมไปถึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำที่ระบุอยู่บนฉลากอย่างเคร่งครัด และไม่ควรใช้สารเพอร์เมทรินกับผิวหนังโดยตรง เพราะจะใช้กับเสื้อผ้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ เท่านั้น