เขียง แหล่งสะสมเชื้อโรคที่ไม่ควรมองข้าม

เขียงเป็นอุปกรณ์คู่ครัวที่ใช้รองหั่นมีดทำอาหาร หลายคนอาจมีคำถามว่าเขียงที่ใช้กันอยู่จะมีเศษสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคตกค้างหลังการใช้งานหรือไม่ แท้จริงแล้วเขียงก็เป็นเช่นเดียวกับข้าวของเครื่องใช้ในครัวชนิดอื่น ๆ ที่หากดูแลรักษาความสะอาดได้ไม่ดีพอก็อาจกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้เช่นกัน โดยเชื้อต่าง ๆ อาจแพร่กระจายไปยังมือในขณะทำอาหารและเข้าสู่ร่างกายจนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ ซึ่งปัญหานี้ป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขอนามัยตนเอง ทำความสะอาดและเก็บรักษาเขียงอย่างเหมาะสม

1613 Resized เขียง

เขียงเสี่ยงเป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างไร ?

เขียงที่ถูกนำมาใช้รองหั่นอาหารประเภทเนื้อสัตว์อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคต่าง ๆ ที่ทำให้เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพอย่างโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารได้ โดยมีงานวิจัยบางส่วนพบว่าเขียงอาจสะสมเชื้อแบคทีเรียตระกูลลิสเทอเรีย (Listeria) จากเนื้อไก่สดไว้ และอาจแพร่กระจายเชื้อดังกล่าวไปสู่อาหารชนิดอื่น ๆ ที่ใช้เขียงร่วมกันได้ ยิ่งไปกว่านั้น เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวอาจยังฝังตัวและอาศัยอยู่บนเขียงจนเจริญเติบโตมากขึ้น เพิ่มปริมาณมากขึ้น โดยเฉพาะบนเขียงไม้ และแพร่กระจายไปสู่อาหารอื่น ๆ ได้เมื่อนำเขียงมาใช้ในครั้งต่อไป

เขียงชนิดใดปลอดภัยที่สุด ?

เนื่องจากเขียงที่วางขายอยู่ตามท้องตลาดนั้นทำจากวัสดุหลากชนิดที่แตกต่างกัน เช่น พลาสติก ไม้ หินอ่อน และแก้ว เป็นต้น จึงอาจทำให้เกิดการเปรียบเทียบว่าเขียงชนิดไหนปลอดภัยมากกว่ากัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เขียงไม้มีแนวโน้มจะสกปรกกว่าเขียงชนิดอื่น ๆ เพราะพื้นผิวของเขียงไม้นั้นดูแลรักษาความสะอาดได้ค่อนข้างยาก จนอาจกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียตามมาได้

อย่างไรก็ตาม หากต้องการใช้เขียงไม้ อาจเลือกใช้เขียงที่ทำจากไม้ไผ่ เพราะเขียงไม้ไผ่ดูดซับความชื้นได้เพียงเล็กน้อย ทำให้เนื้อเขียงค่อนข้างแข็ง และเกิดรอยหั่น รอยสับ หรือรอยขีดข่วนจากมีดได้ยาก ซึ่งอาจทำให้เขียงไม้ไผ่มีความทนทานต่อเชื้อแบคทีเรียมากกว่าเขียงไม้ชนิดอื่น ๆ ด้วย

ดูแลรักษาเขียงอย่างไรให้สะอาดและปลอดภัยต่อสุขภาพ ?

ไม่ว่าจะใช้เขียงชนิดใดก็ตาม ควรดูแลเขียงให้สะอาดอยู่เสมอ เนื่องจากเขียงทุกชนิดล้วนเสี่ยงปนเปื้อนและกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้ทั้งสิ้นหากไม่รักษาความสะอาดให้ดีหลังการใช้งานทุกครั้ง

โดยคำแนะนำต่อไปนี้ อาจช่วยให้พ่อบ้านแม่บ้านทั้งหลายดูแลรักษาเขียงให้สะอาดและปลอดภัยจากการสะสมของเชื้อโรคได้

  • ใช้เขียงแยกกันสำหรับอาหารแต่ละชนิดเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น ใช้เขียงอันหนึ่งสำหรับเนื้อสัตว์และอาหารทะเลสด ในขณะที่ใช้เขียงอีกอันหนึ่ึงสำหรับผัก ผลไม้ ขนมปัง หรืออาหารอื่น ๆ เป็นต้น
  • เลือกซื้อเขียงที่มีพื้นผิวเรียบ ไม่มีรอยขูด หรือไม่มีร่องเฉือนที่ลึกลงจนไม่สามารถล้างทำความสะอาดได้
  • ใช้ฝาชีขนาดพอดีกับเขียงครอบเอาไว้เมื่อไม่ได้ใช้งาน เพื่อป้องกันแมลงวันตอม
  • หลังใช้งานแต่ละครั้ง ควรล้างเขียงด้วยน้ำร้อนและน้ำสบู่ ก่อนล้างด้วยน้ำสะอาดตามอีกครั้ง แล้วจึงใช้ผ้าสะอาดซับน้ำให้แห้งหรือตากเขียงไว้ให้แห้งสนิท และหากเป็นเขียงไม้ ควรนำไปผึ่งแดดไว้เพื่อป้องกันเชื้อรา
  • หลังทำความสะอาดเขียง อาจฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ ที่ตกค้างอยู่โดยนำเขียงไปแช่น้ำที่ผสมสารฟอกขาวปราศจากกลิ่น 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำประมาณ 3.8 ลิตร ทิ้งไว้ 2-3 นาที ก่อนล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งแล้วตากไว้ให้แห้งสนิท
  • ทาน้ำมันอย่างน้ำมันแร่หรือน้ำมันวอลนัทลงบนเขียงไม้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม้แตกร้าว โดยนำผ้าสะอาดมาเช็ดน้ำมันลงบนเขียงให้ทั่วตามแนวไม้ในปริมาณที่มากเท่าที่เขียงจะซึมซับได้ ก่อนเช็ดเอาน้ำมันส่วนเกินออก
  • เปลี่ยนเขียงใหม่หากเขียงเริ่มเก่าหรือปรากฏรอยต่าง ๆ เช่น รอยแตก รอยแยก หรือรอยลึกที่คาดว่าเชื้อแบคทีเรียจะสามารถอาศัยอยู่ได้ เป็นต้น เพราะเขียงทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นเขียงพลาสติกหรือเขียงไม้ก็อาจสึกหรอได้ตามระยะเวลาและการใช้งาน