อุจจาระสีเขียวในทารก กับสาเหตุที่พ่อแม่ควรทราบ

 

อุจจาระสีเขียวของทารกอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่ตกใจ แต่จริง ๆ แล้วอุจจาระสีเขียวเกิดได้จากหลายสาเหตุ อย่างอาหารที่รับประทาน ปัญหาในระบบทางเดินอาหาร หรือการได้รับธาตุเหล็ก ซึ่งบางสาเหตุอาจเป็นตัวบ่งบอกถึงสุขภาพของลูกน้อยได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจ

ตามธรรมชาติแล้ว ทารกจะขับถ่ายอุจจาระออกมาจากร่างกายครั้งแรกภายในเวลา 24-48 ชั่วโมงหลังการคลอด โดยอุจจาระของทารกจะมีลักษณะเหนียว มีสีเขียวปนเทาหรือปนดำเรียกว่าขี้เทา แต่สีของอุจจาระจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองทองหรืออาจจะเป็นสีเขียวอยู่บ้างตามปริมาณนมแม่ที่เด็กได้รับ หากทารกเริ่มรับประทานนมผงหรืออาหารเหลวได้แล้ว อุจจาระของทารกจะเป็นสีเหลืองเข้ม น้ำตาล หรือเขียวเข้มตามอาหารหรือนมที่ทารกรับประทานเข้าไป 

2563-อุจจาระสีเขียว

สาเหตุของอุจจาระสีเขียวในทารก

แม้ว่าอุจจาระสีเขียวของทารกอาจเป็นเรื่องปกติ แต่บางครั้งอาจมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดสีเขียวได้ เช่น 

 

  • รับประทานอาหารสีเขียว

 

อุจจาระของทารกเป็นสีเขียวอาจเป็นผลมาจากคุณแม่รับประทานอาหารที่มีสีเขียวในช่วงที่ให้นมลูก อย่างผักใบเขียวหรืออาหารแต่งสี หรืออาจเป็นผลมาจากทารกเริ่มรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบสีเขียว อย่างถั่วบางชนิดหรือผักปวยเล้ง ด้วยเหตุนี้ การรับประทานของตัวคุณแม่หรือทารกเองอาจส่งผลต่อสีของอุจจาระของทารกได้

 

  • ได้รับน้ำนมส่วนหน้าและส่วนหลังในปริมาณที่ไม่เท่ากัน

 

ในระหว่างการให้นมแม่ น้ำนมแต่ละช่วงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไป โดยน้ำนมที่ผลิตออกมาในช่วงแรกเรียกว่า น้ำนมส่วนหน้า (Foremilk) จะมีไขมันต่ำและน้ำตาลสูง จากนั้นน้ำนมจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นน้ำนมที่มีไขมันและแคลอรี่สูงขึ้น เรียกว่า น้ำนมส่วนหลัง (Hindmilk) แต่หากทารกได้รับน้ำนมส่วนหน้ามากเกินไปอาจทำให้ปริมาณน้ำตาลไม่สมดุลกับปริมาณไขมันที่ควรได้รับจนเกิดการย่อยอาหารอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อุจจาระของทารกเป็นสีเขียว มีลักษณะเหลว และเป็นฟอง 

ส่วนใหญ่แล้ว อุจจาระเป็นสีเขียวจากสาเหตุนี้มักไม่เป็นอันตรายตราบใดที่ทารกยังมีสุขภาพดีและมีน้ำหนักสมวัยตามเกณฑ์ อย่างไรก็ตาม การให้ทารกดูดนมจนเกลี้ยงเต้าจะช่วยให้ทารกได้น้ำนมส่วนหน้าและส่วนหลังในสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งจะสามารถช่วยให้อาการดังกล่าวหายไปได้

 

  • ทารกไม่สบาย

 

ในกรณีที่ทารกมีอาการท้องเสียหรือเกิดการติดเชื้อไวรัส อาจส่งผลให้อุจจาระของทารกมีสีเขียว ถ่ายบ่อย มีก้นแดง อาจมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ ข้นเหนียว และอาจมีเมือกติดอยู่

 

  • การแพ้อาหาร

 

อาการแพ้อาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารอาหารที่ได้รับ ซึ่งอาจส่งผลให้อุจจาระของทารกเป็นสีเขียว มีมูกปน หรืออาจมีความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ท้องไส้ปั่นป่วน หายใจลำบากหรือผื่นลมพิษบริเวณผิวหนัง เป็นต้น โดยสาเหตุของการแพ้อาหารอาจมากจากการรับประทานนมผง เริ่มรับประทานอาหารชนิดใหม่ รวมไปถึงอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาที่คุณแม่ใช้ ก็อาจส่งผลให้ทารกเกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน 

 

  • ได้รับนมอย่างไม่เพียงพอ

 

หากทารกได้รับนมไม่เพียงพออาจส่งผลให้ทารกขับถ่ายน้อยกว่าปกติ อุจจาระมีสีเขียว น้ำหนักน้อย แสดงอาการหงุดหงิดและง่วงซึม หากสงสัยว่าทารกมีความผิดปกติในการรับประทานอาการ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ทันที

 

  • สาเหตุอื่น ๆ 

 

นอกเหนือจากสาเหตุในข้างต้น อุจจาระสีเขียวของทารกอาจเกิดได้จากการได้รับวัคซีน การได้รับธาตุเหล็กเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลให้อุจจาระของทารกเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้มจนเกือบดำ แต่อาการดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวเด็ก เพราะเมื่อหยุดรับประทานธาตุเหล็ก สีของอุจจาระจะกลับมาเป็นปกติ หรือในกรณีที่ทารกจำเป็นจะต้องเข้ารับการรักษาอาการดีซ่านด้วยการฉายแสงไฟ (Phototherapy) ก็อาจส่งผลให้อุจจาระของทารกเป็นสีเขียวได้เช่นกัน

อาการเกี่ยวข้องที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม

แม้ว่าการขับถ่ายอุจจาระออกมาเป็นสีเขียวของทารกมักเป็นเรื่องปกติ แต่คุณแม่ควรหมั่นสังเกตการขับถ่ายของลูกอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะหากพบอาการผิดปกติหรืออุจจาระของลูกเข้าข่ายต่อไปนี้

  • ทารกมีอาการท้องร่วง โดยคุณแม่อาจสังเกตอาการได้จากลูกจะถ่ายอุจจาระเหลวในปริมาณมากจนไหลหรือล้นออกจากผ้าอ้อม สีของอุจจาระอาจเป็นสีเหลือง เขียว หรือน้ำตาล ในระหว่างนี้ควรให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำ หากมีอาการท้องร่วงนานกว่า 3 วัน ถ่ายเป็นน้ำปริมาณมากบ่อยครั้งหรือมีสัญญาณของอาการขาดน้ำ ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะถ้าปล่อยไว้อาจทำให้เกิดอาการขาดน้ำและได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
  • ถ่ายอุจจาระสีเขียวติดต่อกัน ร่วมกับมีอาการรุนแรงอื่น ๆ เช่น ท้องไส้ปั่นป่วน ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน มีไข้ หรือคลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น 
  • ท้องผูกจนทำให้ถ่ายอุจจาระได้ยาก ลักษณะอุจจาระเป็นก้อนแข็ง เป็นก้อนเล็ก ๆ บางครั้งอาจมีเลือดปนออกมา 
  • มีเมือกปนออกมากับอุจจาระของทารกอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อได้เช่นกัน 

หากลักษณะอุจจาระของลูกมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คุณพ่อคุณแม่ควรจดบันทึกการทำงานของระบบลำไส้ การเปลี่ยนแปลงของสี ปริมาณ และลักษณะของอุจจาระ อย่างความข้น เหนียว หรือเหลว เพื่อช่วยให้สังเกตถึงสุขภาพและสารอาหารที่ทารกได้รับ