อีคิว จุดเริ่มต้นของการเติบโตอย่างมีคุณภาพ

อีคิว (Emotional Intelligence: EQ/EI) คือ ความสามารถในการรู้เท่าทันและจัดการอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าความฉลาดทางอารมณ์ โดยทั่วไปแล้ว อีคิวประกอบด้วยทักษะ 3 อย่าง ได้แก่ ตระหนักรู้อารมณ์ ควบคุมอารมณ์สำหรับจัดการและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งจัดการอารมณ์ตนเองและผู้อื่นให้เป็นไปในทางที่ดี ผู้ที่มีอีคิวสูงจะคาดการณ์สถานการณ์ต่าง ๆ และช่วยให้บรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้ได้ เนื่องจากทักษะดังกล่าวหล่อหลอมให้รู้จักสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนรอบข้าง ตัดสินใจอย่างรอบคอบ รวมทั้งรับมือกับสถานการณ์ได้ทุกรูปแบบ

อีคิว

นอกจากนี้ งานวิจัยบางชิ้นได้ชี้ให้เห็นว่าอีคิวมีส่วนช่วยด้านการงานและการเรียน โดยทำให้เรียนหนังสือได้ดีหรือประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เนื่องจากผู้ที่มีอีคิวสูงจะรู้จักการทำความเข้าใจและอยู่ร่วมกับผู้คนรอบข้างซึ่งมีส่วนช่วยให้บรรลุเป้าหมาย

อีคิวประกอบด้วยทักษะอะไรบ้าง ?

อีคิวหรือความฉลาดทางอารมณ์ประกอบด้วยทักษะ 5 อย่าง ได้แก่ การรู้จักตนเอง การกำกับควบคุมตนเอง แรงจูงใจ การเห็นอกเห็นใจ และทักษะทางสังคม ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • การรู้จักตนเอง (Self-Awareness) ทักษะเบื้องต้นของอีคิวคือการรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง การฝึกทักษะดังกล่าวจำเป็นต้องตระหนักถึงความรู้สึกที่แท้จริง การประเมินอารมณ์ที่เกิดขึ้นจะช่วยให้ควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ โดยทั่วไปแล้ว การรู้จักตนเองประกอบด้วย
    • การรู้เท่าทันอารมณ์ (Emotional Awareness) คือ ความสามารถในการตระหนักรู้อารมณ์ตนเองและสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา การรู้เท่าทันอารมณ์ตนเองจะช่วยให้จัดการอารมณ์ของตนเอง รวมทั้งเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น จึงควรฝึกสังเกตและจับอารมณ์ความรู้สึกของตนเองที่เกิดขึ้นให้เป็นนิสัย
    • ความเชื่อมั่นตนเอง (Self-Confidence) คือ การเห็นคุณค่าและเชื่อมั่นศักยภาพที่มีอยู่ในตัว
  • การกำกับควบคุมตนเอง (Self-Regulation) โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนมักควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้น้อย อย่างไรก็ตาม การระงับอารมณ์หรือความรู้สึกเชิงลบทำได้ด้วยการนับเลข ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายอารมณ์โกรธ วิตกกังวล หรือซึมเศร้าให้หายไป ทั้งนี้ วิธีควบคุมอารมณ์ยังทำได้อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการมองสิ่งที่เกิดขึ้นในแง่บวก ออกไปเดินเล่น นั่งสมาธิ หรือสวดมนต์ เพื่อช่วยระงับอารมณ์ให้เบาบางลง การกำกับควบคุมตนเองคือการตระหนักรู้ถึงเวลา สถานที่ และวิธีแสดงออก หากเข้าใจว่าตนเองรู้สึกอย่างไร และรู้ว่าสามารถจัดการอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างไร จะช่วยให้ควบคุมพฤติกรรมไม่เหมาะสมบางอย่างได้ ทั้งนี้ การกำกับตนเองยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่
    • การควบคุมตนเอง (Self-Control) คือ การจัดการสิ่งที่มากระทบอารมณ์ความรู้สึก ควบคุมภาวะอารมณ์ไม่ให้โกรธหรือรู้สึกฉุนเฉียว
    • ความเป็นที่ไว้วางใจ (Trustworthiness) คือ การประพฤติตนให้ซื่อสัตย์ รวมทั้งดำรงความซื่อสัตย์และยึดมั่นในคุณงามความดี
    • ความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง (Conscientiousness) คือ การรับผิดชอบหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วยตนเอง
    • การรู้จักยืดหยุ่น (Adaptability) คือ การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยยืดหยุ่นและปรับตัวเพื่อช่วยจัดการกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่เปลี่ยนแปลง
    • ความคิดริเริ่ม (Innovative) คือ การคิดหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ โดยเปิดรับความคิดแนวทาง หรือข้อมูลใหม่ ๆ ด้วยความเต็มใจ
  • แรงจูงใจ (Motivation) การสร้างแรงจูงใจสำหรับทำสิ่งต่าง ๆ นั้น จำเป็นต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนและทัศนคติที่ดี ผู้ที่เกิดทัศนคติทั้งแง่บวกและแง่ลบอาจพยายามฝึกและเรียนรู้การคิดแง่บวก ซึ่งจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้ แรงจูงใจประกอบด้วย
    • ความมุ่งมั่นสู่ความสำเร็ คือ การขวนขวายพัฒนาตนเอง เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายอย่างสม่ำเสมอ
    • การยึดในคำมั่น คือ การมีส่วนร่วมในการทำสิ่งต่าง ๆ ร่วมกับกลุ่มคนหรือองค์กรให้เป็นไปตามข้อตกลงร่วมกัน
    • การริเริ่มสิ่งต่าง ๆ คือ การเตรียมพร้อมตนเองสำหรับเริ่มทำสิ่งต่าง ๆ เมื่อมีโอกาส
    • การมองโลกในแง่ดี คือ การพยายามไปให้ถึงเป้าหมายอย่างไม่ลดละ
  • การเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ความเห็นใจและเข้าใจว่าผู้อื่นรู้สึกอย่างไรนั้น เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงาน กล่าวคือ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจะทำให้เข้าใจว่าแต่ละคนรู้สึกอย่างไรในสถานการณ์ต่าง ๆ เหตุใดจึงรู้สึกและแสดงออกเช่นนั้น ผู้ที่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกผู้อื่นจะใส่ใจ สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น รวมทั้งควบคุมและสื่ออารมณ์ความรู้สึกของตนเองไปให้คนคนนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่มีลักษณะดังกล่าวจะมีคุณสมบัติ ดังนี้
    • ใจรักบริการ คือ การคาดการณ์ ตระหนักรู้ และเข้าใจความต้องการผู้ที่ตนเองให้บริการ
    • พัฒนาผู้อื่น คือ การรับรู้ความต้องการของผู้อื่น รวมทั้งสนับสนุนผู้อื่นตามศักยภาพของผู้นั้น
    • การสร้างโอกาสในความหลากหลาย คือ มองเห็นโอกาสที่เป็นไปได้
    • เข้าใจผู้อื่น คือ การทำความเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่น
  • ทักษะทางสังคม (Social Skills) การสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จในการทำสิ่งต่าง ๆ เนื่องจากจะทำให้เข้าใจ เห็นใจ และรู้วิธีประนีประนอมกับผู้อื่น ทักษะทางสังคมที่สำคัญและเป็นประโยชน์สำหรับประยุกต์ใช้ในการทำงานประกอบด้วย
    • ความมีอิทธิพลในการโน้มน้าว คือ การรู้จักใช้กลยุทธ์ชักจูงผู้คนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
    • การสื่อสาร คือ การสื่อสารหรือบอกกล่าวสิ่งที่ต้องการได้อย่างชัดเจน
    • ความเป็นผู้นำ คือ การกระตุ้น ให้กำลังใจ และชี้นำบุคคลหรือกลุ่มคน
    • การพลิกแพลง คือ การริเริ่มและจัดการความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ
    • การจัดการปัญหา คือ การเข้าใจ รู้จักประนีประนอม และแก้ปัญหาความขัดแย้ง
    • การสร้างสัมพันธ์ คือ การเติมเต็มและสร้างสัมพันธภาพที่ดี
    • ความร่วมมือ คือ การทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือจุดยืนที่มีร่วมกัน
    • การสร้างความสามัคคี คือ การทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายของกลุ่ม

เสริมสร้างอีคิวได้อย่างไร ?

การเสริมสร้างอีคิวทำได้ตั้งแต่วัยเด็ก การสอนให้เด็กเข้าใจและรับมือกับสิ่งที่มากระทบอารมณ์ความรู้สึกจะช่วยเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์  โดยเด็กที่มีอีคิวสูงจะรับมือและจัดการอารมณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งเข้าใจผู้คนและสิ่งรอบข้างอันนำไปสู่การสร้างสัมพันธภาพที่ดี วิธีเสริมสร้างอีคิวทำได้ ดังนี้

  • รับฟังเด็ก พ่อแม่ควรรับฟังเมื่อเด็กแสดงอารมณ์ความรู้สึกผ่านการส่งเสียงเรียก เนื่องจากเด็กต้องการแน่ใจว่าพ่อแม่ยังอยู่ใกล้ ๆ และได้ยินเสียงของตัวเองอยู่ เพื่อให้รู้สึกอุ่นใจและปลอดภัย  
  • สอนคำบอกความรู้สึก การสอนให้เด็กรู้จักคำที่เกี่ยวกับอารมณ์จะกระตุ้นให้เด็กสื่อสารความรู้สึกของตนเองออกมาเป็นถ้อยคำได้ เนื่องจากเด็กเล็กหรือทารกมีคลังคำน้อย รวมทั้งเข้าใจสาเหตุและผลลัพธ์ของสิ่งต่าง ๆ ได้ไม่ลึกซึ้งนัก ส่งผลให้อธิบายความรู้สึกของตนเองได้ยาก พ่อแม่อาจถามเมื่อเห็นเด็กเกิดความรู้สึกต่อสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง โดยใช้คำที่สื่อถึงความรู้สึกนั้น เช่น หากเด็กผิดหวังที่ไม่ได้ไปเที่ยว อาจถามว่าตอนนี้รู้สึกเศร้าใช่หรือไม่
  • สอนด้วยเหตุผล พ่อแม่ควรเข้าใจสาเหตุที่ทำให้ลูกแสดงอารมณ์ก้าวร้าวหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่างออกมา เช่น หากเด็กร้องอาละวาดเพราะต่อตัวต่อไม่ได้ ควรถามเด็กว่าที่แสดงพฤติกรรมเช่นนี้เกิดจากต่อตัวต่อไม่ได้ใช่หรือเปล่า การกระทำดังกล่าวจะสะท้อนให้เด็กรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเองที่แสดงออกมา ทำให้เข้าใจว่าควรแสดงออกให้เหมาะสมอย่างไร รวมทั้งกระตุ้นให้เด็กแบ่งปันความรู้สึกร่วมกับพ่อแม่มากขึ้น นอกจากนี้ พ่อแม่ควรยอมรับการแสดงออกที่มาจากความรู้สึกของเด็ก มากกว่าจะตำหนิเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากจะทำให้เด็กรู้สึกว่าพฤติกรรมอันเกิดจากอารมณ์เชิงลบเหล่านั้นเป็นเรื่องน่าละอาย ส่งผลให้เด็กเก็บกดความรู้สึกเหล่านั้น มากกว่าจะเรียนรู้วิธีปรับอารมณ์และแสดงออกมาอย่างเหมาะสม การเก็บกดอารมณ์เชิงลบจะแสดงออกมาในระดับจิตไร้สำนึก เช่น ฝันร้าย หรือพฤติกรรมก้าวร้าว
  • สอนเมื่อเด็กรู้สึกโกรธ พ่อแม่อาจให้เด็กเรียนรู้จากช่วงเวลาที่แสดงอารมณ์เชิงลบเอง เพื่อช่วยให้รู้จักจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นขณะนั้น เช่น หากเด็กร้องไห้อาละวาดกลางห้าง เพราะพ่อแม่ไม่ซื้อของเล่นให้ พ่อแม่อาจถามก่อนว่าเด็กรู้สึกอย่างไร แล้วจึงอธิบายสาเหตุ
  • สอนให้แก้ปัญหา หากเด็กมีปัญหาหรือขัดแย้งกับผู้อื่น พ่อแม่ควรตักเตือนการกระทำของเด็ก รวมทั้งแนะนำวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เช่น หากเด็กโมโหและอาละวาดใส่เด็กคนอื่นที่มาแกล้งโยนของเล่น ควรบอกเด็กไม่ให้แสดงพฤติกรรมดังกล่าว และถามว่าควรทำอย่างไรเมื่อรู้สึกโมโห โดยพ่อแม่อาจเสนอทางเลือกให้ในกรณีที่เด็กไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร ทั้งนี้ ควรดูว่าเด็กกำมือหรือเกิดอาการแข็งเกร็งบริเวณท้องหรือขากรรไกรเมื่อโกรธหรือไม่ หากปรากฏอาการดังกล่าว พ่อแม่ควรให้ลูกสูดหายใจลึก ๆ เพื่อระบายอารมณ์โกรธ และให้เด็กพูดระบายความรู้สึกที่เกิดขึ้นออกมาอย่างหนักแน่น การทำเช่นนี้แสดงให้เด็กเห็นว่าความรู้สึกเชิงลบเป็นเรื่องปกติ ตราบใดที่ตนไม่ได้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวหรือทำร้ายผู้อื่นอันเนื่องมาจากสภาวะอารมณ์ดังกล่าว
  • เป็นแบบอย่างที่ดี เมื่อเด็กประพฤติหรือแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา  ควรตักเตือนด้วยถ้อยคำที่มุ่งตำหนิพฤติกรรมดังกล่าว ไม่ใช่ว่ากล่าวเด็กโดยตรง เช่น พ่อแม่ควรตักเตือนลูกว่าการกระทำนั้น ๆ จะทำให้พ่อแม่โกรธ ไม่ควรพูดว่าเด็กกำลังทำให้พ่อแม่โกรธ เนื่องจากการตำหนิพฤติกรรมของเด็กจะทำให้เด็กเข้าใจได้ว่าปัญหาเกิดจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตนเอง ไม่ควรวิจารณ์เด็กรุนแรงจนเกินไป เนื่องจากจะทำให้เด็กไม่เชื่อมั่นตนเอง อีกทั้งควรตระหนักรู้ถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตนเองด้วย รู้สึกโกรธได้แต่ไม่จำเป็นต้องแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เพื่อให้เด็กเห็นว่าการจัดการอารมณ์หรือความรู้สึกเชิงลบเป็นเรื่องที่ทำได้
  • แบ่งปันความรู้สึกร่วมกัน การแบ่งปันความรู้สึกร่วมกันกับเด็กจะช่วยให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างเมื่อโตขึ้น เช่น หากเด็กรู้สึกกลัวเมื่อต้องเริ่มเข้าเรียนกับเด็กอื่น พ่อแม่อาจเล่าความรู้สึกวิตกกังวลตอนเริ่มทำงานครั้งแรกและสิ่งที่ทำให้หายกังวลหลังจากได้ทำงาน ทั้งนี้ พ่อแม่อาจให้เด็กอ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ หรือฟังเรื่องราวที่คล้ายกับสิ่งที่เด็กพบเจอ และพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกของตัวละครในเรื่องราวนั้น ๆ เพื่อช่วยให้เด็กไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังเผชิญบางอย่างเพียงลำพัง