อาหารแช่แข็ง ไขข้อสงสัยเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย

อาหารแช่แข็งเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะสะดวกและรวดเร็ว บางคนเลือกอาหารแช่แข็งสำเร็จรูปที่หาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป บางคนทำอาหารเองแล้วแช่แข็งไว้สำหรับมื้อต่อ ๆ ไป แต่เชื่อว่าหลายคนทีเดียวที่มีความกังวลหรือไม่แน่ใจว่าการรับประทานอาหารแช่แข็งนั้นปลอดภัยเพียงใด เสี่ยงต่อสุขภาพหรือไม่ และควรเลือกซื้ออาหารแช่แข็งหรือแช่อาหารอย่างไรให้ปลอดภัยและมีคุณภาพสูงสุดกันแน่

อาหารแข่แข็ง

เคล็ดลับการเลือกซื้ออาหารแช่แข็งสำเร็จรูปอย่างมีสุขภาพ

อาหารแช่แข็งแม้จะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีต่อสุขภาพที่สุด แต่หากมองหาความสะดวกรวดเร็วเป็นหลักก็ถือว่าดีในระดับปานกลาง ทั้งยังอาจช่วยในด้านการควบคุมอาหารได้เพราะมักมีสัดส่วนสารอาหารต่าง ๆ ระบุไว้บนฉลาก อย่างไรก็ตาม หลักการเลือกอาหารแช่แข็งสำเร็จรูปอย่างชาญฉลาดก็เป็นอีกสิ่งสำคัญ โดยมีข้อคำนึงดังนี้

เลือกเมนูอาหารแช่แข็งสุขภาพ วิธีง่าย ๆ ในการเลือกอาหารแช่แข็ง ขั้นแรก อาจเริ่มจากการมองหาอาหารที่มีผักเป็นส่วนประกอบในปริมาณมาก ซึ่งมักทำให้อาหารดังกล่าวมีแคลอรี่ต่ำกว่า แต่มีวิตามิน แร่ธาตุ และเส้นใยอาหารสูงกว่าอาหารแช่แข็งที่มีผักน้อย หากเป็นไปได้ควรเลือกข้าวกล้องหรือธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี ส่วนเนื้อสัตว์ก็ให้เลือกที่ไม่ติดมัน เช่น เนื้อไก่หรือเนื้อปลา

ตรวจสอบฉลากโภชนาการ สิ่งสำคัญในการเลือกซื้ออาหารแช่แข็งคือการอ่านฉลากโภชนาการบนผลิตภัณฑ์ เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารนั้น ๆ มีสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยควรเลือกอาหารแช่แข็งที่ให้พลังงานต่ำกว่า 300 แคลอรี่ และประกอบด้วยไขมันไม่เกิน 8 กรัม ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าอาหารแช่แข็งทั่วไปซึ่งมักจะให้พลังงานถึง 360-400 แคลอรี่ และมีไขมันสูงถึง 25 กรัม

ขั้นต่อไปคือการตรวจสอบสารอาหารอื่น ๆ ตามฉลากโภชนาการ เพราะอาหารแช่แข็งบางประเภทอาจเต็มไปด้วยไขมัน โซเดียม และมีแคลอรี่สูงอย่างคาดไม่ถึง แม้จะเป็นอาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ไร้มันหรือมีผักมาก ๆ ก่อนเลือกซื้ออาหารแช่แข็งใด ๆ จึงควรเสียเวลาดูฉลากสักนิดเพื่อความคุ้มค่าในการได้รับประทานอาหารที่ดีที่สุดต่อสุขภาพ

การรับประทานอาหารแช่แข็งยังต้องระมัดระวังปริมาณโซเดียมเป็นพิเศษ เพราะอาจมีโซเดียมอยู่สูงมาก ผู้บริโภคควรเลือกอาหารที่มีโซเดียมน้อยกว่า 800 มิลลิกรัม เทียบเท่ากับ 1 ใน 3  ของปริมาณที่แนะนำต่อวันแล้ว (2,400 มิลลิกรัม) ส่วนผู้ที่กำลังควบคุมหรือจำเป็นต้องจำกัดปริมาณโซเดียมให้อยู่ในระดับต่ำ ควรได้รับโซเดียมจากอาหารเพียง 1 ใน 3 ของปริมาณปกติที่แนะนำต่อวัน แล้วเลือกรับประทานอาหารที่มีโซเดียมโดยรวมไม่เกินจากนี้ในแต่ละวัน

อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาเกินจริง ถ้อยคำโฆษณาบนผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างอาจจะไม่เป็นจริงเสมอไป ผู้ประกอบการบางรายอาจเลือกใช้คำที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น การติดป้ายว่าออร์แกนิกหรือธรรมชาติ แต่ไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่ามีกระบวนการใดที่ทำให้ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ มีคุณสมบัติดังกล่าวอย่างไร รวมถึงการชักจูงให้ซื้อด้วยการอ้างว่าปราศจากวัตถุกันเสีย ซึ่งแท้จริงแล้วอาหารแช่แข็งส่วนใหญ่ล้วนปราศจากสารกันเสียอยู่แล้ว เพราะใช้ความเย็นในการป้องกันการเน่าเสียของอาหาร หรืออาหารบางชนิดก็อาจแบ่งหน่วยบริโภคเป็นมากกว่า 1 หน่วย หลอกล่อให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่ามีปริมาณสารอาหารบางชนิดหรือแคลอรี่น้อยกว่าอาหารแช่แข็งอื่น ๆ ซึ่งหน่วยที่ต่างกันย่อมเทียบกันไม่ได้

ข้อคำนึงเกี่ยวกับสารอาหาร ข้อสรุปแนวทางการเลือกอาหารแช่แข็งที่เป็นมิตรกับสุขภาพ มีหลักง่าย ๆ คือ มองหาอาหารแช่แข็งที่ให้พลังงานในระหว่าง 250-300 แคลอรี่ เลือกที่มีไขมันอิ่มตัวไม่เกิน 4 กรัม โซเดียมต่ำกว่า 800 มิลลิกรัม และมีเส้นใยอาหารอย่างน้อย 3-5 กรัม

เพิ่มอาหารสดเพิ่มคุณค่าสารอาหารต่อสุขภาพ คุณภาพของอาหารแช่แข็งกับอาหารที่ปรุงสดใหม่ย่อมให้ความรู้สึกแตกต่างและไม่อาจทดแทนกันได้ เพื่อสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นอาจเพิ่มสลัดผักหรือผลไม้ต่าง ๆ ในมื้ออาหาร เพราะไม่เพียงแต่ผักผลไม้จะช่วยเสริมวิตามิน แร่ธาตุ และเส้นใยอาหาร แต่ยังช่วยให้รู้สึกอิ่มยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออาหารมื้อนั้นมีแคลอรี่ต่ำ เพราะแม้จะควบคุมสัดส่วนอาหารในอาหารแช่แข็งได้ แต่หากรับประทานแล้วยังคงรู้สึกหิวอยู่ก็คงไม่ส่งผลดีนัก

เคล็ดลับการแช่แข็งอาหารอย่างปลอดภัยและมีคุณภาพ

สำหรับผู้ที่ต้องการทำอาหารล่วงหน้าสำหรับมื้อต่อไปหรือเก็บไว้นาน ๆ การแช่แข็งอาหารในตู้เย็นเป็นวิธีการเก็บรักษาอาหารที่ค่อนข้างมีความปลอดภัยสูง แต่หากใช้วิธีการแช่แข็งที่ไม่เหมาะสมก็อาจนำมาซึ่งรสชาติและรสสัมผัสอันไม่พึงประสงค์เมื่อรับประทาน การแช่แข็งอาหารจะต้องคำนึงถึงหลักต่าง ๆ ดังนี้

  • ป้องกันความเสียหายของอาหารด้วยสุญญากาศ
  • ป้องกันการสูญเสียความชื้น
  • ป้องกันการเกิดอาหารเป็นพิษในระหว่างที่เพิ่งทำเสร็จและอาหารเริ่มเย็นลง
  • ป้องกันการติดกลิ่นจากอาหารชนิดอื่น ๆ
  • จัดการพื้นที่ในตู้แช่แข็งได้อย่างเหมาะสมและชาญฉลาด

การจะเก็บรักษาอาหารได้ตามหลักข้างต้นต้องบรรจุอาหารในหีบห่อภาชนะและเก็บรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งมีข้อแนะนำดังต่อไปนี้

  • ไล่อากาศในภาชนะที่ใช้สำหรับใส่อาหารแช่แข็งออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และควรใช้ภาชนะที่พอดีกับปริมาณอาหาร หรือในกรณีที่ใช้ถุงแช่แข็ง พยายามบีบลมออกให้หมดก่อนจะปิดปากถุงให้สนิท
  • อาหารประเภทเนื้อสัตว์หรืออาหารที่ผ่านการอบควรห่อให้แน่นหนาด้วยแผ่นฟอยล์ห่ออาหาร ก่อนจะใส่ไว้ในถุงแช่แข็งอีกที ส่วนการแช่เนื้อสัตว์ตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปที่ใช้โฟมห่อด้วยพลาสติกนั้นไม่อาจช่วยกักเก็บความเย็นจากตู้แช่ได้ดีพอ โดยเนื้อที่แช่ตามวิธีการนี้ควรนำมาทำอาหารภายในประมาณ 1 เดือน เพราะอาจเก็บไว้ได้ไม่นานกว่านั้น ทั้งนี้ เนื้อสัตว์ไม่จำเป็นต้องล้างก่อนแช่ หากสังเกตเห็นว่าภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แช่มีรอยฉีกขาดหรือรั่วขณะที่แช่ไว้ในตู้แช่แข็ง อาหารชนิดนั้นก็ยังปลอดภัยและสามารถนำมาใช้ได้อยู่ เพียงแค่นำออกมาห่อปิดรอยรั่วอีกชั้นหรือเปลี่ยนภาชนะเสียก่อน
  • อาหารต่าง ๆ ที่ต้องการเก็บไว้ล่วงหน้าควรแช่แข็งอย่างเร็วที่สุดเพื่อป้องกันการเติบโตของเชื้อแบคทีเรียซึ่งจะส่งผลให้อาหารเน่าเสีย นอกจากนี้ การแช่แข็งอย่างรวดเร็วยังช่วยป้องกันการจับตัวเป็นก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ เพราะจะทำให้โมเลกุลไม่มีเวลามากพอในการสร้างเกล็ดน้ำแข็ง ในขณะที่การแช่แข็งอย่างช้า ๆ นั้นทำให้เกิดก้อนน้ำแข็งจับตัวขนาดใหญ่ ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อเซลล์และไม่เป็นเนื้อเดียวกันเมื่อละลายออกมา ส่งผลให้เนื้อมีหยดของเหลวออกมาและสูญเสียความชุ่มฉ่ำของเนื้อ หรือหากเป็นอาหารจำพวกมายองเนสหรือครีมก็อาจเกิดการแยกตัวกลายเป็นไข
  • อาหารที่มีความหนาประมาณ 2 นิ้วควรถูกแช่แข็งอย่างสมบูรณ์ภายใน 2 ชั่วโมง หากตู้แช่แข็งมีช่องแช่แข็งอย่างเร็วก็ควรแช่อาหารในช่องนี้ก่อน และอย่าแช่ซ้อนในช่องเดียวกันทีละมาก ๆ ควรแบ่งแช่ช่องอื่นเพียงชั้นเดียวจนแข็งดีก่อน จึงจะเหมาะสมที่จะนำภาชนะมาซ้อนกันได้ และไม่ควรใช้ภาชนะสำหรับแช่แข็งที่มีขนาดใหญ่เกินไป การบรรจุที่พอดีควรดูให้อาหารมีความหนาไม่เกินกว่า 3 นิ้วในภาชนะบรรจุอาหาร
  • เมื่ออาหารปรุงสุกเรียบร้อยควรทำให้เย็นลงทันที โดยวางกระทะที่มีอาหารลงบนภาชนะขนาดใหญ่ที่มีน้ำแข็งหรือน้ำใส่น้ำแข็ง คอยขยับกระทะหรือคนบ่อย ๆ เพื่อให้ความเย็นกระจายไปสู่อาหารอย่างทั่วถึง ก่อนจะรีบนำไปแช่เย็น
  • เขียนป้ายติดฉลากบอกวันที่ไว้บนถุงหรือภาชนะแช่แข็งเสมอ
  • เก็บอาหารที่ต้องการแช่แข็งไว้ในบริเวณส่วนที่เย็นที่สุดของตู้แช่จนกว่าอาหารจะถูกแช่แข็งอย่างเต็มที่
  • กรณีใช้ตู้เย็นแล้วมีช่องแช่ที่อุณหภูมิไม่ถึง 0 องศาเซลเซียสหรือมีการเปิดตู้บ่อยครั้ง ควรใช้แช่เฉพาะอาหารที่จะนำมาใช้หรือรับประทานในไม่ช้า โดยควรรับประทานให้เร็วที่สุดเพื่อให้คุณภาพของอาหารยังอยู่ในระดับดี ส่วนอาหารที่ต้องการเก็บไว้นานนั้นต้องแช่ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสลงไป และควรมีเทอร์โมมิเตอร์สำหรับวัดอุณหภูมิในช่องแช่แข็ง โดยเฉพาะกรณีที่ประสบปัญหาไฟฟ้าดับหรือไฟฟ้าถูกตัดบ่อยครั้ง
  • การละลายอาหารแช่แข็งด้วยการวางไว้ที่อุณหภูมิห้องใช้ได้เฉพาะกับอาหารประเภทขนมปังและขนมที่ผ่านการอบ เช่น คุกกี้ เค้ก แต่วิธีละลายอาหารแช่แข็งชนิดอื่น ๆ อย่างปลอดภัยควรทำในตู้เย็น ละลายในน้ำเย็น หรือละลายโดยใช้โหมดทำละลายของไมโครเวฟ อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ปลอดภัยที่สุดก็คือการละลายในตู้เย็น ควรวางแผนล่วงหน้า อาหารชิ้นเล็กอาจใช้เวลาละลายในตู้เย็นเพียง 1 คืน แต่อาหารส่วนใหญ่มักต้องรอ 1-2 วัน ส่วนอาหารชิ้นใหญ่ เช่น ไก่หรือเป็ดทั้งตัว อาจใช้เวลานานกว่านั้น อาหารทุก ๆ 2 กิโลกรัมกว่าจะใช้เวลาละลายประมาณ 1 วัน และอย่าละลายอาหารแช่แข็งในที่ที่เสี่ยงต่ออันตรายจากการได้รับเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น ในอ่างล้างจาน บริเวณนอกตัวบ้าน หรือบนแผงขายเนื้อสัตว์
  • พยายามรับประทานอาหารที่แช่แข็งไว้ให้หมดภายใน 2-3 เดือน
  • หากแช่แข็งอาหารที่มีส่วนประกอบของนม เมื่อละลาย นมอาจเกิดการแยกตัวได้ ส่วนชีสนั้นจะยังคงรสชาติและลักษณะเดิมเมื่อละลาย แต่ชีสที่เป็นส่วนผสมในอาหารอื่น ๆ ที่แช่แข็งบางชนิดอาจมีเนื้อร่วนหลังจากละลายแล้ว โดยเฉพาะบลูชีส รวมถึงครีมชีสและคอตเทจชีสที่อาจมีรสชาติและรสสัมผัสแย่ที่สุดหลังจากผ่านการแช่แข็งเมื่อเทียบกับชีสชนิดอื่น ๆ
  • หากต้องการให้อาหารละลายเร็วขึ้นควรใช้พลาสติกที่ไม่มีรอยรั่วหุ้มอาหารไว้แล้วนำไปละลายในน้ำเย็น แต่ต้องระวังไม่ให้ถุงรั่วเพราะจะทำให้เชื้อแบคทีเรียจากอากาศและสภาพแวดล้อมภายนอกเข้าสู่อาหารได้ และคอยเปลี่ยนน้ำให้เย็นอยู่ตลอดเวลาหรือทุก 30 นาที จากนั้นให้นำอาหารที่ละลายแล้วไปปรุงให้สุกทันที

อาหารแช่แข็งเก็บรักษาได้นานแค่ไหน

อาหารแช่แข็งสำเร็จรูปแต่ละชนิดมีระยะเวลาในการเก็บรักษาที่แตกต่างกัน ก่อนซื้อหรือรับประทานควรตรวจดูวันหมดอายุเสมอ ส่วนอาหารแช่แข็งทั่วไปจะมีช่วงระยะเวลาที่คงคุณภาพสูงสุด ดังนี้

  • เบคอน แฮม และไส้กรอก เก็บได้ 1-2 เดือน
  • ซุปและอาหารที่ผ่านการเคี่ยว เก็บได้ 2-3 เดือน
  • อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง เก็บได้ 3-4 เดือน
  • เนื้อสดชิ้นใหญ่ เก็บได้ 4-12 เดือน
  • เนื้อสดบด เก็บได้ 3-4 เดือน
  • เนื้อหมูหรือเนื้อวัวที่สุกแล้ว เก็บได้ 2-3 เดือน
  • เนื้อเป็ดไก่สดทั้งตัว เก็บได้ 12 เดือน
  • เนื้อเป็ดไก่สดหั่นเป็นชิ้น เก็บได้ 9 เดือน
  • เครื่องในเป็ดไก่สด เก็บได้ 3-4 เดือน
  • เนื้อเป็ดไก่ที่สุกแล้ว เก็บได้ 4 เดือน
  • ไข่ขาว เก็บได้ 12 เดือน
  • เนื้อสัตว์ป่าสด เก็บได้ 8-12 เดือน

สำหรับอาหารชนิดอื่นที่ไม่ได้กล่าวถึง มีวิธีการตรวจสอบคุณภาพด้วยการทำให้ละลาย หากดมแล้วพบว่าเริ่มส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ควรทิ้งทันที ทั้งนี้วัตถุดิบบางชนิดที่ดูมีลักษณะไม่ดีเหมือนเคย แต่น่าจะยังมีคุณภาพในระดับที่รับประทานได้ สามารถลองนำมาใช้ประกอบในซุปหรืออาหารที่มีการเคี่ยว และหากมีบางส่วนของอาหารถูกอากาศจนเกิดรอยช้ำหรือคุณภาพเสียหายจนมีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลอมเทาบนผิวหนังให้ตัดบริเวณดังกล่าวออก ส่วนอาหารสดแช่แข็งที่นำมาทำให้สุกแล้วรู้สึกว่ารสชาติยังใช้ได้อยู่ก็สามารถรับประทานได้เช่นกัน

ความปลอดภัยของอาหารแช่แข็ง

อาหารแช่แข็งที่ถูกเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียสอย่างต่อเนื่องนั้นปลอดภัยจากเชื้อโรคเสมอ เนื่องจากการแช่แข็งจะช่วยชะลอการเคลื่อนไหวของโมเลกุล ทำให้จุลินทรีย์ภายในอาหารหยุดเจริญเติบโตชั่วคราว โดยจุลินทรีย์เหล่านี้เองที่เป็นสาเหตุของการเน่าเสียและโรคจากอาหารเป็นพิษ แต่คุณภาพอาหารที่แช่แข็งก็อาจแตกต่างไปความเหมาะของกระบวนการแช่แข็งดังข้างต้น

นอกจากนี้ เอนไซม์ในอาหารก็ยังทำให้คุณภาพของอาหารเสื่อมลงได้เช่นกัน โดยเอนไซม์เหล่านี้พบได้ในเนื้อสัตว์ รวมถึงผักและผลไม้ที่เกิดปฏิกิริยาเคมีในช่วงก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว เช่นในขณะที่ผักผลไม้กำลังสุก แต่การแช่แข็งจะช่วยชะลอการทำงานของเอนไซม์ที่เกิดขึ้นในอาหารได้เท่านั้น ไม่ได้ช่วยยับยั้งเอนไซม์เหมือนกับที่ยับยั้งแบคทีเรียได้ อย่างไรก็ตาม การทำงานของเอนไซม์ไม่ได้ทำให้อาหารแช่แข็งจำพวกเนื้อสัตว์หรือเนื้อปลาเสียหาย ส่วนผลไม้ต่าง ๆ นั้นก็มีกรดที่จะทำให้เกิดความเป็นกลางขณะแช่แข็ง ทว่าผักส่วนใหญ่นั้นมักมีกรดต่ำและจำเป็นต้องทำให้สุกบางส่วนเสียก่อนที่จะนำไปแช่แข็งเพื่อป้องกันการเน่าเสีย โดยอาจลวกผักในน้ำร้อนหรือนำเข้าไมโครเวฟแล้วแช่ในน้ำเย็นทันที ก่อนจะนำเข้าช่องแช่แข็งต่อไป

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอาหารแช่แข็ง

  • กระบวนการแช่แข็งไม่ส่งผลต่อสารอาหาร สารอาหารในอาหารต่าง ๆ จะยังคงอยู่แม้ผ่านกระบวนการแช่แข็ง แต่การแช่แข็งเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อเป็ดและไก่ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคุณค่าสารอาหารที่มีเล็กน้อย
  • การแช่แข็งไม่ได้ช่วยกำจัดจุลินทรีย์ การแช่แข็งอาหารที่ 0 องศาเซลเซียสจะช่วยยับยั้งการทำงานของจุลินทรีย์ในอาหาร แต่ไม่ได้ทำให้ตาย เมื่ออาหารละลาย จุลินทรีย์เหล่านี้อาจกลับมาเคลื่อนไหวและเพิ่มจำนวนมากขึ้นได้ในบางสภาวะ
  • ผักและผลไม้เมื่อถูกแช่งแข็งจะขนาดขยายใหญ่ขึ้น เนื่องจากมีองค์ประกอบเป็นน้ำสูง น้ำที่จับตัวเป็นน้ำแข็งภายในเนื้อผักและผลไม้จึงทำให้ผนังเซลล์แตกออก บางครั้งเราจึงรู้สึกว่าผลไม้แช่แข็งที่ละลายมีเนื้อเละกว่าเดิม
  • หากไฟดับไม่ควรเปิดประตูตู้แช่แข็งไว้ ตู้แช่แข็งที่มีอาหารอยู่เต็มนั้นสามารถเก็บรักษาความเย็นของอาหารต่อไปได้อีก 1-2 วันหากไม่มีการเปิดตู้ ส่วนตู้แช่ที่มีอาหารเพียงครึ่งเดียวจะอยู่ได้ประมาณ 1 วัน หากตู้เย็นไม่เต็มควรวางอาหารต่าง ๆ รวมไว้ด้วยกันเป็นกลุ่มจะช่วยรักษาความเย็นได้ดีกว่า แต่ควรแยกเนื้อหมูและสัตว์ปีกออกจากอาหารชนิดอื่น ๆ เพื่อป้องกันน้ำจากเนื้อเหล่านี้ไหลซึมไปถูกเมื่อเกิดการละลาย เพื่อรักษาความเย็นในระหว่างที่ไฟดับอาจใช้น้ำแข็งแห้งหรือถุงน้ำแข็งใส่ในตู้แช่แข็ง หรือขนย้ายไปยังตู้แช่อื่น ๆ และเมื่อตู้เย็นทำงานปกติแล้วก็ควรตรวจสอบอาหารในตู้ หากยังมีบางส่วนที่เป็นน้ำแข็ง มีก้อนน้ำแข็งเกาะ หรือยังเย็นเหมือนกับอยู่ในตู้เย็นเวลาปกติ สามารถแช่แข็งอีกครั้งหรือนำมาใช้ทำอาหาร แต่อาหารที่อุณหภูมิลดลงต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียสนานกว่า 2 ชั่วโมง หรือปนเปื้อนน้ำจากเนื้อสดชนิดต่าง ๆ ไม่ควรนำมาใช้แล้ว
  • อาหารเกือบทุกชนิดแช่แข็งได้ อาหารทุกประเภทล้วนแต่นำมาแช่แข็งเพื่อรักษาคุณภาพได้ เว้นก็แต่อาหารกระป๋อง หรือไข่ที่ยังไม่กระเทาะเปลือก กรณีที่นำไข่ไปแช่แข็งโดยไม่ได้ตั้งใจจนเปลือกไข่แตกออกระหว่างแช่ ควรทิ้งไข่ไปทันที ส่วนไข่ที่แช่แข็งไปแล้วควรคงไว้ให้แข็งอย่างนั้นจนกว่าจะใช้ ก่อนใช้ให้ละลายในตู้เย็น ทั้งนี้ การแช่แข็งจะทำให้ไข่แดงข้นและเหนียวขึ้น ซึ่งอาจยากต่อการนำไปทำอาหารหรือตีผสมกันกับไข่ขาวหรือส่วนประกอบชนิดอื่น ๆ ส่วนอาหารกระป๋องที่นำออกมาจากกระป๋องแล้วสามารถแช่แข็งได้ปกติ อย่างไรก็ตาม อาหารบางชนิดแม้จะแช่แข็งได้ ทว่ารสชาติหลังจากผ่านการแช่แข็งอาจไม่เป็นที่น่าพอใจนัก เช่น ผักกาดหอม มายองเนส ครีมซอส ส่วนเนื้อหมูหรือเนื้อไก่สดจะคงอยู่ได้ด้วยการแช่แข็งนานกว่าเนื้อที่ผ่านการทำให้สุก เพราะกระบวนการทำอาหารส่งผลให้สูญเสียความชื้นไป
  • คุณภาพและความสดของอาหารก่อนแช่ส่งผลต่อคุณภาพอาหารแช่แข็ง อาหารที่ถูกแช่แข็งขณะกำลังมีคุณภาพสูงสุดย่อมมีรสชาติดีกว่าหลังจากถูกละลายแล้ว เมื่อใดก็ตามที่มีอาหารซึ่งไม่ใช้ทันที ควรแช่แข็งให้เร็วที่สุดโดยใช้อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่านั้น เพื่อคงวิตามินแร่ธาตุต่าง ๆ ไว้ รวมถึงรสชาติ รสสัมผัส และสีของอาหาร
  • สีของอาหารแช่แข็งเปลี่ยนแปลงไป เนื้อสัตว์อย่างหมูหรือวัวมักเปลี่ยนจากสีแดงกลายเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลอ่อนขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้อนั้น ๆ ที่เป็นเช่นนี้อาจมีสาเหตุมาจากการขาดออกซิเจน ทำให้อาหารเสียหายจากการสัมผัสอากาศขณะแช่แข็ง หรือถูกแช่ไว้เป็นเวลานานเกินไป ส่วนเนื้อสัตว์ปีกมักจะไม่เกิดการเปลี่ยนสี แต่เนื้อสัตว์ปีกบริเวณที่ติดกระดูกอาจมีสีคล้ำ เนื่องจากเม็ดสีตามธรรมชาติซึมออกมานอกกระดูก ส่งผลให้เนื้อบริเวณรอบ ๆ คล้ำลงได้ ไม่ว่าจะในขณะที่แช่แข็งหรือนำออกมาละลายก็ตาม ส่วนสีของผักและอาหารสุกที่หมองคล้ำลงหลังจากแช่แข็งมักมาจากความแห้งเกินไป เพราะบรรจุในภาชนะที่ไม่เหมาะสมหรือแช่ไว้นานจนเกินไป
  • อาหารแช่แข็งที่ละลายแล้วสามารถนำกลับไปแช่แข็งอีกครั้ง แม้ไม่ผ่านการทำให้สุกก็สามารถนำอาหารที่ละลายแล้วกลับไปแช่อีกครั้งได้ แต่อาจจะมีคุณภาพลดลงไปบ้างจากการสูญเสียความชุ่มชื้นระหว่างละลาย ส่วนอาหารแช่แข็งที่ทำให้สุกแล้วก็นำกลับไปแช่อีกครั้งเช่นกัน แต่ไม่ควรนำอาหารที่อยู่นอกตู้เย็นนานกว่า 1 ชั่วโมงกลับไปแช่แข็งอีก ทั้งนี้ อาหารที่ซื้อมาจากร้านค้าจำพวกเนื้อสัตว์ ไก่ และปลา หากมีการจัดการระหว่างทางอย่างเหมาะสม ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคก็สามารถนำกลับไปแช่แข็งอีกครั้งได้
  • การละลายอาหารแช่แข็ง
    • ผักหลาย ๆ ชนิดที่ถูกแช่แข็งนั้นอาจนำมาทำอาหารได้ทันทีที่ออกจากตู้แช่ ยกเว้นก็แต่ข้าวโพดฝักที่ควรหั่นเป็นส่วน ๆ แล้วทำให้ละลายเสียก่อน
    • อาหารประเภทเนื้อสัตว์สดหรือเนื้อสุกแช่แข็ง นำมาทำอาหารได้ทันที แต่อาจต้องใช้เวลาในการทำอาหารมื้อนั้นนานสักหน่อย เนื่องจากต้องรอละลาย
    • การใช้ไมโครเวฟละลายอาหารแช่แข็งบางชนิดอาจทำให้อาหารบางส่วนร้อนและเริ่มสุกได้ จึงควรนำมาประกอบอาหารทันทีหลังออกจากไมโครเวฟ
    • การทำอาหารจากเป็ดหรือไก่ที่ถูกแช่แข็งทั้งตัว ให้รีบแยกเครื่องในออกมาทันทีที่ทำได้ และแยกกันทำให้สุก ไม่ควรรวมในภาชนะเดียวกัน