ไข่ รับประทานอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ

ไข่ เป็นอาหารที่อุดมคุณค่าทางโปรตีนสูง โดยในไข่ 1 ฟองใหญ่ ๆ ประกอบด้วยโปรตีนที่มีคุณค่าสูงถึง 7 กรัม ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10 ของปริมาณโปรตีนที่แนะนำต่อวัน ไขมัน 5 กรัม และไขมันอิ่มตัว 1.6 กรัม ในขณะที่ให้พลังงานแคลอรี่เพียงประมาณ 75 แคลอรี่ หรือราว ๆ ร้อยละ 4 ของปริมาณแคลอรี่ที่ควรได้รับในแต่ละวัน (2000 แคลอรี่) และยังมีสารอาหารมากคุณค่าอีกหลากหลายชนิด เช่น ธาตุเหล็ก วิตามินบี โอเมก้า 3 แร่ธาตุต่าง ๆ หรือกระทั่งกรดโฟเลตซึ่งเป็นสารสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับ

ไข่

นอกจากนี้ คุณประโยชน์ของไข่ยังเทียบได้พอ ๆ กับนมเลยทีเดียว โดยกล่าวกันว่าไข่ยังมีคุณค่าทางสารอาหารสำคัญสำหรับช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ เช่น สารลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ซึ่งเป็นสารที่คาดว่าอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคจอประสาทตาเสื่อม โรคที่สามารถนำไปสู่การตาบอดในผู้สูงอายุได้ รวมถึงสารโคลีน (Choline) ที่อาจมีประโยชน์ในการเพิ่มพัฒนาการสมองและความทรงจำด้วย

ข้อดีอีกประการหนึ่งของการรับประทานไข่ก็คือความอิ่มท้อง ไข่ 1 ฟอง ขนมปังธัญพืช 1 แผ่น และส้มผลเล็ก ๆ สัก 1 ผล นับเป็นอาหารเช้าแคลอรี่ต่ำที่อาจช่วยให้รู้สึกอิ่มได้จนถึงมื้อกลางวัน ซึ่งถือเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักซึ่งควรรับประทานอาหารอันอุดมด้วยคุณค่าทางสารอาหารและทำให้อิ่มท้องได้จนถึงมื้อถัดไป ไม่ต้องรับประทานจุบจิบเพราะรู้สึกหิวระหว่างมื้อ

กินไข่ทุกวัน อันตรายจริงหรือไม่

แม้ไข่จะประกอบด้วยสารอาหารทรงคุณค่าเพียงใด แต่ข้อหนึ่งที่ทำให้หลายคนไม่อาจรับประทานไข่ได้อย่างสบายใจก็เพราะไข่มีปริมาณคอเลสเตอรอลค่อนข้างสูง โดยไข่ฟองใหญ่ ๆ อาจประกอบด้วยคอเลสเตอรอลสูงถึง 213 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่ากับ 2 ใน 3 ของขีดจำกัดปริมาณคอเลสเตอรอลที่แนะนำให้รับประทานในแต่ละวัน

ด้วยความกลัวที่ว่าคอเลสเตอรอลที่สูงจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย หลายคนเลือกรับประทานเฉพาะไข่ขาวที่ไม่มีคอเลสเตอรอล ทว่าไข่แดงนั้นคือส่วนที่อุดมด้วยคุณค่าทางอาหารสูง การไม่รับประทานไข่แดงจึงเท่ากับพลาดสารอาหารดี ๆ อันมีประโยชน์ไป รวมถึงช่วงหลังที่มีการแนะนำว่ากินไข่ทุกวันเป็นประโยชน์มากกว่าโทษ ทำให้เริ่มเกิดความสับสนว่าควรรับประทานมากน้อยแค่ไหนจึงจะปลอดภัย และไข่มีประโยชน์หรือโทษต่อร่างกายกันแน่

ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน มีการศึกษาพบว่าชายที่บริโภคไข่ไก่มากกว่าสัปดาห์ละ 6 ฟอง มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าผู้ที่รับประทานไข่น้อยกว่า โดยงานวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาระยะยาวในชายจำนวน 21,300 คน ที่มีอายุเฉลี่ย 54 ปี เป็นเวลานานกว่า 20 ปี ซึ่งในทุก ๆ ปีจะให้ผู้เข้าร่วมการทดลองจดบันทึกการบริโภคไข่ การทำกิจกรรมออกกำลังกายต่าง ๆ พฤติกรรมสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ การบริโภคผักผลไม้และธัญพืชในตอนเช้า รวมถึงการป่วยเป็นโรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิต และการใช้ยาแอสไพรินในแต่ละราย

ทั้งนี้จะไม่มีการให้ผู้เข้าร่วมเปลี่ยนแปลงการรับประทานแต่อย่างใด ซึ่งผู้เข้าร่วมทดลองส่วนใหญ่รายงานว่าได้รับประทานไข่สัปดาห์ละ 1 ฟอง ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีน้ำหนักมากเกิน หรือผู้ที่ออกกำลังกายน้อย สูบบุหรี่ มีคอเลสเตอรอลสูง และมีประวัติป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงมาก่อนนั้น มีแนวโน้มการรับประทานไข่ในปริมาณที่มากกว่า

จากการสรุปผลการติดตามเป็นเวลาอันยาวนาน มีผู้เสียชีวิตหลังช่วงเวลาดังกล่าวจำนวน 5,169 คน และแม้จะใช้ค่าสถิติปรับวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ แล้ว ชายที่บริโภคไข่วันละ 6 ฟองขึ้นไปก็ยังมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าถึง 23 เปอร์เซ็นต์ โดยอัตราเสี่ยงจะยิ่งสูงมากขึ้นในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

อย่างไรก็ดี แม้จะพบอัตราการเสียชีวิตที่มากกว่า แต่การบริโภคไข่ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือโรคหลอดเลือดสมอง แม้แต่ในกลุ่มที่รับไข่มากกว่า 6-7 ฟองต่อสัปดาห์ก็ตาม

เช่นเดียวกับงานวิจัยอีกหลาย ๆ งานที่ไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างการรับประทานไข่และการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันหรือโรคหลอดเลือดในสมอง ซึ่งเป็นโรคที่มีสาเหตุหนึ่งมาจากระดับคอเลสเตอรอลสะสมในเลือดที่สูง นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังเห็นแย้งว่างานวิจัยที่ชี้ถึงอัตราการเสียชีวิตในผู้บริโภคไข่มากกว่า 6 ฟองต่อสัปดาห์นั้นไม่ได้พิจารณาอาหารอื่น ๆ ที่ผู้เข้าร่วมทดลองอาจรับประทานเช่นกัน และไม่ได้ระบุสาเหตุการเสียชีวิต จึงไม่อาจรู้ได้แน่ชัดว่าสาเหตุการเสียชีวิตมาจากการรับประทานไข่มากเกินไปหรือมาจากสาเหตุใด

ต่อมานักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดได้มีการศึกษาและติดตามการรับประทานไข่ของนางพยาบาลจำนวน 117,000 คน เป็นเวลา 8-14 ปี ซึ่งผลลัพธ์ไม่พบความแตกต่างของอัตราเสี่ยงต่อโรคหัวใจระหว่างกลุ่มที่รับประทานไข่สัปดาห์ละ 1 ฟอง และกลุ่มที่รับประทานไข่มากกว่าวันละ 1 ฟองแต่อย่างใด

นอกจากนี้ จากการศึกษาเพิ่มเติม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังมีความเห็นว่าการรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงนั้นอาจไม่ได้ส่งผลต่อการสะสมของคอเลสเตอรอลในเลือดหรือมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากอย่างที่เคยเชื่อกันมา หากแต่เป็นน้ำตาลและไขมันชนิดอิ่มตัว เช่น ผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันเต็มส่วน หรือเนื้อติดมันทั้งหลายที่มีไขมันอิ่มตัวจำนวนมากและเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตคอเลสเตอรอลสะสมในร่างกาย รวมถึงการไม่ออกกำลังกายที่น่าจะเป็นตัวการเพิ่มโอกาสเสี่ยงเกิดโรคหัวใจหรือส่งผลต่อระดับคอเลสเตอรอลได้มากกว่า

ดังนั้น หลังจากกระแสการตื่นตระหนกต่ออันตรายจากการบริโภคไข่ ในปี ค.ศ. 2000 สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาก็ได้ทบทวนแนวทางการบริโภคอาหารและประกาศให้ทุกคนรับประทานไข่ได้ตามปกติ โดยผู้ที่มีสุขภาพดีจะสามารถรับประทานได้ทุกวัน วันละ 1 ฟอง ตราบใดที่ยังไม่เกินขีดจำกัดคอเลสเตอรอล 300 มิลลิกรัม ซึ่งไข่ฟองใหญ่ 1 ฟองจะมีคอเลสเตอรอลประมาณ 213 กรัม จึงควรควบคุมคอเลสเตอรอลในอาหารอื่น ๆ ที่รับประทานร่วมด้วย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ เบาหวาน หรือมีระดับไขมันชนิดไม่ดีในเลือดสูงที่ควรเลือกรับประทานไข่ฟองเล็ก ๆ หรือขนาดกลางมากกว่าไข่ฟองใหญ่ที่มีคอเลสเตอรอลสูงกว่า และแนะนำให้จำกัดการรับประทานไข่แดงเพียงสัปดาห์ละ 3 ฟอง ส่วนไข่ขาวรับประทานได้ตามปกติเพราะไม่มีคอเลสเตอรอล

ประโยชน์ของไข่ต่อสุขภาพ

นอกจากอันตรายจากการรับประทานไข่ที่กลายเป็นเพียงความเข้าใจผิดในอดีตไปแล้ว ยังมีการกล่าวถึงคุณประโยชน์ทางสุขภาพของไข่ต่อการรักษาหรือป้องกันโรคต่าง ๆ ทว่าในปัจจุบัน ข้อมูลการศึกษายังมีน้อยอยู่มาก ส่วนใหญ่ยังคลุมเครือและระบุไม่ได้ชัดเจนว่าไข่มีคุณสมบัติในการป้องกันหรือรักษาโรคเหล่านี้เพียงใด

โรคหลอดเลือดสมอง ที่มาของคุณประโยชน์ของไข่ในข้อนี้อาจมาจากการเผยแพร่ผลวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างการรับประทานไข่กับความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดในสมองและโรคหัวใจ โดยพบว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานไข่น้อยกว่า 2 ฟองต่อสัปดาห์ กลุ่มที่รับประทานไข่ประมาณวันละ 1 ฟอง มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองลดลงไป 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน้อยและไม่ได้มีนัยสำคัญทางสถิติ อาจเป็นเพียงค่าความคลาดเคลื่อนของการทดลองเท่านั้น

นอกจากนี้ การศึกษาดังกล่าวก็ไม่อาจยืนยันหรืออธิบายได้ว่าความเสี่ยงต่อโรคที่ลดลงนั้นจะมีความสัมพันธ์กับจำนวนไข่ที่รับประทานอย่างไร ทั้งยังพบว่าเป็นการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนโดยศูนย์โภชนาการไข่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งในงานวิจัยยังมีการกล่าวอ้างข้อมูลจากศูนย์โภชนาการไข่โดยไม่ได้ระบุว่าสถาบันดังกล่าวเป็นผู้สนับสนุน ทำให้ผลการวิจัยอาจมีความเอนเอียง มีประโยชน์ทางการค้าแอบแฝง และเชื่อถือได้ไม่เพียงพอ

เสริมสร้างพัฒนาการสมอง เนื่องจากในไข่มีสารโคลีน (Choline) ที่เมื่อไปรวมกับกรดไขมันฟอสโฟลิพิด (Phospholipid) จะเกิดเป็นสารเลซิทิน (Lecithin) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมอง จึงเชื่อกันว่าไข่อาจช่วยเสริมสร้างการทำงานของสมองได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่แนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์รับประทานอาหารที่อุดมด้วยสารโคลีนเพื่อเพิ่มการพัฒนาด้านความทรงจำและการเจริญเติบโตของสมองทารก ซึ่งอาหารอันอุดมด้วยสารชนิดนี้สูงที่คุณแม่สามารถเลือกรับประทานได้ก็คือ ตับวัว (มีโคลีน 418 มิลลิกรัม/100 กรัม) ตับไก่ (มีโคลีน 290 มิลลิกรัม/100 กรัม) และไข่ไก่ (มีโคลีน 251 มิลลิกรัม/100 กรัม)

ต้อกระจก ภาวะแทรกซ้อนของโรคต้อกระจกอาจนำไปสู่อาการตาบอดในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้มากสุดที่ของภาวะตาบอด แต่การรับประทานไข่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคที่ร้ายแรงนี้ได้หรือไม่นั้นยังไม่มีการศึกษาที่เชื่อถือได้ออกมายืนยัน คุณสมบัติดังกล่าวเป็นเพียงการเชื่อมโยงจากคุณสมบัติของสารอาหารชนิดหนึ่งที่พบในไข่ คือลูทีน (Lutein) ซึ่งคาดว่าอาจมีประโยชน์ต่อจอตาและยับยั้งการเกิดโรคต้อกระจก เนื่องจากมีงานวิจัยบางส่วนที่พบว่าการรับประทานลูทีนอาจมีส่วนช่วยลดโอกาสเสี่ยงเป็นต้อกระจกและโรคเกี่ยวกับตาชนิดอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นตามอายุที่มากขึ้น เช่น จอประสาทตาเสื่อม ต้อหิน เบาหวานขึ้นตา การมองเห็นเลือนลาง และอาการตาแห้ง

จอประสาทตาเสื่อม อีกหนึ่งโรคร้ายแรงเกี่ยวกับดวงตาที่อาจทำให้ผู้ป่วยตาบอดได้เช่นเดียวกับโรคต้อกระจก ด้วยคุณสมบัติของไข่ที่อุดมไปด้วยสารแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ที่คาดว่าอาจมีประโยชน์ช่วยป้องกันเนื้อเยื่อจอตาและการเสื่อมของจอประสาทตาที่เป็นไปตามอายุที่มากขึ้น โดยสารเหล่านี้จะพบได้สูงในไข่แดงนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาประสิทธิภาพของไข่ต่อการป้องกันหรือรักษาโรคจอตาเสื่อมที่พอจะยืนยันประโยชน์ข้อนี้ของไข่ได้แต่อย่างใด

ลดน้ำหนัก การรับประทานไข่เป็นส่วนหนึ่งของมื้ออาหารอาจช่วยให้อิ่มยาวนานขึ้นและรับประทานน้อยลงได้ เนื่องจากในไข่ประกอบด้วยไขมันและโปรตีนที่สามารถเพิ่มความรู้สึกอิ่มได้ จากการศึกษาในหญิงจำนวน 25 คน อายุระหว่าง 25-60 ปี โดยแบ่งกลุ่มให้อดอาหารในคืนก่อนการทดลอง วันต่อมารับประทานอาหารเช้าที่มีไข่หรือเบเกิลเป็นหลัก ตามด้วยมื้อกลางวันในอีก 3.5 ชั่วโมงถัดมา ปรากฏว่าในช่วงระหว่างมื้อกลางวันกลุ่มที่รับประทานมื้อเช้าเป็นไข่รู้สึกอิ่มมากกว่าและรับประทานอาหารมื้อกลางวันน้อยกว่าอีกกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ

เช่นเดียวกับอีกงานวิจัยที่มีขนาดใหญ่ขึ้นในหลายปีถัดมาที่ทดลองกับอาสาสมัครทั้งเพศชายและเพศหญิงจำนวน 152 คนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือมีภาวะอ้วน โดยให้รับประทานอาหารเช้าที่ประกอบด้วยไข่ 2 ฟอง (340 แคลอรี่) อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ นาน 8 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับอีกกลุ่มที่รับประทานเบเกิลเป็นหลัก พบว่ากลุ่มที่รับประทานไข่มีค่าดัชนีมวลกายลดลงมากกว่าอีกกลุ่มคิดเป็น 61 เปอร์เซ็นต์ น้ำหนักลดลงมากกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ และมีรอบเอวลดลงมากกว่า 34 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงมวลไขมันในร่างกายที่ลดลงมากกว่าอีกกลุ่ม 16 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้วิจัยได้สรุปว่าการรับประทานไข่ในมื้อเช้าควบคู่กับการควบคุมปริมาณพลังงานจากอาหาร มีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักได้

เพิ่มความแข็งแรงและขนาดของกล้ามเนื้อ ไข่เป็นหนึ่งในเมนูโปรตีนสูงแต่ราคาประหยัดที่ผู้ที่ต้องการมีกล้ามเนื้อทั้งหลายต่างเลือกรับประทาน เพราะเชื่อว่าจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อได้ดี สำหรับการศึกษาถึงประสิทธิภาพของไข่ในด้านนี้มีงานวิจัยที่ทดลองให้ผู้เข้าร่วมรับประทานไข่ขาว 15 กรัม (75 แคลอรี่) กับอีกกลุ่มที่รับประทานแป้ง 17.5 กรัม (78 แคลอรี่) ทุกวันก่อนการออกกำลังกาย นาน 8 สัปดาห์

ผลลัพธ์ชี้ว่าการออกกำลังกายควบคู่กับการรับประทานโปรตีนจากไข่ขาวหรือคาร์โบไฮเดรตน่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อที่ปราศจากไขมันและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน แต่เมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานคาร์โบไฮเดรต โปรตีนจากไข่ขาวไม่ได้เพิ่มความแข็งแรงทั้งหมดของร่างกาย ประโยชน์ข้อนี้ของโปรตีนจึงยังควรต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมที่อาจใช้ระยะเวลาการทดลองนานกว่านี้หรือเพิ่มปริมาณโปรตีนจากไข่ขาวที่รับประทานเพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ให้ชัดเจน เช่นเดียวกับคุณประโยชน์ด้านอื่น ๆ ของไข่

เบาหวาน มีการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วยการสับเปลี่ยนการรับประทานอาหารเป็น 2 ช่วงระยะ โดย 12 สัปดาห์แรกรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยไข่วันละ 2 ฟอง ส่วนอีก 12 สัปดาห์ไม่รับประทานไข่ เมื่อเทียบกันใน 2 ระยะ พบว่าการรับประทานไข่ทุกวันในช่วงระยะเวลาดังกล่าวไม่ได้ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทว่าจากการประเมินทางภาวะโภชนาการนั้นมีผลลัพธ์ที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวเป็นเพียงการทดลองขนาดเล็กที่มีผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 34 คน จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่าการรับประทานไข่นั้นเป็นผลดีต่อการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานจริงหรือไม่

บำรุงผม ผลิตภัณฑ์บำรุงผมบางชนิดมีโปรตีนไข่แดงเป็นส่วนผสม โดยเชื่อว่าเป็นหนึ่งในสารอาหารที่จะช่วยบำรุงสุขภาพผม นอกจากนี้ยังมีหลากหลายสูตรหมักผมด้วยไข่ที่บอกต่อกันอย่างแพร่หลายถึงสรรพคุณช่วยแก้ปัญหาผมสารพัด ทั้งผมแห้งเสีย ผมมัน ผมแตกปลาย ไม่มีน้ำหนัก และอื่น ๆ อีกมาก และแม้เคล็ดลับเหล่านี้ไม่ได้มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์อย่างใดก็น่าจะสามารถทดลองใช้ตามกันได้โดยไม่เป็นอันตราย เพียงแต่ไม่อาจรับประกันว่าจะช่วยบำรุงผมได้จริงหรือไม่

เคล็ดลับรับประทานไข่อย่างปลอดภัยและสุขภาพดี

เนื่องจากไข่เป็นอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง ผู้มีปัญหาระดับคอเลสเตอรอลสูงที่ควรควบคุมอาหารจึงควรจำกัดการรับประทานและทำตามคำแนะนำของแพทย์ในการรับประทานไข่ นอกจากนี้ผู้ที่ยังไม่เคยตรวจไขมันในเลือดก็ควรมีการตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอลและไขมันอิ่มตัว เพื่อระมัดระวังและควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหารได้อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้การรับประทานไข่เพื่อให้ได้ประโยชน์ทางสุขภาพสูงสุดมีวิธีการปรุงและปริมาณที่แนะนำ ดังนี้

  • ควรเก็บรักษาไข่ในตู้เย็นด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสม
  • ปรุงให้สุกโดยทั่วเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียในไข่ที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น แบคทีเรียซาลโมเนลลา (Salmonella) ที่สามารถทำให้มีอาการปวดท้องหรือท้องเสียอย่างรุนแรง หรือถ้าไม่ต้องการให้สุกกรอบจนเกินไป การใช้ไฟอ่อน ๆ ก็สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้เช่นกัน
  • หากต้องการรับประทานไข่ไม่สุก ควรใช้ไข่ที่ผ่านการพาสเจอไรซ์แล้ว
  • โดยมาก ผู้ที่มีสุขภาพดีจะสามารถรับประทานไข่ได้ทุกวัน วันละ 1 ฟอง แต่ควรต้องคอยควบคุมปริมาณคอเลสเตอรอลที่ได้รับในอาหารชนิดอื่น ๆ เพราะลำพังไข่นั้นถือว่ามีคอเลสเตอรอลในระดับสูงอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ เบาหวาน หรือผู้มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงที่ควรเลือกรับประทานไข่ฟองเล็กหรือขนาดกลางซึ่งมีคอเลสเตอรอลน้อยกว่า และรับประทานไข่แดงไม่เกินสัปดาห์ละ 3 ฟอง ส่วนไข่ขาวนั้นไม่มีคอเลสเตอรอล สามารถรับประทานได้โดยไม่ต้องเป็นกังวล