อาหารสำหรับคนเป็นโรคไต รับประทานแบบไหนให้ปลอดภัย ?

อาหารสำหรับคนเป็นโรคไตถือเป็นประเด็นที่ผู้ป่วยโรคไตรวมถึงคนใกล้ชิดควรเอาใส่ใจและให้ความสำคัญ เพราะอาหารแต่ละอย่างที่รับประทานเข้าไปอาจส่งผลกระทบต่ออาการป่วยและการรักษา ซึ่งหากรับประทานอาหารทีี่ไม่เหมาะสมก็อาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้น จึงควรเรียนรู้เกี่ยวกับอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไต เพื่อเลือกอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ป่วย

1612 อาหารสำหรับคนเป็นโรคไต Resized

ทำไมผู้ป่วยโรคไตต้องปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร ?

ผู้ป่วยโรคไตจำเป็นต้องควบคุมการรับประทานอาหารอย่างเคร่งครัด เนื่องจากสารอาหารบางชนิดก็อาจส่งผลกระทบกับอาการของโรคได้ ดังนั้น แพทย์จึงสั่งให้ผู้ป่วยจำกัดการรับประทานอาหารหรือการดื่มเครื่องดื่มบางอย่าง เพื่อไม่ให้กระทบกับโรคไตหรือสุขภาพของผู้ป่วย ในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยต้องได้รับสารอาหารที่จำเป็นในปริมาณที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน ทั้งโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยต้องเข้ารับการฟอกไตก็ต้องควบคุมการรับประทานอาหารอย่างเคร่งครัด เพื่อจำกัดปริมาณของเสียและน้ำในร่างกาย อีกทั้งยังต้องจำกัดปริมาณของโซเดียมรู้ไว้ไและโพแทสเซียมด้วย เนื่องจากแร่ธาตุทั้งสองชนิดนี้จะทำให้อาการแย่ลงได้

อาหารสำหรับคนเป็นโรคไตมีอะไรบ้าง ?

เพื่อควบคุมอาการและทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยโรคไตควรใส่ใจกับอาหารที่รับประทาน โดยแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหาร ดังต่อไปนี้

  • คาร์โบไฮเดรต สำหรับผู้ป่วยโรคไต คาร์โบไฮเดรตถือเป็นแหล่งพลังงานที่ดี โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องจำกัดการรับประทานโปรตีน ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตได้ทุกชนิด แต่ควรระมัดระวังอาหารที่มีส่วนประกอบของโปรตีน เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม ช็อกโกแลต ถั่ว และกล้วย เป็นต้น โดยอาจหันมารับประทานผัก ผลไม้ และขนมปังแทน
  • ไขมัน เป็นแหล่งพลังงานที่ดีต่อผู้ป่วยโรคไต แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานอาหารประเภทนี้ เนื่องจากการรับประทานที่มีไขมันมากเกินไปอาจทำให้เกิดความเสี่ยงโรคหัวใจได้ โดยผู้ป่วยควรเลือกรับประทานไขมันชนิดไม่อิ่มตัวไว้จะดีที่สุด
  • โปรตีน ก่อนผู้ป่วยเข้ารับการฟอกไต แพทย์จะให้ผู้ป่วยจำกัดการรับประทานโปรตีน โดยให้รับประทานในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวันเท่านั้น และผู้ป่วยแต่ละคนจะมีระดับความต้องการโปรตีนในแต่ละวันที่แตกต่างกัน ซึ่งคำนวณได้จากปริมาณกล้ามเนื้อและปัจจัยอื่น ๆ แต่ถ้าหากผู้ป่วยเริ่มฟอกไต การรับประทานโปรตีนในปริมาณปกติอาจเป็นสิ่งที่แพทย์แนะนำ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารชนิดนี้อย่างเพียงพอ และแพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารเสริมโปรตีนได้ในบางกรณี
  • ฟอสฟอรัส ผู้ป่วยโรคไตควรได้รับฟอสฟอรัสเพียงวันละ 800-1,000 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อไม่ให้กระทบกับอาการของโรคไต
  • ธาตุเหล็ก โลหิตจางเป็นโรคที่อาจพบได้ในผู้ป่วยโรคไตขั้นรุนแรง จึงทำให้ผู้ป่วยต้องได้รับธาตุเหล็กในปริมาณที่เพียงพอเพื่อรักษาโรคโลหิตจาง โดยธาตุเหล็กพบได้ในอาหารจำพวกตับ เนื้อสัตว์ และถั่วแดง แต่ผู้ป่วยก็ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปริมาณธาตุเหล็กที่ควรได้รับอย่างเหมาะสมด้วย
  • แคลเซียม เป็นสารอาหารที่สำคัญต่อกระดูกและร่างกาย แต่ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะเช่นกัน เนื่องจากหากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้เกิดการตกค้างในร่างกายจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
  • วิตามินดี ผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับการฟอกไตควรได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ เนื่องจากวิตามินนี้จะช่วยให้กระดูกแข็งแรงและช่วยป้องกันโรคหัวใจ โดยแพทย์จะเป็นผู้สั่งให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารเสริมที่มีสารอาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับร่างกาย
  • วิตามินบีรวม เป็นวิตามินที่มีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะวิตามินบี 6 และบี 12 ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคโลหิตจางได้ นอกจากนี้ วิตามินบีชนิดอื่น ๆ ก็ยังช่วยในการเผาผลาญอาหารที่รับประทานเข้าไปให้กลายเป็นพลังงานแก่ร่างกายได้ด้วย

ผู้ป่วยโรคไตกับการดื่มน้ำ

หากอยู่ในระยะเริ่มต้น แพทย์อาจให้ผู้ป่วยโรคไตดื่มน้ำหรือของเหลวในปริมาณปกติได้ แต่หากอาการเริ่มรุนแรงขึ้น หรือผู้ป่วยต้องได้รับการฟอกไต แพทย์ก็จะควบคุมปริมาณของเหลวที่บริโภค เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้จะไม่สามารถปัสสาวะได้หรือปัสสาวะไม่ออก และระหว่างการฟอกไตก็อาจมีของเหลวในร่างกายเพิ่มขึ้น ซึ่งหากมีมากเกินไปก็อาจส่งผลต่อหัวใจและปอดจนเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้

ดังนั้น หากแพทย์สั่งลดการบริโภคของเหลว ผู้ป่วยควรระมัดระวังเรื่องการดื่มน้ำ การรับประทานอาหารที่มีของเหลวเป็นส่วนผสม รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสชาติเค็มด้วยเพราะอาจทำให้ยิ่งกระหายน้ำ และควรอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นสบายในวันที่สภาพอากาศร้อน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ