รู้จักอาการมะเร็งเม็ดเลือดขาว เรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือโรคลูคีเมีย (Leukemia) เกิดจากการเพิ่มปริมาณของเซลล์เม็ดเลือดขาวอย่างรวดเร็วผิดปกติ โดยเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติจะเข้าไปรบกวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือดชนิดอื่นในไขกระดูก เช่น เซลล์เม็ดแดงและเกล็ดเลือด ทำให้เซลล์เม็ดเลือดปกติไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่และส่งผลให้เกิดอาการมะเร็งเม็ดเลือดขาวตามมา

สาเหตุของการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจมีปัจจัยบางอย่างที่ส่งผลต่อการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว เช่น มีบุคคลในครอบครัวเคยป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ผ่านการทำคีโมหรือการฉายรังสีเพื่อรักษามะเร็ง การสูบบุหรี่ โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคดาวน์ซินโดรม การสูดดมสารเคมีบางชนิดเป็นประจำ เช่น เบนซีนและฟอร์มาลดีไฮด์  

อาการมะเร็งเม็ดเลือดขาว

อาการมะเร็งเม็ดเลือดขาว

ในระยะแรกของอาการมะเร็งเม็ดเลือดขาวมักยังไม่พบอาการใด ๆ โดยอาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาวอาจแตกต่างกันเล็กน้อยตามชนิดของโรค เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดไมอิลอยด์ มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดลิมโฟไซติก มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดไมอิลอยด์ และมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดลิมโฟไซติก 

อย่างไรก็ตาม อาการมะเร็งเม็ดเลือดขาวอาจสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • มีไข้หรือหนาวสั่น
  • ตัวซีด อ่อนเพลียหรือเหนื่อยง่าย 
  • น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เหงื่อออกมากผิดปกติ โดยเฉพาะตอนกลางคืน
  • มีรอยช้ำหรือมีเลือดออกง่าย เช่น เลือดกำเดาไหลและเลือดออกตามไรฟัน 
  • เจ็บบริเวณกระดูกหรือข้อต่อ
  • ต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะบางส่วนบวมโต เช่น ขาหนีบ รักแร้ ขา คอ ตับ หรือม้าม
  • อาจมีจ้ำเลือดขนาดเล็กขึ้นบนผิวหนัง

นอกจากนี้ หากมะเร็งเม็ดเลือดขาวแพร่กระจายไปสู่ระบบประสาทส่วนกลาง อาจก่อให้เกิดอาการมะเร็งเม็ดเลือดขาวอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ปวดศีรษะ สับสน คลื่นไส้ อาเจียน ชักและสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อ

การป้องกันมะเร็งเม็ดเลือดขาว

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีป้องกันมะเร็งเม็ดเลือดขาว เนื่องจากทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดมะเร็งชนิดนี้อย่างแน่ชัด แต่การป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อาจช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหรืออาการมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่อาจตามมาได้ เช่น

งดหรือเลิกการสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็งหลายชนิด รวมไปถึงมะเร็งเม็ดเลือดขาว

  • หลีกเลี่ยงการสูดดมสารเคมีบางชนิดที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว เช่น เบนซีนหรือฟอร์มาลดีไฮด์  
  • ควรหลีกเลี่ยงการรับรังสีโดยไม่จำเป็น หากมีความจำเป็นต้องสัมผัสรังสี ควรใช้อุปกรณ์ป้องกันรังสีทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่ปฎิบัติงานใกล้ชิดกับรังสีหรือแหล่งกำเนิดรังสี
  • ลดน้ำหนักหรือรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เนื่องจากโรคอ้วนอาจเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว อาจเริ่มจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดหรืออาหารแปรรูปสูง (Ultra-processed food) เช่น ไส้กรอกหรืออาหารแช่แข็ง เนื่องจากอาหารเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งชนิดอื่น ๆ 

ทั้งนี้ อาการมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมียในระยะแรกมักไม่ชัดเจน จึงอาจเกิดความสับสนหรือเข้าใจผิดกับอาการป่วยอื่น ๆ ได้ หากมีสัญญาณหรืออาการน่าสงสัยว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจหาสาเหตุและรับการรักษา ก่อนที่อาการมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะแย่ลงหรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย