อาการบาดทะยัก สังเกตสัญญาณสำคัญ รักษาได้ทันท่วงที

บาดทะยักเป็นการติดเชื้อที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้ การสังเกตสัญญาณของอาการบาดทะยักแล้วเข้ารับการรักษาอย่างทันการณ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น หากมีแผลไฟไหม้ แผลที่ถูกของแหลมแทง ตะปูตำ หรือโดนของมีคมบาด รวมทั้งแผลที่ถูกสัตว์กัดหรือข่วน ควรรีบปฐมพยาบาลและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม รวมทั้งหมั่นสังเกตว่าอาการนั้นเสี่ยงต่อการเป็นโรคบาดทะยักหรือไม่

อาการบาดทะยัก สังเกตสัญญาณสำคัญ รักษาได้ทันท่วงที

บาดทะยัก โรคติดเชื้ออันตรายที่ควรระวัง

บาดทะยักเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม เตตานิ ที่มักพบได้ในดิน น้ำลาย ฝุ่น มูลสัตว์อย่างม้าหรือวัว ซึ่งติดเชื้อผ่านบาดแผลตามร่างกาย โดยการติดเชื้ออาจส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อตึงหรือแข็งเกร็ง รวมทั้งอาจทำให้เกิดปัญหาด้านการหายใจ อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยั

อาการบาดทะยักเป็นอย่างไร ?

ผู้ป่วยบาดทะยักอาจมีอาการปรากฏหลังจากที่เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายแล้วเป็นเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาก็อาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นได้ในภายหลัง แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายก็อาจมีอาการบาดทะยักแม้จะไม่มีแผลที่สังเกตเห็นได้เลยก็ตาม อย่างแผลที่เกิดจากเข็มหรือตะปู

ดังนั้น ควรสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตนเอง โดยเฉพาะเมื่อมีแผลบาดเจ็บใด ๆ ซึ่งอาการบาดทะยักอาจมีลักษณะดังนี้

  • มีปัญหาในการกลืนอาหาร การอ้าปาก หรือการหายใจ
  • มีไข้สูง มีเหงื่อออก หงุดหงิดง่าย
  • หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดสูง  
  • อยู่ไม่สุข กระสับกระส่าย เบื่ออาหาร มีน้ำลายไหล
  • กล้ามเนื้อใบหน้าหดเกร็งเป็นเวลานาน ซึ่งทำให้ดูคล้ายกำลังแสยะยิ้มหรือทำหน้าบึ้งอยู่
  • กล้ามเนื้อขากรรไกรหดเกร็งจนขากรรไกรค้าง และกล้ามเนื้อคอหดเกร็งอย่างควบคุมไม่ได้ โดยอาการหดเกร็งนั้นอาจกระจายไปยังกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก ท้อง แขน หรือขาด้วย
  • กล้ามเนื้อหดเกร็งเป็นเวลาหลายนาที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกสัมผัสตามร่างกาย มีเสียงรบกวน มีแสงสว่าง หรือมีกระแสลมมากระตุ้น
  • กล้ามเนื้อแข็งบริเวณขากรรไกร ท้อง คอ ไหล่ หรือหลัง
  • ปวดกล้ามเนื้อบริเวณท้อง คอ ไหล่ หรือหลัง
  • กล้ามเนื้อหดเกร็งอย่างรุนแรง จนอาจทำให้กระดูกหักและกล้ามเนื้อฉีกขาด
  • กล้ามเนื้อหลังหดจนทำให้หลังค่อม
  • เป็นตะคริว เป็นลมชัก

ทั้งนี้ ให้ไปพบแพทย์โดยด่วนหากมีอาการบาดทะยักดังที่กล่าวไปข้างต้น มีแผลลึกที่เปื้อนดิน เปื้อนมูลสัตว์ หรือสิ่งสกปรกอื่น ๆ มีบาดแผลตามร่างกายแล้วรู้สึกกังวลใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีแผลลึกบริเวณใต้เท้า ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดแผลติดเชื้อได้ง่าย รวมทั้งหากยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักจนครบ ม่แน่ใจว่าตนเองฉีดวัคซีนแล้วหรือยัง ฉีดวัคซีนกันบาดทะยักครั้งล่าสุดเมื่อ 5 ปีมาแล้ว หรือหากเข้ารับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเพื่อป้องกันบาดทะยักและคอตีบนานเกินกว่า 10 ปีมาแล้ว

บาดทะยัก ป้องกันได้ !

แม้จะเป็นโรคอันตราย แต่ก็สามารถป้องกันบาดทะยักได้ โดยวิธีที่ช่วยป้องกันโรคบาดทะยักได้ดีที่สุด คือ เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักให้ครบ ซึ่งควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก คอตีบ และไอกรนชนิด DTaP 4 ครั้ง ก่อนอายุครบ 2 ปี และฉีดอีกครั้งเมื่อมีอายุระหว่าง 4-6 ปี รวมทั้งฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก คอตีบ และไอกรนชนิด Tdap กระตุ้นอีกครั้งเมื่อมีอายุ 11-12 ปี หรืออาจฉีดหลังจากนั้นก็ได้ ทั้งนี้ ควรฉีดวัคซีนกระตุ้นเพื่อป้องกันบาดทะยักและคอตีบทุก ๆ 10 ปีด้วยเช่นกัน

ส่วนกรณีที่มีบาดแผลเกิดขึ้น ควรรีบห้ามเลือด ทำความสะอาดแผล แล้วดูแลให้แผลสะอาดอยู่เสมอ โดยอาจใช้ผ้าก๊อซปิดแผลเพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรีย ทายาต้านเชื้อแบคทีเรียหรือยาฆ่าเชื้อในบริเวณที่มีแผลภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร และหากมีบาดแผลที่เท้า ให้ใส่รองเท้าที่มีพื้นหนาหรือสวมรองเท้าแตะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องออกไปข้างนอก เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจนเป็นโรคบาดทะยัก